ต้นแบบเครนยกตู้สินค้าอัตโนมัติเชื่อม “เรือ+ราง” ใช้งานจริงแล้วที่ท่าเรือชินโจว

15 Jul 2021

ไฮไลท์

  • ท่าเรือชินโจว สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว ได้ประเดิมใช้งานเครนยกตู้สินค้า (RTG Crane) ที่ทำงานอัตโนมัติผ่านระบบควบคุมทางไกลเป็นที่แรกในประเทศจีน เป็นการสานต่อความสำเร็จในการพัฒนาโมเดลงานขนส่ง “เรือ+ราง” แบบไร้รอยต่อ
  • การนำเครนอัตโนมัติมาใช้ในท่าเรือชินโจว ช่วยเสริมประสิทธิภาพงานขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างเรือกับรถไฟให้คล่องตัว ปลอดภัย และมีต้นทุนลดลงได้อย่างมาก ตัวเครนยกตู้สินค้ามีความสูง 35 เมตร สามารถยกตู้สินค้าน้ำหนัก 40 ตัน สามารถยกตู้สินค้าที่ความสูง 12.2 เมตร และสามารถให้บริการไม่ต่ำกว่า 30 ตู้ต่อชั่วโมง
  • บีไอซี เห็นว่า โมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยจำนวนหลายเที่ยวต่อสัปดาห์

 

ท่าเรือชินโจวพลิกโฉมระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ภายในท่าเทียบเรืออีกครั้ง เมื่อสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจวที่ตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือชินโจวได้ประเดิมใช้งานเครนยกตู้สินค้า (RTG Crane) ที่ทำงานอัตโนมัติผ่านระบบควบคุมทางไกลเป็นที่แรกในประเทศจีน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโมเดลงานขนส่ง “เรือ+ราง” แบบไร้รอยต่อมาแล้ว

เมื่อช่วงกลางปี 2563 สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว (钦州铁路集装箱中心站) เพิ่งเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ มีบทบาทสำคัญในฐานะ “ข้อต่อ” งานขนส่งตู้สินค้าภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) และเป็นสถานีนำร่องการทำงานด้วยระบบอัจฉริยะในโมเดลงานขนส่ง “เรือ+ราง” ปัจจุบัน มีบริการเส้นทางขนส่งทางรถไฟจากท่าเรือชินโจวไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในภาคตะวันตก (ฉงชิ่ง เฉิงตู คุนหมิง มีบริการทุกวัน) จึงเป็นจุดกระจายสินค้าแห่งใหม่ที่มีศักยภาพของประเทศจีน

ภายในสถานีศูนย์บริการฯ มีเครนยกตู้สินค้าที่สามารถทำงานแบบอัตโนมัติ จำนวน 6 ตัว ผลิตโดยบริษัท Shanghai Zhenhua Heavy (上海振华重工) เริ่มการติดตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ตัวเครนยกตู้สินค้ามีความสูง 35 เมตร สามารถยกตู้สินค้าน้ำหนัก 40 ตัน สามารถยกตู้สินค้าที่ความสูง 12.2 เมตร และสามารถให้บริการไม่ต่ำกว่า 30 ตู้ต่อชั่วโมง คาดว่าจะใช้งานได้ครบทั้ง 6 ตัวภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และจะช่วยให้ประสิทธิภาพการขนถ่ายตู้สินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า

ทำไมถึงบอกว่า… ท่าเรือชินโจวเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพน่าสนใจและเป็นโอกาสสำหรับผู้ค้าไทย

  1. ด้านกายภาพ ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทย (มีเที่ยวเรือสินค้าไป-กลับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ) มีความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน (ท่าเทียบเรือและสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟอยู่ภายในบริเวณท่าเรือ) มีการก่อสร้างและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับงานขนส่งให้ได้มากยิ่งขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง (พัฒนาร่องน้ำเดินเรือน้ำลึก ท่าเทียบเรือขนสินค้าขนาดใหญ่ และท่าเทียบเรืออัจฉริยะ)
  2. ด้านฟังก์ชัน เป็นท่าเรือที่ได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายพิเศษจากรัฐบาลกลางให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้ ด่านนำเข้ารถยนต์ ด่านนำเข้าธัญพืช และด่านนำเข้าเนื้อสัตว์ (สินค้าบางประเภทที่จัดเป็นกลุ่มสินค้าอ่อนไหวหรือสินค้าที่ต้องควบคุมการนำเข้า จะต้องนำเข้าผ่านด่านที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนแล้วเท่านั้น)
  3. ด้านบริการ ภายในท่าเรือมีการปรับปรุง พัฒนา และยกระดับเทคโนโลยีด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง พัฒนาระบบงานศุลกากรให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น (กำลังพัฒนาระบบ International Single Window และระบบเอกสารชุดเดียวสำหรับการขนส่งเรือ+ราง)

ปี 2563 ท่าเรือชินโจวมีปริมาณขนถ่ายสินค้า 136 ล้านตัน (+14.4% YoY) อันดับที่ 19 ของประเทศ มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 3.95 ล้านTEUs (+31% YoY) อันดับที่ 11 ของประเทศ และให้บริการเที่ยวขบวนรถไฟในโมเดลงานขนส่งเรือ+ราง 4,607 เที่ยว (+14.4% YoY) คิดเป็นปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 2.3 แสนTEUs (+105% YoY)

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “เรือ+ราง” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

บีไอซี เห็นว่า โมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ในทางกลับกัน สินค้าในจีนก็สามารถใช้รถไฟขนส่งตู้สินค้ามาที่ท่าเรือชินโจวเพื่อขึ้นเรือไปต่างประเทศได้แบบไร้รอยต่อ

ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยจำนวนหลายเที่ยวต่อสัปดาห์ เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลผลไม้ของไทย (ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายนของทุกปี) ที่มีปริมาณการขนส่งพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้การขนส่งผ่านเส้นทาง R9 และ R12 มักประสบปัญหาการจราจรแออัดบริเวณชายแดนฝั่งเวียดนามที่มีลักษณะเป็น “คอขวด” ก่อนเข้าด่านโหย่วอี้กวานในกว่างซี

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถเลือกใช้วิธีการขนส่งด้วยรถบรรทุกออกจากภาคอีสานของไทย (นครพนม/มุกดาหาร) ไปเปลี่ยนรถไฟได้เช่นกัน โดยเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าจากรถบรรทุกไปขึ้นรถไฟที่สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย หรือสถานีด่งดัง จ.ล่างเซินของเวียดนาม และใช้รถไฟวิ่งเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงของเขตฯ กว่างซีจ้วง โดยรถไฟเส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อกับโครงข่ายรถไฟในจีนและโครงข่ายรถไฟ China-Europe Railway ได้อีกด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gxtv.cn (广西卫视) วันที่ 04 กรกฎาคม 2564
      เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西) วันที่ 01, 02 กรกฎาคม 2564
      เว็บไซต์ www.qinzhou.gov.cn (钦州市人民政府网)
      เว็บไซต์ www.customs.gov.cn (海关总署网)

 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน