“ต้นทุนสูง ราคาตก” พ่นพิษธุรกิจน้ำตาลกว่างซี “ช้ำหนัก”

3 Jul 2014

สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในกว่างซีได้รับผลกระทบอย่างหนักจากต้นทุนที่พุ่งสูง ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดกลับตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวไร้วี่แววฟื้นตัวในระยะใกล้

อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมเสาหลักและเป็นอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นของกว่างซี ในมณฑลแห่งนี้มีพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตอ้อยใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ กว่างซี เป็นฐานการผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ

ทว่า ในฤดูารผลิตปี 2556/57 อุตสาหกรรมน้ำตาลของกว่างซีต้องประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก โรงงานน้ำตาลขยับตัวลำบาก ผลประกอบการขาดทุน ขณะที่ชาวไร่อ้อยผลเก็บเกี่ยวดีแต่รายได้ไม่ดี ทำให้ขาดแรงจูงใจ

ธุรกิจที่ใคร ๆ เขาขนานนามว่า ธุรกิจหอมหวาน ต้องกลับกลายเป็น ธุรกิจขมขื่น

สาเหตุอยู่ที่ไหน? ในฐานะแหล่งผลิตน้ำตาลของประเทศ…กว่างซีจะฟันฝ่าอุปสรรคนี้ไปได้อย่างไร?

เมื่อไม่นานมานี้ นักข่าวจากสถานีโทรทัศน์กว่างซีร่วมกับสถานีโทรทัศน์ CCTV ได้ลงพื้นที่ทำสกู๊ปข่าวเสียงสะท้อนของธุรกิจน้ำตาลกว่างซี พบว่า…

ภาคการผลิต โดยปกติ โรงงานน้ำตาลจะทยอยปิดหีบช่วงเดือนพฤษภาคม ทว่า บริษัทน้ำตาลบางแห่งต้องปิดหีบก่อนกำหนด โดยบริษัท Yongkai Sugar สาขา Youjiang เมืองฉงจั่ว (永凯糖业崇左市左江分公司) เป็นหนึ่งตัวอย่างดังกล่าว

นายซ่ง ซื่อ หัว (Song Shi Hua, 宋仕华) รองผู้จัดการใหญ่บริษัท Yongkai Sugar ให้ข้อมูลว่า “หลายปีมานี้ ราคาน้ำตาลร่วงลง โดยเฉพาะปีนี้ ร่วงลงมากเป็นพิเศษ ปีที่แล้ว ราคาน้ำตาลอยู่ที่ตันละ 5,000 กว่าหยวน ปีนี้เหลือ 4,000 กว่าหยวน ขณะที่ ต้นทุนการผลิตอ้อยกลับพุ่งสูงขึ้น แถมไร้วี่แววว่าจะลดลง ทำให้ปีนี้โรงงานน้ำตาลฝืดเคืองกันถ้วนหน้า

ตามรายงาน ราคาน้ำตาลทรายขาวที่ซื้อขายในปัจจุบัน  (Spot Price) ร่วงลง จากตันละ 5,300 หยวนในเดือนพฤศจิกายน 56 มาอยู่ที่ไม่ถึงตันละ 4,700 หยวนในขณะนี้

นายฉิน ไห่ (Qin Hai, 覃海) รองผู้จัดการฝ่ายงานเกษตรประจำโรงงาน MingYang ของบริษัท Nanning Sugar Industry (南宁糖业股份有限公司明阳糖厂) กล่าวว่า “ขณะนี้ ราคาน้ำตาลตกต่ำ พูดได้ว่าต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของโรงงาน”

นายฉินฯ เปิดเผยว่า โรงงานได้รับแรงกดดันอย่างหนัก(จากราคาน้ำตาลตกต่ำ) ตอนนี้ถ้าจะใช้จ่ายเงินสักก้อนต้องคิดแล้วคิดอีก

นายหลิว หย่ง หัว (Liu Yong Hua, 刘永华) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาน้ำตาลทรายขาวของบริษัท Wanda Futures (万达期货股份有限公司白糖研发中心) ให้ข้อมูลว่า ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถานการณ์การจำหน่ายโดยรวมต่ำกว่าปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน อัตราการจำหน่ายน้ำตาล (Selling Rate) ของกว่างซีอยู่ที่ร้อยละ 51 เท่านั้น ขณะที่อัตราการจำหน่ายทั้งประเทศก็อยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 เช่นกัน

น้ำตาล เป็นสินค้าผลิตตามฤดูกาล กล่าวคือ มีรอบเวลาการผลิตสั้น ๆ เพียงหนึ่งฤดูกาล แต่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งปี

แม้ว่าราคาตลาดในขณะนี้จะต่ำกว่าต้นทุน โรงงานน้ำตาลรู้ทั้งรู้ว่าขาดทุน แต่ก็จำต้องเฉือนทุนเข้าเนื้อ เพราะส่วนหนึ่งต้องหาเงินจ่ายค่าอ้อยให้ชาวไร่อ้อย อีกด้านหนึ่งต้องประคับประคองผลการดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง

นายจาง หลู่  ปิน (Zhang Lu Bin, 张鲁宾) รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจน้ำตาลเขตฯ กว่างซีจ้วง (Bureau of Sugar Development of Guangxi, 广西糖业发展局) ให้ข้อมูลว่า ในเขตฯ กว่างซีจ้วง โรงงานน้ำตาลมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยตันละ 5,300 หยวน แต่น้ำตาลทรายขาวมีราคาขายอยู่ที่ตันละ 4,820 หยวน โรงงานน้ำตาลต้องขาดทุนเฉลี่ยตันละ 500 หยวน 

กว่างซีได้ผลผลิตน้ำตาลรวมมากกว่า 8.5 ล้านตัน นั่นหมายความว่า ธุรกิจน้ำตาลในกว่างซีต้องขาดทุนคิดเป็นจำนวนเงินมากถึง 4,000 ล้านหยวน

ด้านชาวไร่อ้อย พบว่า หลังปิดหีบการผลิต ชาวไร่อ้อยบางส่วนกลับยังไม่ได้รับเงินค่าอ้อยตามจำนวนเช่นปีที่ผ่านมา

ชาวไร่อ้อยในอำเภอฝูสุย (Fu Sui County, 扶绥县) เมืองฉงจั่ว ให้ข้อมูลว่า ปีนี้ โรงงานน้ำตาลต้องแบ่งชำระค่าอ้อยเป็นงวด (โรงงานยังค้างค่าอ้อยอีก 30 เปอร์เซนต์) ซึ่งต่างจากปีก่อนที่ได้รับค่าอ้อยงวดเดียวเต็ม

โดยปกติ โรงงานน้ำตาลจะจ่ายค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยก่อนปิดหีบการผลิต โดยผ่านสินเชื่อธนาคาร รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลใหม่

นายซ่งฯ รองผู้จัดการใหญ่บริษัท Yongkai Sugar กล่าวว่า ในอดีต ธนาคารให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่โรงงานน้ำตาลอย่างเต็มที่ แต่ตอนนี้การคิดจะขอสินเชื่อเพื่อชำระค่าอ้อยแก่เกษตรกรกลับไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดเสียแล้ว

นายจางฯ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจน้ำตาลเขตฯ กว่างซีจ้วง ให้ข้อมูลว่า เป็นเรื่องจริงที่โรงงานน้ำตาลบางส่วนไม่สามารถชำระค่าอ้อยให้ชาวไร่อ้อยได้ตามกำหนดเวลา ข้อมูล ณ ปลายเดือนเมษายน มียอดค้างชำระค่าอ้อยราว 6,000 ล้านหยวน ซึ่งทางกรมฯ ได้ขอความร่วมมือไปยังโรงงานน้ำตาลทุกแห่งให้รีบดำเนินการจำหน่ายน้ำตาลและเร่งชำระค่าอ้อยแก่ชาวไร่อ้อยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

การที่ชำระค่าอ้อยให้กับเกษตรกรล่าช้านั้น สาเหตุหลักเนื่องมาจากราคาน้ำตาลตกต่ำ อีกทั้งราคาอ้อยซึ่งมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับราคาน้ำตาลก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

หลายปีที่ผ่านมา อ้อยขายได้ราคาเงินตันละ 500 หยวน เกษตรกรต่างเฮโลปลูกอ้อย ตอนนี้ขายได้ราคาตันละ 440 หยวน หักค่าตัดอ้อยตันละ 120 หยวน ค่าปุ๋ย ค่าคนงาน ก็ไม่เหลือเงินแล้ว นายเหลี่ยง เหล่า ฮั่น (Liang Lao Han, 梁老汉) ชาวไร่อ้อยในเขตเจียงหนาน นครหนานหนิง กล่าว

นายกัว (Guo, ) ชาวไร่อ้อยรายหนึ่งในอำเภอฝูสุย ให้ข้อมูลว่า เมื่อก่อน อ้อยขายได้ราคา ทุกต่างต่างแข่งกันปลูกอ้อยเต็มพื้นที่ภูเขา เรียกได้ว่า ปลูกอ้อยขึ้นเขาตอนนี้ หั่งเช้ง(สภาวะตลาด)ไม่ค่อยจะดี ทำให้จำนวนการปลูกอ้อยลดลง

นายกัวฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน พื้นที่ที่เคยปลูกอ้อยในอดีตถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด และถั่วลิสงแทน เกษตรกรส่วนใหญ่ลดพื้นที่ปลูกอ้อยไปมากกว่าครึ่ง

นายจางฯ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจน้ำตาลเขตฯ กว่างซี กล่าวว่า เมื่อสองปีก่อน กว่างซีมีพื้นที่ปลูกอ้อย 16.20 ล้านหมู่จีน (ราว 6.7 ล้านไร่) ปีที่แล้ว (ปี 56) ลดลงเหลือ 15.80 ล้านหมู่จีน (ราว 6.5 ล้านไร่)  หรือลดลงราว 4 แสนหมู่จีน (ราว 1.6 แสนไร่)

หลายมาในปีนี้ พื้นที่เพาะปลูกอ้อยลดลงมากกว่าเดิม จากการสำรวจคาดการณ์ว่า พื้นที่ปลูกอ้อยทั่วกว่างซีจะลดลงมากกว่า 1 ล้านหมู่จีน (มากกว่า 4.16 แสนไร่)

 

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โค้งสุดท้ายก่อนปิดหีบอ้อย ธุรกิจน้ำตาลกว่างซี หืดขึ้นคอผลขาดทุนมีแนวโน้มขยายวงกว้าง (3 เม.ย. 2557)

น้ำตาลไม่หวานผู้แทนกว่างซีร้องรัฐบาลกลาง เร่งแก้ไขวิกฤตปัญหา ขาดทุน (13 มี.ค. 2557)

กุมขมับ!!! ผู้ผลิตน้ำตาลกว่างซีเจอวิกฤตต้นทุน รับผลขาดทุนถ้วนหน้า (28 ก.พ. 2557)

ชาวไร่อ้อยกว่างซีขาดแรงจูงใจ อาจส่งผลกระทบให้ผลผลิตน้ำตาลในจีนลดลง (29เม.ย. 2557)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน