ต้นทุนสูง ธุรกิจขนมอบกรอบรายใหญ่ขอปรับขึ้นราคา ขณะที่รายย่อยขอบาย
17 Jun 2013เว็บไซต์ข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : ต้นทุนประกอบการในจีนแผ่นดินใหญ่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้หลายภาคธุรกิจต้องดิ้นรนเพื่อหาทางรอด ครานี้ถึงคราวของธุรกิจขนมอบกรอบ
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ธุรกิจขนมอมกรอบในจีนแผ่นดินใหญ่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ “รายใหญ่รอด รายย่อยมอด” เนื่องจากปัญหาต้นทุนและเงินทุนหมุนเวียนในระบบ
นายอู๋ ปัว (Wu Bo, 吴波) ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของซุปเปอร์มาร์เก็ตรายหนึ่งในกว่างซี ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ต้นปีมานี้ ผู้ผลิตขนมอบกรอบและลูกกวาดหลายรายทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าของตนเอง ตั้งแต่ร้อยละ 5-10
ธุรกิจขนมปังอบกรอบยักษ์ใหญ่อย่าง Kraft ของอเมริกาและ Master Kang ของไต้หวันเริ่มปรับขึ้นราคาสินค้าตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่วน Garden (嘉顿) ของฮ่องกงก็มีการปรับขึ้นราคาเฉลี่ยร้อยละ 8-10 ขณะที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ในประเทศอย่าง Jia Shi Li (嘉士利) ปรับขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 5
นักการตลาดในแวดวงธุรกิจขนมอบกรอบ ให้ข้อมูลว่า ต้นทุนประกอบการเป็นสาเหตุที่ธุรกิจขนมอบกรอบต้องปรับขึ้นราคา ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนโลจิสติกส์ และต้นทุนแรงงาน
ตัวอย่างเช่น ต้นทุนของ Garden และ Kraft มีการปรับขึ้นเฉลี่ยจากสองปีก่อนมากกว่าร้อยละ 10 โดยต้นทุนวัตถุดิบ (ไข่ไก่ น้ำตาล นมผง และแพกเกจจิ้ง) เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 ส่วนต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 20-30
เมื่อเปรียบเทียบกับยี่ห้อท้องถิ่นขนาดเล็กแล้ว ยี่ห้อยักษ์ใหญ่ที่มีเงินทุนหนาและแบรนด์ติดตลาดแล้วยังมีโอกาสและทางเลือกที่จะอยู่รอดในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ได้
นายเฉิน เจียน (Chen Jian, 陈坚) คณะกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมขนมอบกรอบและลูกกวาด (China Association of Bakery & Confectionery Industry, 中国焙烤食品糖制品工业协会) ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจ SMEs หลายรายในกว่างซี มณฑลเหอหนาน และมณฑลฝูเจี้ยนจำต้องถอดตัวออกจากตลาดจีน เนื่องจากแบกรับต้นทุนและแรงแข่งขันไม่ไหว
การเข้าห้าง (ซุปเปอร์มาเก็ต/ร้านสะดวกซื้อ) เป็นช่องทางจำหน่ายสำคัญของธุรกิจขนมอบกรอบในปัจจุบัน จากการที่ธุรกิจ SMEs ไร้ซึ่งอำนาจต่อรอง (ขอปรับขึ้นราคา) กับทางห้าง นั่นหมายความว่า ธุรกิจเหล่านี้ถูก “ปิด” ประตูทางรอดทางเดียวของตนเอง
จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ พบว่า ช่วง 2 ปีนี้ ธุรกิจขนมอบกรอบของจีนแผ่นดินใหญ่จะก้าวเข้าสู่ “ยุคล้างไพ่” โดยท้ายที่สุดแล้วจะมีเพียงผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ และจะมีธุรกิจ SMEs ประมาณร้อยละ 30-40 ต้องถอนตัวออกจากตลาดที่มีการแข่งขันสูงอย่างตลาดจีนแผ่นดินใหญ่แห่งนี้