ปักกิ่งเอาจริง!! เตรียมย้ายวิสาหกิจกว่า 300 แห่ง

22 Apr 2014

หลังมี “ข่าวลือ” ออกมาอย่างต่อเนื่องว่า กรุงปักกิ่งจะโยกย้ายวิสาหกิจบางส่วนไปยังเขตปริมณฑล เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 57 บริษัทผลิตเบกกิ้งโซดา (Baking Soda) ภายใต้ Xinxing Cathay International Group ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กกล้ารายใหญ่ของจีน ได้เป็นบริษัทแห่งแรกที่ถูกสั่งย้ายออกไปจากเมืองหลวงของจีน และไปตั้งฐานผลิตใหม่ที่เมืองหันตัน มณฑลเหอเป่ย

เมื่อเดือน มี.ค. 57 ที่ผ่านมา “ข่าวลือ” ที่ว่า จีนจะสร้างเมืองเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย ให้เป็น “ศูนย์การเมืองย่อย” ของกรุงปักกิ่ง รวมทั้งจะย้ายตลาดขายส่งเสื้อผ้า ผักสดและผลไม้ไปอยู่ที่เขตปริมณฑลกลายเป็นที่จับตามองของสังคมจีน แม้ว่าทางการกรุงปักกิ่งมีการสยบข่าวลือหลายครั้ง แต่เขตปริมณฑลต่างๆ พากันออกนโยบายเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายดังกล่าว

ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่ากรุงปักกิ่งพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงการเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจ” และความชัดเจนก็ปรากฏขึ้นในปี 2547 เมื่อคณะกรรมการวางแผนกรุงปักกิ่งได้กำหนดเป้าหมายของเมืองหลวง โดยจะมุ่งพัฒนากรุงปักกิ่งใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การเป็นศูนย์กลางการเมือง (การเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ) 2) การเป็นเมืองระดับโลกและศูนย์การให้บริการระดับโลก 3) เมืองวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง (ศูนย์วัฒนธรรม การศึกษา และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี) และ 4) เมืองที่น่าอยู่ (มีตำแหน่งงานพอเพียงและสิ่งแวดล้อมที่ดี)

เป็นที่สังเกตได้ว่า วิสาหกิจที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย 4 ประการดังกล่าว จะมีความเป็นไปได้ที่จะถูกย้ายออกจากกรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ ตามแผนดำเนินการลดและขจัดมลพิษทางอากาศของกรุงปักกิ่ง ปี 2556 – 2560 ในปี 2557 ปักกิ่งจะสั่งย้ายวิสาหกิจที่ก่อให้เกิดมลพิษกว่า 300 แห่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดและดำเนินการขออนุมัติ

การย้ายฐานผลิตของบริษัทผลิตเบกกิ้งโซดานับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการย้ายวิสาหกิจต่างๆ และบางบริษัทได้เตรียมแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับการเคลื่อนย้ายดังกล่าว อาทิ BAIC Motor ผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่นรายใหญ่ได้วางแผนย้ายฐานผลิตรถยนต์ไปตั้งอยู่ที่เมืองหวงหัว มณฑลเหอเป่ย และจะสร้างสำนักงานส่วนกลางในปักกิ่งให้เป็นศูนย์นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีและศูนย์การให้บริการลูกค้าแทน

นักวิเคราะห์เห็นว่า ต้นทุนการประกอบธุกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในกรุงปักกิ่ง และภายใต้นโยบายการรวมกรุงปักกิ่ง – นครเทียนจิน – มณฑลเหอเป่ยให้เป็นหนึ่งเดียวกัน (Beijing – Tianjin – Hebei Integration) วิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของกรุงปักกิ่งควรจะเริ่มวางแผนการดำเนินการในอนาคตเพื่อพัฒนาธุรกิจของตนอย่างต่อเนื่องและไม่ประสบปัญหาในภายหลัง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจมาลงทุนในกรุงปักกิ่งก็ควรพิจารณาถึงสถานการณ์ดังกล่าวด้วยนะครับ/คะ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน