ยูนนานกับบทบาทตามแผนแม่บท “ระเบียงบก-ทะเลภาคตะวันตกสายใหม่”

9 Sep 2021

เดือนสิงหาคม 2564 นับเป็นโอกาสครบรอบ 2 ปีที่คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนได้ประกาศ “แผนแม่บทระเบียงบก-ทะเลภาคตะวันตกสายใหม่ (New Western Land-Sea Corridor)” หรือที่รู้จักกันในระดับนานาชาติในชื่อ “ระเบียงการค้าระหว่างประเทศบก-ทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor: NILSTC) โดยแผนแม่บทดังกล่าวเสนอให้พัฒนาเส้นทางการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (multimodal transportation) ทั้งทางบกและทางทะเลเส้นใหม่ในภาคตะวันตกของจีนซึ่งมีความสะดวก ประสิทธิภาพสูง อำนวยความสะดวกทางการค้า ส่งเสริมอุตสาหกรรม มีกลไกที่เป็นวิทยาศาสตร์ และมีความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อผลักดันการพัฒนาคุณภาพสูงและสนับสนุนการสร้างระบบเศรษฐกิจทันสมัยในภาคตะวันตกของจีน โดยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564 มณฑลภาคตะวันตกของจีน 12 มณฑล ได้แก่ ฉงชิ่ง กว่างซี กุ้ยโจว กานซู่ ชิงไห่ ซินเจียง ยูนนาน หนิงเซี่ย ส่านซี เสฉวน มองโกเลียใน และทิเบต ได้ลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือการพัฒนาระเบียงบก-ทะเลภาคตะวันตกสายใหม่ร่วมกับมณฑลไห่หนานและเมืองจ้านเจียงของมณฑลกวางตุ้งที่นครฉงชิ่ง โดยเป็นการเชื่อมโยงแนวพื้นที่ระเบียงภาคตะวันตกดังกล่าวซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เข้ากับแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนแนวเขตเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี

นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม 2564 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนยังได้ประกาศ “แผนดำเนินงานผลักดันการพัฒนาระเบียงบก-ทะเลภาคตะวันตกสายใหม่คุณภาพสูงในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568)” โดยกำหนดเป้าหมาย ประกอบด้วย (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตกอย่างต่อเนื่อง (2) การดำเนินงานของเส้นทางขนส่ง ด่านและท่าเรือ และศูนย์กลาง
โลจิสติกส์ (Logistics Hub) มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึง (3) การเพิ่มบทบาทของระเบียงบก-ทะเลภาคตะวันตกสายใหม่ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมตลอดแนวเส้นทาง

ทั้งนี้ แผนดำเนินงานข้างต้นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของมณฑลยูนนาน ดังนี้

  1. โครงการสำคัญในการเชื่อมโยงเส้นทางภายในและขยายเส้นทางภายนอก ได้แก่ การก่อสร้างเส้นทางรถไฟ จีน-ลาว การก่อสร้างเส้นทางรถไฟต้าหลี่-รุ่ยลี่ การก่อสร้างรางคู่ของเส้นทางรถไฟเฉิงตู-คุนหมิงและเส้นทางหนานหนิง-ฉงจั่ว-ผิงเสียง และการผลักดันโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเหมิ่งจื้อ-เหวินซาน-ฝางเฉิงก่าง
  2. โครงการสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ ได้แก่ การพัฒนาโครงการท่าบกระหว่างประเทศเถิงจวิ้นยูนนาน (Yunnan Tengjun International Dry Port) และโครงการศูนย์โลจิสติกส์รถไฟหวังเจียหยิงตะวันตกคุนหมิง (Kunming West Wangjiaying Railway Logistics Center) เป็นต้น
  3. การยกระดับศักยภาพของด่าน ได้แก่ การก่อสร้างช่องทางขนส่งสินค้าโดยเฉพาะสำหรับด่านชายแดนที่ด่านโม่ฮาน และด่านตงซิง เป็นต้น รวมถึงการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการตรวจสอบร่วมสำหรับด่านชายแดนที่ด่านเหอโข่ว เป็นต้น
  4. การผลักดันเส้นทางการเชื่อมโยงกับภายนอก ได้แก่ การก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาว และการผลักดันการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงด่านชายแดน เช่น ผิงเสียง ตงซิง หลงปัง โม่ฮาน และรุ่ยลี่ เป็นต้น
  5. การสร้างศูนย์กลาง (hub) และระบบการขนส่งที่สมบูรณ์ตลอดแนวเส้นทาง ได้แก่ การผลักดันการพัฒนาศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติตลอดแนวเส้นทางในนครหนานหนิง มณฑลกุ้ยโจว และนครคุนหมิง เป็นต้น
  6. การพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างระบบขนส่งหลากหลายรูปแบบทั้งทางบกและทางทะเล รวมถึงขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ การเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจากเขตฯ กว่างซี มณฑลยูนนาน นครฉงชิ่ง และมณฑลเสฉวน เชื่อมไปยังเวียดนาม รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาวอย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมไปยังลาว
  7. การบ่มเพาะและพัฒนาบริการโลจิสติกส์มืออาชีพ ได้แก่ การจัดวางตำแหน่งของศูนย์โลจิสติกส์ควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) ระดับชาติตลอดแนวเส้นทาง เช่น นครคุนหมิง การพัฒนาระบบการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิทางทะเลระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการเชื่อมโยงของปลายทางเครือข่ายการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิทางบก
  8. การยกระดับมาตรฐานความสะดวกของกระบวนการศุลกากร ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือระหว่างด่านชายแดนจีน-เวียดนาม จีน-ลาว และจีน-เมียนมาอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงการประสานงานผลักดันยกระดับประสิทธิภาพด้านการผ่านแดน
  9. การเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง ได้แก่ การเพิ่มบทบาทของระเบียงบก-ทะเลภาคตะวันตกสายใหม่ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลในพื้นที่ การเร่งบ่มเพาะเมืองศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายกลุ่มเมืองตลอดแนวเส้นทาง เช่น เขตเมืองใหม่เตียนจงมณฑลยูนนาน (Yunnan Dianzhong New Area) ตลอดจนการเร่งพัฒนาวงแหวนกลุ่มเมืองสำคัญ
  10. การส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าเชิงลึก ได้แก่ ขยายศักยภาพเขตความร่วมมือเศรษฐกิจชายแดน และการเร่งพัฒนาเขตความร่วมมือเศรษฐกิจชายแดนในเขตฯ กว่างซี และมณฑลยูนนาน

อนึ่ง มณฑลยูนนานได้เปิดเดินรถ “ขบวนรถไฟระเบียงบก-ทะเลภาคตะวันตกสายใหม่” ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 โดยนับจนถึงปัจจุบัน มีการส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟดังกล่าวจำนวน 504 ขบวน รวม 26,638 ตู้สินค้าขนาดมาตรฐาน น้ำหนักรวม 733,000 ตัน ซึ่งหากนับเฉพาะในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า ขบวนรถไฟดังกล่าวของมณฑลยูนนานได้ดำเนินการขนส่งสินค้าแล้ว 197 ขบวน รวม 13,918 ตู้สินค้าขนาดมาตรฐาน รวมน้ำหนัก 381,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 330,000 ตัน และมากกว่าปริมาณการขนส่งทั้งปี 2563 ถึง 291,000 ตัน โดยเส้นทางขนส่งหลักของมณฑลยูนนาน ได้แก่ การขนส่งผ่านเขตฯ กว่างซีไปออกทะเลที่ท่าเรือชินโจว โดยในครึ่งแรกของปี 2564 มีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางดังกล่าวจำนวน 151 ขบวน รวม 10,692 ตู้สินค้าขนาดมาตรฐาน รวมน้ำหนัก 295,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 249,000 ตัน

ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/2IhOcO7xHOZe-cuifoJ-Bg
https://mp.weixin.qq.com/s/ty0i0QjrmT3CiammXPubXw
http://www.gov.cn/zhengce/zhengceku/2021-09/02/5634939/files/827f38a1c892446c9aa829ca6b892d19.pdf

ยูนนาน ระเบียง สายใหม่ บก ทะเล

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน