ทั้งแปลก ทั้งไม่แพงมาก เหตุผลหลักที่คนกว่างซีชอบผลิตภัณฑ์อาหารอาเซียน

6 Feb 2013

เว็บไซต์รวมข่าว เขตฯ กว่างซีจ้วง: การจัดมหกรรมสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO) มาถึง 9 ปีติด มีส่วนทำให้ชาวกว่างซีคุ้นเคยกับสินค้าอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารที่พบเห็นได้ตามร้านค้าทั่วไปในนครหนานหนิง

อย่างไรก็ดี ยกเว้นข้าวสารและผลไม้แล้ว อาทิ ลำไย ทุเรียนและมังคุดแล้ว สินค้าไทยยังคงมีไม่มากนัก   

สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นครหนานหนิง (China Council for the Promotion of International Trade Nanning Branche, 南宁国际贸易促进委员会) เปิดเผยว่า ยอดขายข้าวของตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรหนานหนิงเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบัน ตลาดสดแทบทุกแห่งในหนานหนิงล้วนมีข้าวไทยวางจำหน่าย

งาน CAEXPO ไม่เพียงแต่เป็นเวทีเปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารเข้าสู่ตลาดจีนเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ทั่วไปอื่นๆ จากอาเซียนก็สามารถใช้เวทีดังกล่าวประชาสัมพันธ์สินค้าแก่ผู้บริโภคชาวจีนได้เช่นเดียวกัน

ข้อมูลจากสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรค เขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Entry-Exit Inspection and Quarantine, 广西出入境检验检疫局) ระบุว่า ความต้องการสินค้าอาหารอาเซียนในตลาดกว่างซีเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเขตร้อน เช่น มันสำปะหลังและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของเวียดนาม เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ CIQ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารของกว่างซีและอาเซียนมีลักษณะเอื้อและเสริมแรงต่อกัน หลายปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นของกว่างซีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Protection of Geographical Indication: PGI) จำนวนไม่น้อยส่งออกไปอาเซียน ขณะที่เดียวกัน ยอดนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารอาเซียนก็เพิ่มขึ้นด้วย

ผู้ประกอบการนำเข้าอาหารอาเซียนให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์อาหารพรีเมียมจากอเมริกาและยุโรปจะเน้นทำตลาดอยู่ในหัวเมืองชั้นหนึ่งอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจวและเซินเจิ้น ส่วนสินค้าอาหารจากอาเซียนมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

         

ของใหม่ ราคาถูกบุกตลาดจีน

ผลิตภัณฑ์อาหารอาเซียนเมื่อเทียบกับสินค้าจากอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นแล้ว มีจุดเด่นและความได้เปรียบเฉพาะ เพราะไม่เพียงแต่เป็นสินค้าจากประเทศเขตร้อน แต่ราคายังถูกและคุ้มค่า สามารถวางจำหน่ายในร้านค้าทุกระดับ ส่วนสินค้าตะวันตกมีราคาค่อนข้างแพง ร้านค้าหลายแห่งไม่มีทุนเพียงพอที่จะนำเข้ามาจำหน่าย

ชื่อเสียงของสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและราคาสินค้าอาหารที่ต่างจากชาติอื่นล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภคชาวจีน เนื่องจากสินค้าอาเซียนมีความหลากหลายและราคาถูกจึงเป็นตัวเลือกที่ดีแก่ผู้บริโภคชาวจีน

ผู้ประกอบการนำเข้าอาหารอาเซียนส่วนใหญ่เป็นธุรกิจของชาวจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในจีนซึ่งคุ้นเคยกับรสนิยมการบริโภคของคนท้องถิ่น จึงสามารถเลือกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหารอาเซียนที่รสชาติถูกปากคนท้องถิ่นมาจำหน่าย

ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมอาหารจีน-อาเซียนของกว่างซีรายหนึ่งเผยว่า บรรจุภัณฑ์ของสินค้าอาหารจากอาเซียนค่อนข้างเรียบง่ายและรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่ บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อาหารพรีเมียมก็มีการออกแบบสไตล์จีนเป็นพิเศษเพื่อดึงดูดผู้บริโภค

