ธุรกิจน้ำตาลจีนสะอึก!! ราคาต้นทุนพุ่ง พื้นที่ปลูกลดลง
30 May 2014สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : ธุรกิจน้ำตาลในประเทศประสบภาวะขาดทุนเป็นปีที่สองติดต่อกัน หลังปีที่ผ่านมา (ปี 56) ต้องประสบภาวะขาดทุนเป็นมูลค่ารวมกว่า 3,100 ล้านหยวน
“ประเมินจากสภาพการณ์ปัจจุบัน คาดว่าปีนี้ ภาคธุรกิจน้ำตาลในจีนอาจประสบผลขาดทุนทะลุ 1 หมื่นล้านหยวน” นายเจี่ย จื้อ เหยิ่น (Jia Zhi Ren, 贾志忍) รองประธานกรรมการบริหารสมาคมน้ำตาลจีน ให้ข้อมูลในงานประชุมสุดยอดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลจีน ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นในเมืองหลิ่วโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง เมื่อวันที่ 25 พ.ค.57 ที่ผ่านมา
หากมองย้อนไปในอดีต ธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนเคยประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องระหว่างปี ค.ศ.1992-1999 (พ.ศ.2545-2552) ก่อนที่สถานการณ์จะฟื้นตัวกลับมามีเสถียรภาพหลังปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา ผ่านไป 13 ปี ธุรกิจน้ำตาลจีนต้องเผชิญกับฝันร้ายอีกครั้ง
นายซุน ถง (Sun Tong, 孙彤) CEO บริษัท BRIC Global Agricultural Consultant (北京布瑞克农业信息科技股份有限公司) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน สต็อกน้ำตาลทรายจำนวนมากในประเทศกดราคาซื้อขายน้ำตาลทรายตลาดภายในประเทศซื้อขายทันที (Spot price) ลงมาอยู่ที่ตันละ 4,600-4,800 หยวน
ยกตัวอย่างในเขตฯ กว่างซีจ้วง ปีนี้ ทางการกว่างซีกำหนดราคารับซื้ออ้อยที่ตันละ 440 หยวน ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้โรงงานน้ำตาลในกว่างซีต้องขาดทุนเฉลี่ยประมาณ 100-200 หยวนต่อการผลิตน้ำตาลทุกๆ หนึ่งตัน
นายเจี่ยฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงงานน้ำตาลมีต้นทุนการแปรรูปขั้นต่ำตันละ 5,300 หยวน ทว่า ราคาน้ำตาลภายในประเทศร่วงลงมาอยู่ที่ตันละ 4,700 หยวน นั่นหมายความว่า โรงงานน้ำตาลที่มีการแปรรูปจำนวนมากก็ต้องประสบผลขาดทุนมากตามไปด้วย
จากการประเมินยังพบว่า โรงงานน้ำตาลในประเทศจีนติดค้างค่าอ้อยกับเกษตรกรรวมมากกว่า 1 หมื่นล้านหยวน โดยบางโรงงานค้างค่าอ้อยตั้้งแต่ช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนเป็นต้นมา
นายโจว กว่าง จวิ้น (Zhou Guang Jun, 周广俊) รองผู้จัดการใหญ่บริษัท Guangxi Sugar Market Net (广西糖网食糖批发市场有限责任公司) ผู้ให้บริการธุรกิจ E-Commerce น้ำตาลแบบ B2B รายแรกของจีน ให้ข้อมูลว่า ในฤดูการผลิต ปี 57/58 ปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายในประเทศจีนอาจลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านตัน (เท่ากับฤดูการผลิต 54/55)
นายโจวฯ ให้เหตุผลสนับสนุนว่า พื้นที่ปลูกอ้อยในแหล่งผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของจีนมีจำนวนลดลงอย่างชัดเจน (เขตฯ กว่างซีจ้วง มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลไห่หนาน) จากการประเมินพบว่า ในฤดูการผลิต ปี 57/58 พื้นที่ปลูกอ้อยมีเพียงประมาณ 26 ล้านหมู่จีน (ราว 10.83 ล้านไร่) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2 ล้านหมู่จีน (ราว 8.33 แสนไร่)
นอกจากนี้ การปลูกอ้อยในกว่างซี (ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอ้อยรายใหญ่ของประเทศจีน) พบว่าอัตราการเจริญเติบโตของอ้อยลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเทศจีนใช้ระบบโควต้าจำกัดการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ โดยภาษีนำเข้าในโควต้าจัดเก็บในอัตราร้อยละ 15 และน้ำตาลนอกโควต้าจัดเก็บในอัตราร้อยละ 50
แม้ว่า ความผันผวนของตลาดน้ำตาลภายในประเทศจีนจะนำมาซึ่ง “โอกาส” สำหรับผู้ประกอบการผลิตในต่างประเทศ ทว่า ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าทางการจีนจะดำเนินมาตรการอะไรไป นอกจากระบบโควต้า เพื่อลดแรงกดดัน ตลอดจนคุ้มครองและสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดนัำตาลในประเทศ
ทั้งนี้ BIC จะติดตามรายงานความเคลื่อนไหวในโอกาสต่อไป