ธุรกิจสิ่งทอดันราคารังไหมในกว่างซีปรับตัวขึ้น
31 May 2013หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ : อานิสงส์จากการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออกช่วยให้อุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของกว่างซีเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณผลผลิตรังไหมสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ 7 ปีซ้อน (คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ)
ผลผลิตรังไหมของกว่างซีจะเริ่มทยอยออกสู่ท้องตลาดในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี สำหรับปีนี้ กรมควบคุมราคาสินค้าคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์รังไหมในกว่างซีจะมีราคารับซื้อเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สถานการณ์อุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของกว่างซีอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม(ที่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก)สู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่(ที่ใช้เครื่องจักร)
ทางการกว่างซีพยายามผลักดันการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ของมณฑล (เมืองเหอฉือ นครหนานหนิง เมืองหลายปิน เมืองหลิ่วโจ เมืองกุ้ยก่าง และเมืองไป่เซ่อ) โดยเฉพาะในอำเภอระดับเมืองอี๋โจว (Yizhou City, 宜州市) ของเมืองเหอฉือถือเป็นแหล่งผลิตรังไหมรายใหญ่ของกว่างซี
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปีนี้ ผลผลิตรังไหมจำหน่ายได้ราคาดีมาจากสาเหตุดังนี้
(1) ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเริ่มเริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ปริมาณความต้องการด้ายไหมมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
(2) การสนับสนุนของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต่อธุรกิจปลูกหม่อนเลี้ยงไหม วิสาหกิจรายใหญ่เริ่มปฏิรูปโครงสร้างการผลิต
(3) ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช ฯลฯ
(4) การย้ายฐานการผลิตจากพื้นที่เลียบชายฝั่งภาคตะวันออก เพื่อหนีค่าแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
BIC เห็นว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุน (Go West Policy) และการเป็น “ประตูสู่อาซียน” ยังเป็นอีกปัจจัยช่วยให้อุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของกว่างซีเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เนื่องจากผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นสินค้าส่งออกหลักไปยัง “อาเซียน” คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 36 ของมูลค่าการส่งออกไปอาเซียนทั้งหมด
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมสิ่งทอของกว่างซียังเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเริ่มแรกของโครงสร้างอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้แก่ การผลิตเส้นใย และอุตสาหกรรมปั่นด้าย และอุตสาหกรรมสิ่งทอกลางน้ำที่อาศัยวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมขั้นต้นมาทำการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ การทอผ้า ถักผ้า เป็นต้น
สำหรับธุรกิจสิ่งทอไทยที่คิดจะมาลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ คิดว่าคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากแรงแข่งขันในธุรกิจ และต้นทุนประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะจีนในวันนี้ “สิ้นยุคของถูกค่าแรงถูก” ไปนานแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ยักษ์ใหญ่ด้านเสื้อผ้ากีฬาอย่าง Nike และ Adidas ต่างก็ถอยทัพออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อแสวงหาประเทศค่าแรงถูกอื่นๆ แล้ว
ดังนั้น ธุรกิจที่มีความสนใจจริงๆ จะต้องศึกษาข้อมูล รู้จักปรับตัว วางกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “คิดต่างสร้างมูลค่า” และอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยสำคัญ เพื่อสร้างแรงแข่งขันให้กับธุรกิจของตนเอง