ธุรกิจอ้อยและน้ำตาลกว่างซี ‘สู้ศึกหนัก’ ต้นทุนสูง ราคาตก สินค้าค้างสต็อก
10 Oct 2014…ขมน้ำตาล หวานบอระเพ็ด… วลีสั้น ๆ ที่สามารถอธิบายได้ถึงสถานการณ์ความพลิกผันของธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในกว่างซี (และจีน) ได้เป็นอย่างดี
โรงงานน้ำตาลในกว่างซียังคงต้องเผชิญปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากการที่ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวพุ่งสูง ขณะที่ราคาซื้อขายในตลาดกลับดิ่งตัวลง รวมถึงแรงกกดดันจากราคาน้ำตาลในตลาดต่างประเทศ
สมาคมธุรกิจน้ำตาลของจีน เปิดเผยว่า ฤดูหีบอ้อย ปี 56/57 จีนมีกำลังการผลิตน้ำตาลรวม 13.318 ล้านตัน ทว่า ยอดการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ ณ ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 77 ของยอดรวมการผลิตเท่านั้น (ราว 10.24 ล้านตัน) ลดลง 1.7 ล้านตัน (YoY)
โรงงานน้ำตาลในประเทศมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ตันละ 5,000-5,300 หยวน ขณะที่ราคาซื้อขายในตลาด (Spot Price) อยู่ที่ตันละเพียง 4,300 หยวน ส่งผลให้โรงงานส่วนใหญ่ต้องแบกรับผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นฐานการผลิตน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน (กำลังการผลิตมากกว่าร้อยละ 60 ของทั้งประเทศ)
สมาคมธุรกิจน้ำตาลกว่างซี (Guangxi Sugar Association, 广西糖业协会) เปิดเผยข้อมูล ณ สิ้นเดือน ส.ค.57 โรงงานน้ำตาลในกว่างซียังมีน้ำตาลค้างสต็อกอีกกว่า 1.5 ล้านตัน และค้างค่าอ้อยชาวไร่รวมกว่า 1,900 ล้านหยวน
บริษัท East Asia Sugar (เครือน้ำตาลมิตรผล) ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของกว่างซี เปิดเผยว่า ในฤดูการผลิต ปี 56/57 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 2 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ราว 2.2 แสนตัน ช่วง กลางเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นช่วง High Season โรงงานมียอดจำหน่ายคิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิตรวม ซึ่งชะลอตัวลงจากปีก่อนอย่างชัดเจน
สถานการณ์ราคาน้ำตาลในต่างประเทศ ‘ถูกกว่า’ ราคาจำหน่ายในประเทศ ส่งผลกระตุ้นให้การนำเข้าน้ำตาล ‘พุ่ง’ สูงขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่า น้ำตาลนำเข้าเป็นปัจจัยที่บ่อนทำลายโครงสร้างทางการตลาดของอุตสหากรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศจีน
หลังการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีนได้มีการกำหนดโควต้าน้ำตาลนำเข้าไว้ปีละราว 1.94 ล้านตัน น้ำตาลในโควต้าเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 และน้ำตาลนอกโควต้าต้องเสียในอัตราร้อยละ 50
การที่ราคาน้ำตาลในตลาดต่างประเทศมีราคาต่ำ แม้ว่าน้ำตาลนอกโควต้าต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงก็ตาม แต่การนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศก็ยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าราคาน้ำตาลที่ผลิตในประเทศอยู่มากพอสมควร จึงเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมานำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากร พบว่า ปี 54 เป็นต้นมา จีนมีแนวโน้มการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยตลอด ในปี 54 มีการนำเข้า 2.92 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 3.75 ล้านตันในปีถัดมา ส่วนในปีที่ผ่านมา (ปี 56) มีปริมาณนำเข้าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 4.54 ล้านตัน หรือเกือบ 1/3 ของปริมาณผลิตในประเทศ
นายจาง หลู่ ปิน (Zhang Lu Bin, 张鲁宾) รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจน้ำตาลกว่างซี (Guangxi Sugar Development Bureau, 广西糖业发展局) ให้ข้อมูลว่า การทะลักเข้าของน้ำตาลจากต่างประเทศส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำตาลในประเทศอย่างมาก ในแต่ละปีภาครัฐต้องสูญงบประมาณจำนวนมากในการสต็อกน้ำตาล เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำตาลในประเทศ
นายหนง กวาง (Nong Guang, 弄光) ประธานสมาคมธุรกิจน้ำตาลกว่างซี ให้ข้อมูลว่า ตลอดหลายปีมานี้ รัฐบาลกลางได้ดำเนินนโยบายสำรองน้ำตาลฉุกเฉิน เพื่อลดปริมาณอุปทานในตลาด ทว่า น้ำตาลที่ผลิตในกว่างซีแทบไม่มีเอี่ยว เพราะส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลแปรรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ
นายถาง ซ่าว สง (Tang Shao Xiong, 唐绍雄) รอง ผจก.ใหญ่ กลุ่มบริษัท Guangxi State farm Sugar Industrial Group (广西农垦糖业集团) เห็นว่า รัฐบาลกลางควรปรับปรุงนโยบายการนำเข้าน้ำตาล การจัดสรรโควต้านำเข้าอย่างเหมาะสมโดยประเมินจากสถานการณ์การผลิตในแหล่งผลิตหลักของประเทศ รวมถึงการควบคุมโครงการ/ธุรกิจการแปรรูปน้ำตาลนำเข้าอย่างเข้มงวด
นายล่าย เข่อ ปิน (Lai Ke Bin, 赖可宾) ประธานกลุ่มบริษัท Guangxi Yongkai Group (广西永凯集团) เสนอให้ภาครัฐกำหนดจุดทดลองเปิดเขตไร่อ้อย (โดยภาครัฐไม่เข้าไปแทรกแซง) และส่งเสริมการพัฒนาระบบ Contract Farming อย่างจริงจัง
แนวทางดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวไร่อ้อยสามารถกำหนดพื้นที่การปลูกอ้อยได้ตามกลไกราคาและความต้องการทางการตลาด ขณะที่โรงงานผู้ผลิตเองก็สามารถบริหารจัดการผลิตได้ตามปริมาณซัพพลายวัตถุดิบ