จีนเตรียมออกกฎหมายว่าด้วย E – Commerce จัดระเบียบผลักดันตลาดออนไลน์
29 Nov 2013ธุรกิจ E – Commerce ของจีนพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยอดค้าปลีกออนไลน์ของจีนเติบโตประมาณ 30 เท่า คาดว่าถึงปี 2558 ยอดค้าขาย E – Commerce ของจีนจะทะลุ 18 ล้านล้านหยวน คิดเป็นกว่าร้อยละ 10 ของยอดค้าปลีกสินค้าบริโภคทั้งหมด เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จีนเผยว่าได้มีการวางแผนจัดทำกฎหมายว่าด้วยธุรกิจ E – Commerce และจะเร่งสร้างระบบตรวจสอบสถิติซื้อขายออนไลน์และระบบเครดิต เพื่อให้ตลาดซื้อขายออนไลน์พัฒนาไปอย่างเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น
ยอดค้าขายออนไลน์ในเทศกาลคนโสดที่ผ่านมาได้ทำลายสถิติอีกรอบ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของการบริโภคออนไลน์ในจีน โดยในวันที่ 11 พ.ย. 2556 เพียงวันเดียว ยอดจำหน่ายของเว็บไซต์ Tmall สูงถึง 3.5 หมื่นล้านหยวน เติบโตร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับปี 2555 นอกจากนี้ สถิติชี้ว่า ใน ปี 2555 ยอดค้าขาย E – Commerce ของจีนอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 31.7 เมื่อเทียบกับปี 2554 โดยยอดค้าปลีกออนไลน์มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านหยวนเติบโตร้อยละ 67.5 คิดเป็นร้อยละ 6.3 ของยอดค้าปลีกสินค้าบริโภคทั้งหมดในปี 2555 บริษัท The Boston Consulting Group คาดว่า ในปี 2563 ตลาดซื้อขายออนไลน์จีนจะมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ติดอันดับ 1 ในโลก
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ ธุรกิจ E – Commerce ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคจีน ยังเกิดข้อพิพาทค่อนข้างบ่อยเนื่องจากปัญหาคุณภาพสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง การฉ้อโกงทางอินเตอร์เน็ต และการบกพร่องในการจัดส่งสินค้า เป็นต้น รองผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยเศรษฐกิจบริโภคของสถาบันกระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวว่า เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จีนต้องปรับระบบบริการธุรกิจ E – Commerce ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยกฎระเบียบคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคล่าสุด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปีหน้า จะกำหนดให้ร้านค้าออนไลน์ให้บริการรับคืนสินค้าภายใน 7 วัน (นับจากวันที่ลูกค้ารับสินค้า) โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้เตรียมเก็บสถิติการซื้อขายออนไลน์ให้เข้าอยู่ในระบบสถิติของจีน ขณะเดียวกัน จะเพิ่มการตรวจสอบและดูแลธุรกิจซื้อขายออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า หลังจากออกประกาศกฎหมายว่าด้วยธุรกิจ E – Commerce แล้ว จีนจะทยอยออกกฎเบียบปลีกย่อยที่เจาะจงธุรกิจโดยเฉพาะ และยังเสนอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการออนไลน์ สร้างระบบลงบันทึก ตลอดจนมีข้อกำหนดถึงรูปแบบดำเนินธุรกิจ รูปแบบหากำไร เป็นต้น
นอกจากนี้ เนื่องจากรูปภาพสินค้าที่โชว์ในเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่ได้ผ่านการแต่งรูป ไม่ตรงกับสินค้าจริง และบางร้านยังทำสถิติซื้อขายปลอมเพื่อหลอกลวงลูกค้าว่าสินค้ารุ่นนี้ขายดี ดังนั้น จึงมีความจำเป็นให้ปรับปรุงระบบตรวจเช็คความน่าเชื่อถือของธุรกิจ E – Commerce ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
จริง ๆ แล้ว เมื่อเกิดปัญหาในระหว่างการซื้อของออนไลน์ ผู้บริโภคจะต้องเผชิญอุปสรรคมากมายในการเรียกร้องความเป็นธรรมกลับมา เนื่องจากผู้ที่ทำผิดกฎหมายได้รับกำไรมากกว่าโทษปรับที่จะเสีย อีกทั้ง ปัจจุบัน จีนยังขาดช่องทางฟ้องร้องที่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้ผู้เสียหายต้องเสียทั้งเงินและเวลาในการคุ้มครองสิทธิตัวเอง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะมีการซื้อขายออนไลน์กับจีน จึงควรใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น พร้อมกับติดตามกฎระเบียบใหม่ของจีนเพื่อการคุ้มครองสิทธิของตนเอง