ติดตามพัฒนาการการลงทุนของต่างชาติในจีนประจำปี 2562
16 Dec 2019เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2562 University of International Business and Economics ณ กรุงปักกิ่งได้เผยแพร่ รายงานว่าด้วยการพัฒนาการลงทุนของต่างชาติในจีนประจำปี 2562 (Report on Foreign Investment Development in China 2019 )
รายงานฯ ระบุว่า ปี 2561 เป็นปีที่จีนดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นปีที่ 27 ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนานับตั้งแต่ปี 2535 นอกจากนี้ รายงานการลงทุนของโลกประจำปี 2562 ที่ประกาศโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ชี้ว่า ในปี 2561 จีนได้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมูลค่า 139,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นอันดับที่สองของโลกรองจากสหรัฐฯ และครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของการลงทุนทั้งหมดของโลก
แม้สภาพแวดล้อมการลงทุนของจีนมีการปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเห็นได้จากลำดับ Doing Business 2020 ของจีนที่ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 31 จากอันดับที่ 46 เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้นจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งกำลังเป็นอุปสรรคสำหรับนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีชั้นสูงในจีน ทั้งนี้ จีนยังต้องดำเนินนโยบายและมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นใน 5 ด้านเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งเพิ่มแรงจูงใจแก่นักลงทุนต่างชาติ ได้แก่
(1) ใช้กฎระเบียบด้านการลงทุนแบบสากลที่เปิดเสรีและมีความสะดวกมากขึ้น
(2) ปรับปรุงการให้เงินอุดหนุนของภาครัฐต่อรัฐวิสาหกิจ
(3) ให้การจัดทำนโยบายของภาครัฐมีความโปร่งใสมากขึ้น
(4) เสริมสร้างความเป็นกลางในเชิงการแข่งขัน (Competitive Neutrality)
(5) ปรับปรุงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจีนและสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ ได้แก่
(1) เศรษฐกิจจีนเปลี่ยนจากการพัฒนาด้วยอัตราเติบโตสูงเป็นการพัฒนาที่เน้นคุณภาพสูง ซึ่งจะเน้นนวัตกรรมและธุรกิจเทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้งมีนโยบายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น
(2) การยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมในจีนได้ทดแทนการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
(3) ต้นทุนการประกอบธุรกิจในจีนที่เพิ่มขึ้น เช่น ต้นทุนแรงงานและที่ดิน
(4) การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติจากเดิมด้วยนโยบายพิเศษของหน่วยงานภาครัฐระดับต่าง ๆ เป็นหลักได้เปลี่ยนเป็นการกำหนดกฎระเบียบและกฎหมายระดับชาติ เช่น Negative List กฎหมายว่าด้วยการลงทุนจากต่างชาติ (FIL) และ มาตรการเกี่ยวกับการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม การลงทุนให้ดีขึ้น (Regulation on Optimizing Business Environment) อย่างไรก็ดี ฎระเบียบและกฎหมายเหล่านี้ยังคงต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่ทางปฏิบัติ
(5) กระแสโลกาภิวัฒน์ย้อนกลับ (De-globalization) มีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น และประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่จะถอนภาคการผลิตกลับสู่ประเทศตน (re-shore) เป็นต้น
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีนชี้ว่า ช่วงระหว่างเดือน ม.ค. – พ.ย. 2562 การลงทุนโดยตรงจาก ต่างประเทศ (FDI) ของจีนมีมูลค่า 124,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีชั้นสูงในจีน เช่น ธุรกิจการผลิตยา ธุรกิจการผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมและอิเล็กทรอนิกส์ ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นร้อยละ 28.5 ของ FDI ทั้งหมดของจีน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2562 การประชุมคณะรัฐมนตรีจีนโดยมีนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติมาตรการที่ใช้คู่กับ FIL (Draft Implementation Regulation of the Foreign Investment Law) และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป จึงเป็นกฏระเบียบที่น่าติดตามและศึกษาสำหรับผู้ประกอบการไทยในจีนและผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์บุกตลาดจีนในอนาคต
แหล่งข้อมูล:
http://www.chinanews.com/cj/2019/12-10/9029749.shtml
http://www.mofcom.gov.cn/article/ae/sjjd/201912/20191202921902.shtml
http://english.www.gov.cn/premier/news/201912/13/content_WS5df3b316c6d0bcf8c4c18d09.html