         

ต้นทุนถูกลงจากภาษีศูนย์

อานิสงค์จากเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนส่งผลให้สินค้าอาหารจากอาเซียนได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรนำเข้า ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการนำเข้าลดลง ความสามาถรในการแข่งขันของสินค้าอาเซียนจึงมีความเป็นต่อ

ขณะเดียวกัน ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศอาเซียนกับจีน ทำให้ใช้เวลาในการขนส่งไม่นาน ผู้ประกอบการนำเข้าสามารถประเมินต้นทุนและเวลาการนำเข้าได้  

หลายฝ่ายคาดกันว่า สินค้าอาหารอาเซียนจะมีส่วนแบ่งมากขึ้นในตลาดสินค้าอาหารนำเข้าของจีน อันเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-อาเซียนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

 

สินค้าอาเซียนแข่งขันบุกตลาด

ปัจจุบัน หลายประเทศอาเซียนกำลังเร่งวางแผนขยายตลาดสินค้าอาหารมายังจีน อาทิ ไทยกำลังพิจารณาแนวทางเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับผลไม้ไทยเพื่อรุกตลาดจีน ส่วนเวียดนามวางแผนบุกเบิกสินค้าเกษตรสู่ตลาดจีน โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลของเวียดนามเล็งตลาดตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเป็นพิเศษ

ด้านตลาดผลไม้ ผลไม้เขตร้อนของไทยอย่างลำใย มังคุด ทุเรียนเป็นสินค้าขายดีของไทยในจีน จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าผลไม้ไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 27/ปี

อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะเป็นตลาดส่งออกผลไม้หลักของไทย ขณะเดียวกัน ไทยเองก็นำเข้าผลไม้จีนเป็นจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ ข้าวสารก็เป็นอีกหนึ่งสินค้ายอดนิยมที่จีนนำเข้าจากไทยด้วย

ส่วนสินค้าอาหารจากเวียดนามก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเวียดนามส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์มายังจีนกว่า 1 ใน 3 ของยอดส่งออกทั้งหมด

หลายปีมานี้ ผลไม้เวียดนามแข่งขันกับผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการเวียดนามได้ปรับปรุงสินค้าโดยหันมาเน้นบรรจุภัณฑ์พิเศษเพื่อตลาดจีนโดยเฉพาะ

ปัจจุบัน สินค้าอาหารอาเซียนจำนวนไม่น้อยเป็นสินค้าโอท็อปท้องถิ่น ซึ่งสินค้าเหล่านี้หากสามารถหาตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนได้แล้ว ตัวแทนจะเป็นผู้กระจายสินค้าไปจำหน่ายยังทั่วประเทศ

BIC ขอรายงานเพิ่มเติมว่า สินค้าอาหารยอดนิยมที่กว่างซีค้าขายกับอาเซียน ได้แก่ ผลไม้ โดยยอดส่งออกนำเข้าผลไม้ของเขตฯ กว่างซีจ้วงในปี 55 สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากมณฑลกวางตุ้ง ในจำนวนนี้เป็นการค้าผลไม้กับอาเซียนกว่าร้อยละ 99 โดยมีเวียดนามเป็นคู่ค้าหลัก

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องระวัง การส่งออกผลไม้หรือสินค้าอาหารประเภทอื่นมายังจีน แม้ว่าจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีศุลกากรนำเข้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน แต่ผู้ประกอบการยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นตามข้อตกลง โดยจีนเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้านำเข้าทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่สินค้าเกษตร

ปัจจุบัน อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของจีนมี 2 อัตรา ได้แก่ ร้อยละ 13 สำหรับสินค้าวัตถุดิบ/สินค้าไม่แปรรูป และร้อยละ 17 สำหรับสินค้าสำเร็จรูป/สินค้าแปรรูป

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน