มณฑลกุ้ยโจว แหล่งผลิตและส่งออก “มัทฉะ” อันดับ 1 ของจีน

30 Aug 2024

เพียงไม่กี่ปีในการส่งเสริมการพัฒนาชาเขียวมัทฉะของมณฑลกุ้ยโจว ส่งผลให้สวนอุตสาหกรรมชากุ้ยโจวในอำเภอเจียงโข่ว เมืองถงเหริน มณฑลกุ้ยโจว มียอดจำหน่ายชามัทฉะมากกว่า 1,000 ตัน รวมมูลค่า 350 ล้านหยวน และส่งออกไปต่างประเทศรวมมูลค่ากว่า 70 ล้านหยวน โดยส่งออกไปมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมณี แคนาดา และสิงคโปร์ ส่งผลให้ในปัจจุบันมณฑลกุ้ยโจวมีมูลค่าการผลิต การจำหน่าย และการส่งออกชาเขียวมัทฉะสูงเป็นอันดับ 1 ของจีน

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2550 อำเภอเจียงโข่วได้จัดให้อุตสาหกรรมชาเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความโดดเด่นของอำเภอและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมชา จนในปี 2560 ได้ดึงดูดกลุ่มบริษัทใบชากุ้ยโจวเข้ามาลงทุนทั้งด้านการวิจัย การเพาะปลูกและการผลิตชามัทฉะในอำเภอเจียงโข่วด้วยเงินลงทุน 600 ล้านหยวน บนพื้นที่ขนาด 340 หมู่ (142 ไร่) กำลังการผลิต 4,000 ตันต่อปี โดยบริษัทให้ความสนใจอำเภอเจียงโข่วของเมืองถงเหรินเนื่องจากเล็งเห็นถึงความได้เปรียบด้านระบบนิเวศวิทยา โดยเมืองถงเหรินอันเป็นที่ตั้งของภูเขาฟ่านจิ้งซานซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวระดับสูงสุดของจีน (AAAAA) ส่งผลให้ในปี 2561 อำเภอเจียงโข่วได้รับฉายาว่า “เมืองแห่งชาเขียวของจีน” ปัจจุบัน อำเภอเจียงโข่วมีพื้นที่ปลูกชารวม 160,800 หมู่ (67,000 ไร่) มีปริมาณผลผลิตกว่า 10,000 ตัน และมูลค่าการผลิตราว 1,100 ล้านหยวน

ขณะเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมชาของเมืองถงเหรินก้าวหน้ายิ่งขึ้น รัฐบาลเมืองถงเหรินได้ประกาศ “แผนดำเนินการสามปีสำหรับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชาเขียวมัทฉะของเมืองถงเหริน (ปี 2567-2569)” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เมืองถงเหรินกลายเป็นฐานวัตถุดิบและศูนย์กลางการแปรรูปชามัทฉะที่สำคัญของจีน รวมถึงส่งเสริมแบรนด์ “ชาเขียวมัทฉะแห่งภูเขาฟ่านจิ้งซาน” ให้กลายเป็นแบรนด์ชาเขียวมัทฉะที่มีชื่อเสียงของจีน โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2569 เมืองถงเหรินจะมีพื้นที่ผลิตชาเขียวมัทฉะเพิ่มจาก 60,000 หมู่ (25,000 ไร่) เป็น 80,000 หมู่ (33,333 ไร่) และเพิ่มผลผลิตจาก 1,300 ตัน เป็นมากกว่า 2,000 ตัน

ทั้งนี้ สถิติปี 2566 มณฑลกุ้ยโจวมีพื้นที่เพาะปลูกชา 7 ล้านหมู่ (2.9 ล้านไร่) สูงเป็นอันดับ 1 ของจีน ผลผลิตใบชา 469,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 รวมมูลค่าการผลิต 64,380 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 และมีปริมาณการส่งออก 5,800 ตัน รวมมูลค่า 98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นมณฑลที่มีมูลค่าการส่งออกชามากที่สุด 10 อันดับแรกของจีน

ที่มา: http://news.gog.cn/system/2024/07/30/018602423.shtml
http://news.gog.cn/system/2024/08/08/018606422.shtml
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1806341050227580513&wfr=spider&for=pc

kunming_editor

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน