ฟ้าหลังฝนของธุรกิจน้ำตาลกว่างซี(จีน)ที่ธุรกิจต้องปรับตัว
19 Jan 2017ฤดูหีบอ้อย 2559/2560ตลาดอ้อยและน้ำตาลในกว่างซีส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากที่ต้องเผชิญภาวะซบเซาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดัชนีการผลิตและจำนวนน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าพอใจ
เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็น‘แหล่งผลิตน้ำตาล‘ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน สัดส่วนการผลิตน้ำตาลของกว่างซีคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ โดยมีเมืองฉงจั่ว(Chongzuo City,崇左市)เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของมณฑล
ก่อนที่ราคาน้ำตาลจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 ธุรกิจที่ได้ชื่อว่าอยู่คู่กับความหวานอย่างธุรกิจน้ำตาลต้องทนขมขื่น ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลต้องกัดฟันต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 4 ปี ในบางรายถึงขั้นต้องโบกมือลาจากธุรกิจดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในฤดูกาลผลิตปีนี้ ธุรกิจน้ำตาลของกว่างซีส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ดัชนีชี้วัดในธุรกิจน้ำตาลหลายตัวมีการปรับตัวดีขึ้น อาทิ พื้นที่ปลูกอ้อย ยอดการผลิต ยอดขายราคาน้ำตาล อัตราการจ่ายชำระค่าอ้อย พื้นที่ปลูกอ้อยและปริมาณอ้อยที่ส่งเข้าโรงหีบ รวมถึงผลผลิตน้ำตาลที่ได้จากการหีบอ้อย
ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ได้จากการประชุมการทำงานในฤดูหีบอ้อย 2559/2560 ระบุว่ากว่างซีมีพื้นที่ปลูกอ้อย 11.21 ล้านหมู่จีน (ราว 4.67 ล้านไร่) เพิ่มขึ้น 4.6% คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบ 47 ล้านตัน ได้น้ำตาลราว 5.7 ล้านตัน
สถานการณ์ในเมืองฉงจั่ว ฤดูกาลผลิตที่เพิ่งปิดหีบไปมียอดขายMixed sugar 1.983 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13% โรงงานน้ำตาลมียอดขาย 1.129 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 17%
เจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการน้ำตาลเมืองฉงจั่ว ให้ข้อมูลว่า นโยบายสำคัญ 2 ประการที่ช่วยให้ธุรกิจน้ำตาลเมืองฉงจั่วก้าวพ้นจากจุดต่ำสุดและมีบทบาทสำคัญต่อการรักษากลไกการตลาดและการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลให้มีเสถียรภาพคือ
หนึ่งการแก้ไขปัญหาเงินทุนหมุนเวียนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เนื่องจากสภาวะซบเซาของตลาดน้ำตาลในประเทศจีน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่(กล้า)ปล่อยสินเชื่อส่งผลกระทบต่อเงินหมุนเวียนในระบบธุรกิจและการค้างค่าอ้อยของชาวไร่อ้อย โดย(1)ระบบสินเชื่อเฉพาะกิจที่มีสำนักงานกิจการภาษีแห่งชาติเมืองฉงจั่วเป็นตัวตั้งตัวตีปัจจุบัน มีการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวไปแล้ว 234 ล้านหยวน อัตราการจ่ายชำระคืนสินเชื่อ100%เต็มและ(2)ผลิตภัณฑ์สินเชื่ออ้อยระยะสั้นของธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตรจีน(Agricultural Development Bank of China)สาขาเมืองฉงจั่ว ปี 2559 ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1,475 ล้านหยวน
สองการผลักดันแผนแม่บท New Start-upเพื่อสนับสนุนให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมน้ำตาลเติบโตอย่างเข้มแข็ง อาทิ การปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์อ้อยและส่งเสริมการปลูกพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตต่อหน่วยสูงและให้ค่าความหวานสูง ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกอ้อยพันธุ์ดีแล้ว 9.019 แสนหมู่จีน(ราว3.75แสนไร่) การรวมศูนย์อุตสาหกรรมด้วยการสนับสนุนให้ธุรกิจน้ำตาลรายน้อยใหญ่ปรับโครงสร้างองค์กรหรือควบรวมธุรกิจ การส่งเสริมให้ภาคการเกษตรเข้าสู่ระบบเครื่องจักรกล และการปราบปรามผู้ลักลอบนำเข้าน้ำตาล การปลอมแปลงตราสินค้าและการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มน้ำตาลแบบผิดกฎหมาย
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายปีมานี้ ธุรกิจน้ำตาลในกว่างซี(และทั้งจีน)ต้องเผชิญภาวะวิกฤตจากปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และการตีตลาดของน้ำตาลต้นทุนต่ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงกล่าวได้ว่า ณ วันนี้ จีนแผ่นดินใหญ่หมดยุค‘ของถูกค่าแรงถูก‘ไปแล้ว
การลงทุนด้านการผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่ต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ โดยมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเพื่อการลดต้นทุนประกอบการ อย่างเช่นในธุรกิจน้ำตาลที่ต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตสูงและส่งเสริมการใช้เครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนและขยายขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าต่างประเทศชนิดเดียวกัน
ลิงค์ข่าว
–ใกล้ทางสว่าง..ธุรกิจน้ำตาลกว่างซีกำลังจะ‘ตื่นจากฝันร้าย‘ (24 พ.ย.2559)
–สมาคมน้ำตาลกว่างซีร้องรัฐบาลกลางใช้มาตรการปกป้องน้ำตาลนำเข้า(25 ต.ค. 2559)
–ปีนี้ น้ำตาลจีนวูบ ผลผลิตแค่ 9 ล้านตัน ไม่พอความต้องการ(15 มี.ค. 2559)
–น้ำตาล(ไม่)หวาน น้ำตาลกว่างซีเจอศึกหนัก ร่วงหรือรอด?(07 มี.ค. 2559)
–ฝ่าวิกฤตน้ำตาล!! กว่างซีเตรียมผลักธุรกิจน้ำตาล "ก้าวออกไป"(03 มี.ค. 2559)
–การประกันดัชนีราคาน้ำตาลอ้อย (ในกว่างซี) คืออะไร?(13 ม.ค. 2559)