ฉงจั่วจับมือน้ำตาลมิตรผล สะบัดปากกาลงทุนใน “นิคมอุตสาหกรรมจีน(ฉงจั่ว)-ไทย”
29 Sep 2015สำนักข่าวซินหัว-นครหนานหนิง : เทศบาลเมืองฉงจั่วและบริษัทน้ำตาลมิตรผลของไทยได้ร่วมกันลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทยที่เมืองฉงจั่ว เขตฯ กว่างซีจ้วง ในช่วงงานหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO) เมื่อวันที่ 18 ก.ย.58 ที่ผ่านมา
นิคมอุตสาหกรรมจีน(เมืองฉงจั่ว)-ไทย ตั้งอยู่ที่เมืองฉงจั่ว (Chong zuo City, 崇左市) เมืองชายแดนติดประเทศเวียดนามของเขตฯ กว่างซีจ้วง (เส้นแนวชายแดน 533 กิโลเมตร) ห่างจากตัวเมืองฉงจั่วเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร
เทศบาลเมืองฉงจั่ว เริ่มวางแผนก่อสร้างนิคมฯ เมื่อปี 2555 มีเนื้อที่ 50 ตารางกิโลเมตร เน้นส่งเสริมการลงทุนในหลายสาขาอุตสาหกรรม อาทิ อาหารและน้ำตาลแบบครบวงจร สิ่งทอที่ใช้ในครัวเรือน วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศ และ E-commerce ข้ามแดน
ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่า ในสิ้นปี 2560 มูลค่ารวมการผลิตของนิคมฯ แตะที่ 45,000 ล้านหยวน และเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 แสนล้านหยวนภายในสิ้นปี 2570
นายหวง เค่อ (Huang ke, 黄克) เลขาธิการพรรคฯ ประจำเมืองฉงจั่ว กล่าวว่า การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในนิคมฯ มีความรุดหน้าเป็นอย่างมาก อาทิ ถนนหนทาง ระบบน้ำ ไฟฟ้า ท่อก๊าซ และระบบบำบัดน้ำเสีย
ปัจจุบัน มีการลงทุนจำนวน 15 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนราว 29,200 ล้านหยวน มีบริษัทชั้นนำเข้ามาจัดตั้งในนิคมหลายราย อาทิ บริษัทน้ำมันพืชยักษ์ใหญ่ COFCO (中粮集团有限公司) และบริษัทอลูมิเนียมยักษ์ใหญ่ CHINALCO (中国铝业股份有限公司) แหล่งข่าวยังเปิดเผยว่าไทยวางแผนจะทำการสร้างศูนย์กระจายสินค้าเกษตรของไทยในนิคมด้วยเช่นกัน
นายหวงฯ ได้กล่าวชักชวนให้นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในนิคมแห่งนี้ เพราะนิคมแห่งนี้เป็นฐานกระจายสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน และการใช้นิคมแห่งนี้เป็นฐานการแปรรูปผลไม้และสินค้าเกษตรส่งออกไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า
นอกจากนี้ นายหวงฯ กล่าวแสดงความหวังว่า นิคมแห่งนี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย เพื่อผลักดันให้นิคมแห่งนี้เป็นนิคมระดับประเทศเจริญรอยตายนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมืองฉงจั่วเป็น Land Lock ที่มีจุดแข็งด้วยความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรของเมืองฉงจั่ว จึงได้รับการขนานนามเป็น "เมืองแห่งน้ำตาล" (กำลังการผลิตราวร้อยละ 20 ของจีน) และ "เมืองแห่งแมงกานีส"
ส่วนจุดเด่นด้านกายภาพ คือ การเป็นเมืองชายแดนติดเวียดนาม จึงเปรียบเสมือน "ประตูสู่อาเซียน" และที่สำคัญ เมืองฉงจั่วยังเป็น "เมืองข้อต่อ" ที่สำคัญบนกรอบระเบียบเศรษฐกิจหนานหนิง-สิงคโปร์ กรอบการพัฒนาภาคตะวันตก และกรอบยุทธศาสตร์ One Belt One Road จึงได้รับนโยบาย/สิทธิประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
อย่างที่กล่าวในข้างต้นแล้วว่า เมืองฉงจั่วเป็น Land Lock ดังนั้น การเข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จึงควรจะเป็นการอาศัยจุดแข็ง/ทรัพยากรในพื้นที่มากกว่าการคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ ซึ่งไม่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ ของกว่างซี