“ธุรกิจการศึกษา” ตัวช่วยการเป็น “ประตูสู่อาเซียน” ของกว่างซี

17 Jan 2013

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : การแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกว่างซีกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วยสานฝันการเป็น ประตูสู่อาเซียน ของกว่างซีได้เป็นอย่างดี

กระทรวงศึกษาธิการเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Education Department, 广西教育厅) ให้ข้อมูลว่า ช่วงหลายปีมานี้ การแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างกว่างซีกับอาเซียนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากตัวเลขนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

จากข้อมูลปี 2555 ทั้ง 2 ฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาทั้งสิ้นกว่า 14,000 คน

ในจำนวนข้างต้น มีนักศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียนเดินทางมาศึกษาในกว่างซี จำนวน 9,312 คน ขณะที่มีนักศึกษาจากกว่างซีไปอาเซียนมากกว่า 5,000 คน



ตัวเลขข้างต้น สะท้อนว่า กว่างซี เป็นหนึ่งในมณฑลที่สามารถดึงดูดนักศึกษาจากอาเซียนได้มากที่สุด

แม้ว่าธุรกิจการศึกษาต่างประเทศของกว่างซีจะมีพัฒนาการช้ากว่ามณฑลเจริญทางภาคตะวันออกของประเทศจีน ทว่า หากมองถึงสภาพการณ์ในปัจจุบันถือว่าธุรกิจการศึกษาต่อต่างประเทศของกว่างซีมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน (ค.ศ.2000) จำนวนนักศึกษาอาเซียนในกว่างซีมีเพียง 300 กว่าคน กระทั่งเมื่อปี 53 จำนวนนักศึกษาได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่า 5,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาอาเซียนในกว่างซีมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

หากเปรียบเทียบกับช่วงต้นคริสศตวรรษใหม่ พบว่า จำนวนนักศึกษาอาเซียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 25 เท่า โดยนักศึกษาเวียดนาม และไทยเป็นกลุ่มนักศึกษาหลักของกว่างซี

ขณะที่นักศึกษากว่างซีที่เดินทางไปศึกษาต่อยังอาเซียน ส่วนใหญ่เลือกเดินทางไปยังเวียดนาม ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

ทั้งนี้ กว่างซี คาดหมายว่า ในปี 58 ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาทะลุ 30,000 คน และในปี 2563 (อีก 8 ปีข้างหน้า) กว่างซีจะพัฒนาตนเองให้กลายเป็นหนึ่งใน สถานที่เป้าหมายการศึกษาต่อในต่างประเทศ ของนักศึกษาอาเซียน รวมถึงเป็นศูนย์กลางการให้บริการ ให้คำปรึกษา และเป็นศูนย์การวิจัยอาเซียนที่สำคัญระดับประเทศ

กล่าวได้ว่า การศึกษาเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจธุรกิจหนึ่ง นักศึกษาต่างชาติจากอาเซียนที่เข้ามาศึกษาในกว่างซีนับวันยิ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับนักศึกษากว่างซีที่เดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศสมาชิกอาเซียน

ทั้งนี้ ปริมาณนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมการเป็นประตูสู่อาเซียนของกว่างซี  การหมุนเวียนแลกเปลี่ยนทรัพยากรบุคคลผ่านระบบการศึกษา อันเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภาคการบริการภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน