ท่าเรือชินโจวกับโมเดลขนส่ง “เรือ+รถไฟ” ดาวดวงใหม่ในวงการขนส่งและโลจิสติกส์จีน

25 Oct 2021

ไฮไลท์

  • อานิสงส์จากการพัฒนาโมเดลการขนส่ง “เรือ+รถไฟ” ช่วยส่งเสริมให้ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ซึ่งมีท่าเรือชินโจวเป็น Hub มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วง Q3/2564 ปริมาณการขนถ่ายสินค้ามากเป็นอันดับที่ 9 และปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากเป็นอันดับที่ 8 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลในประเทศจีน
  • “ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว” มีบทบาทสำคัญในระบบงานขนส่ง “เรือ+รถไฟ” ที่ท่าเรือชินโจว เพิ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2563 ปัจจุบัน สามารถเชื่อมกับสถานีรถไฟใน 29 เมืองของ 9 มณฑล รวม 62 สถานี ทั้งในนครฉงชิ่ง นครเฉิงตู นครซีอาน นครคุนหมิง นครกุ้ยหยาง และนครหลานโจว ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณการลำเลียงตู้สินค้าเติบโตเพิ่มขึ้น 20% (YoY)
  • การใช้เส้นทางขนส่งใหม่ๆ อย่าง “ท่าเรือชินโจว” ด้วยโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” จึงเป็นช่องทางการค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย เนื่องจากใช้เวลาการขนส่งสั้นเพียง 4-7 วันเท่านั้น มีความสะดวกและรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นจุดกระจายกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีน หรือขยายตลาดในเอเชียกลางและยุโรปได้โดยตรงอีกด้วย

 

ตั้งแต่ปี 2560 ที่ “ท่าเรือชินโจว” ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้เปิดให้บริการการขนส่งต่อเนื่อง “เรือ+รถไฟ” ในภายใต้กรอบระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (International Land and Sea Trade Corridor- ILSTC) ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ซึ่งมีท่าเรือชินโจวเป็น Hub) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถิติในช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 2564 ปริมาณการขนถ่ายสินค้าของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ยังคงสามารถรักษาระดับการเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณการขนถ่ายสินค้ารวม 265 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19.7% (YoY) อยู่ในอันดับที่ 9 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลในประเทศจีน (ท่าเรือหนิงโปโจวซาน ท่าเรือถางซาน และท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ครอง 3 อันดับแรก) มีเส้นทางเดินเรือทั้งในและต่างประเทศ 54 เส้นทาง รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของประเทศไทย

ในจำนวนข้างต้น เป็นปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 4.185 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้น 19.1% (YoY) อยู่ในอันดับที่ 8 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลในประเทศจีน (ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือหนิงโปโจวซาน และท่าเรือเซินเจิ้น ครอง 3 อันดับแรก)

ในโมเดลการขนส่ง “เรือ+รถไฟ” ที่ท่าเรือชินโจว หลังจากที่เรือสินค้าเข้าเทียบท่าแล้ว เครนจะลำเลียงตู้สินค้าขึ้นจากเรือไปวางบนรถบรรทุกเพื่อขนไปขึ้นรถไฟที่ “ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว” ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือชินโจว

จึงกล่าวได้ว่า “ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว” เป็นพระเอกตัวจริงของระบบงานขนส่ง “เรือ+รถไฟ” ภายใต้กรอบระเบียงการค้า ILSTC เมื่อช่วงกลางปี 2563 โครงการเฟสแรกได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงสิ้นปี 2563 ศูนย์บริการแห่งนี้ลำเลียงตู้สินค้าไปแล้ว 2.82 แสน TEUs และในปี 2564  ณ เดือนกันยายนที่ผ่านมา ปริมาณการลำเลียงตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 20% (YoY)

“ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว” เป็น 1 ใน 12 ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟที่สำคัญของจีน ปัจจุบัน สามารถเชื่อมกับสถานีรถไฟใน 29 เมืองของ 9 มณฑล รวม 62 สถานี ทั้งในนครฉงชิ่ง นครเฉิงตู นครซีอาน นครคุนหมิง นครกุ้ยหยาง และนครหลานโจว มีการขนส่งสินค้ามากกว่า 500 ประเภท

เพื่อพัฒนาความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ท่าเรือชินโจวเป็น Hub การขนส่งทางทะเลแห่งใหม่ของประเทศจีน เมืองชินโจวได้ดำเนินโครงการต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ

ปัจจุบัน ในเขตปฏิบัติการภายใน “ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว” ได้ก่อสร้างราง (track) สำหรับลำเลียงตู้สินค้าทางรถไฟเพิ่ม และโครงการ “ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ” ก็ได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์และระบบการทำงานแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (full automation) ไว้เสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการทดสอบการทำงาน โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานได้จริงภายในเดือนตุลาคม 2564 นี้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการขุดขยายร่องน้ำทางเดินเรือฝั่งตะวันออก เพื่อรองรับการเดินเรือบรรทุกตู้สินค้าเข้า-ออกท่าเรือชินโจว ซึ่งเริ่มใช้งานแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นร่องน้ำทางเดินเรือเส้นแรกที่สามารถรองรับการเดินเรือขนาดใหญ่ของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ปัจจุบัน สามารถรองรับเรือระวางบรรทุก 1 แสนตันวิ่งสวนเข้า-ออก และสามารถรองรับเรือระวางบรรทุกได้ 1.5 – 2 แสนตันวิ่งเข้าหรือออกทางเดียวในช่วงน้ำทะเลขึ้น

บีไอซี เห็นว่า การใช้เส้นทางขนส่งใหม่ๆ อย่าง “ท่าเรือชินโจว” ในโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” จึงเป็นช่องทางการค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย เนื่องจากใช้เวลาการขนส่งสั้นเพียง 4-7 วันเท่านั้น มีความสะดวกและรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นจุดกระจายกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในภาคตะวันตกอย่างนครฉงชิ่ง นครเฉิงตู นครคุนหมิง และนครซีอาน มีบริการทุกวัน

อีกทั้งยังสามารถใช้โมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” เชื่อมต่อกับโครงข่าย China-Europe Railway เพื่อลำเลียงสินค้า(ไทย)ไปขยายตลาดในเอเชียกลางและยุโรปได้โดยตรงอีกด้วย การขนส่งโมเดลนี้สามารถรองรับตู้สินค้าได้หลายประเภท ทั้งตู้สินค้าธรรมดา ตู้ที่มีเครื่องทำความเย็น (reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง และตู้สินค้าแบบ open top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกองด้วย

ผู้ใช้บริการสามารถมองภาพการขนส่งได้ทั้งวงจร ช่วยให้สามารถคำนวณเวลาที่ใช้และต้นทุนการขนส่งได้ง่าย ขั้นตอนการดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่ลดลง ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าได้มากขึ้น และสินค้าถึงมือผู้รับปลายทางได้ค่อนข้างรวดเร็วและตรงเวลา ช่วยให้เจ้าของสินค้าได้รับเงินค่าสินค้าเร็วขึ้นด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ https://xxgk.mot.gov.cn (中国交通运输部) วันที่ 20 ตุลาคม 2564
เว็บไซต์ www.gx.news.com (广西新闻网) วันที่ 15, 18 ตุลาคม 2564
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี (广西日报) วันที่ 18 ตุลาคม 2564

 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน