ปรับเปลี่ยนวันหยุด นายจ้างจ่ายโอทีอย่างไร ธุรกิจไทยรู้ไว้หากสนใจลงทุนในจีน

14 Jun 2013

หนังสือพิมพ์ Modern Life : การปรับเปลี่ยนวันทำงานธรรมดากับวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้ได้วันพักผ่อนยาวๆ กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของภาครัฐและเอกชนจีนไปแล้ว ซึ่งหากนายจ้างต้องการให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดแบบนี้จะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อย

ตัวอย่างเช่นในวันเทศกาลตวนอู่เจี๋ย (เทศกาลวันไหว้บ๊ะจ่าง) วันหยุดนักขัตกฤษ์ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจีนได้ทำการปรับเปลี่ยนวันทำงานให้มาทำงานในวันเสาร์ที่ 8 และวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม เพื่อให้ได้วันหยุดยาวในวันจันทร์ที่้ 10 ถึงวันพุธที่ 12 พฤษภาคม

กฎหมายจีนกำหนดว่า ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลา 3 เท่าของค่าตอบแทนรายวัน/รายชั่วโมง โดยไม่สามารถใช้วิธีการให้วันหยุดย้อนหลังแทนการจ่ายค่าตอบแทน

ยกตัวอย่าง นครหนานหนิง กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 1,200 หยวน วันทำงานต่อเดือน 21.75 วัน ดังนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลา 1,200 / 21.75 วัน X 300% = 165.51 หยวน

หากเป็นวันหยุดธรรมดา (เสาร์-อาทิตย์) หรือวันหยุดที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนเวลาดังตัวอย่างข้างต้น (วันจันทร์ที่ 10 และวันอังคารที่ 11) นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลา 2 เท่าของค่าตอบแทนรายวันหรือรายชั่วโมง แต่นายจ้างสามารถใช้วิธีการให้วันหยุดย้อนหลังแทนการจ่ายค่าตอบแทน

ยกตัวอย่าง นครหนานหนิง กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 1,200 หยวน วันทำงานต่อเดือน 21.75 วัน ดังนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลา 1,200 / 21.75 วัน X 200% X 2 = 220.68 หยวน

ดังนั้น หากนายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานในช่วงวันหยุดยาวๆ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นเงินอย่างน้อย 386 หยวน

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปี 2556 จีนแผ่นดินใหญ่มีวันหยุดทั้งสิ้น 29 วัน ในจำนวนนี้ เป็นนักขัตกฤษ์ 11 วัน ส่วนอีก 18 วันที่เหลือเป็นวันหยุดที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวันทำงานเสาร์อาทิตย์เพื่อให้ได้วันหยุดยาวแทน

ทั้งนี้ ฐานการคำนวณมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอัตราค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละเมืองแต่ละมณฑล โดยอัตราค่าแรงขั้นต่ำของจีนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลพบว่า ปี 55 มี 24 มณฑลปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 22

ข้อมูลจนถึงเดือน พ.ค.56 มี 13 มณฑล/เมืองเริ่มใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่แล้ว โดยนครเซี่ยงไฮ้มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด 1,620 หยวน ตามมาด้วยเมืองเซินเจิ้น 1,600 หยวน และมณฑลกวางตุ้ง 1,550 หยวน (บางมณฑลมีการแบ่งระดับอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามระดับความเจริญของเมือง ขณะที่บางมณฑลมีการบังคับใช้อัตราเดียวทั้งมณฑล)

ตาม ข้อคิดเห็นว่าด้วยการปฏิรูประบบกระจายรายได้ ของรัฐบาลกลาง ตั้งเป้าหมายว่า พื้นที่ต่างๆ ส่วนใหญ่ของจีนแผ่นดินใหญ่จะมีการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นอัตราส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานลูกจ้างในเขตเมืองของพื้นที่นั้นๆ

 ธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวันทำงานของจีนอาจจะส่งผลกระทบกับบางภาคธุรกิจ เช่น ธุรกิจการผลิต และธุรกิจการค้าต่างประเทศ (ลูกค้าในต่างประเทศไม่ได้หยุด) ค่าล่วงเวลาดังกล่าวจึงนับเป็นต้นทุนประกอบการก้อนโตไม่น้อยสำหรับธุรกิจที่ลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน