จีนรายงาน นมนำเข้าจากนิวซีแลนด์พบสารปนเปื้อน
30 Jan 2013เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2556 สื่อจีนได้รายงานข่าวการพบสารปนเปื้อนในนมผงนำเข้าจากประเทศนิวซีแลนด์ ขณะที่เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศจีนออกมายืนยันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นมของนิวซีแลนด์ หลังจากเหตุการณ์ “นมเมลามีน” ในปี 2008 ผลิตภัณฑ์นมนำเข้าได้กลายเป็นทางออกของผู้บริโภคจีน โดยมีผลิตภัณฑ์นมจากนิวซีแลนด์ครองส่วนแบ่งการนำเข้าถึงร้อยละ 80
ตามรายงาน นมผงของบริษัท Fonterra (ชื่อจีน 恒天然公司) ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดของโลก มีสารปนเปื้อน DCD (Dicyandiamide) หลังจากรายงานดังกล่าวเผยแพร่ออกไป หลายฝ่ายของนิวซีแลนด์ได้ออกมายืนยันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นมดังกล่าว โดยนาย Carl Worker เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศจีน ได้ออกมาแถลงว่า ผลิตภัณฑ์นมของนิวซีแลนด์ทุกประเภทมีความปลอดภัย โดยสารดังกล่าวที่ตรวจพบมีปริมาณน้อยกว่ามาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนดถึง 100 เท่า และหากคำนวณตามปริมาณที่บริโภค ผู้มีน้ำหนัก 60 กิโลกรัมต้องบริโภคน้ำนมถึง 130 ลิตรในหนึ่งวัน ถึงจะได้รับสารดังกล่าวเกินกว่าปริมาณที่สหภาพยุโรปกำหนด และต้องบริโภคมากกว่านั้นอีกมากกว่าจะมีผลกระทบต่อร่างกาย
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า ทางการนิวซีแลนด์ได้ออกคำสั่งให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมระงับการใช้สาร DCD โดยให้เหตุผลว่า เพื่อขจัดความสับสนที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นเพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย
จากข่าวที่เกิดขึ้น ทำให้วงการผลิตภัณฑ์นมของจีนเกิดแรงกระเพื่อมอีกครั้ง เนื่องจากภายหลังเหตุการณ์ “นมเมลามีน” ในปี 2008 ที่ทำให้ทารกจีน 6 รายเสียชีวิตและอีกหลายพันคนต้องเข้าโรงพยาบาล ผลิตภัณฑ์นมนำเข้าได้กลายเป็นทางออกของผู้บริโภคจีน ยอดนำเข้านมผงและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้เพิ่มจาก 140,000 ตันในปี 2008 เป็น 800,000 ตันในปีถัดๆมา โดยผลิตภัณฑ์นมจากนิวซีแลนด์มีส่วนแบ่งการตลาดถึงร้อยละ 80 ของตลาดผลิตภัณฑ์นมนำเข้าของจีน ขณะที่หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมภายในประเทศของจีนเองก็ตกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.29 เปรียบเทียบกับร้อยละ 17.4 ก่อนหน้า
ในปีที่ผ่านมา จีนผลิตนมได้มากถึง 38.3 ล้านเมตริกตัน มากเป็นอันดับสามของโลก ผู้เชี่ยวชาญในวงการผลิตภัณฑ์นมชี้ว่า ตลาดผลิตภัณฑ์นมของจีนยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยใน 15 ถึง 20 ปีต่อจากนี้ ความต้องการผลิตภัณฑ์นมจะเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตัว โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการพัฒนาความเป็นเมืองที่สูงขึ้น และรายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ตลาดผลิตภัณฑ์นมของจีนจึงจัดเป็นตลาดที่มีโอกาสทางธุรกิจสูงมาก อย่างไรก็ดี โอกาสดังกล่าวนี้ ก็แฝงไว้ด้วยความท้าทาย โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพในการผลิต และด้านความปลอดภัย จึงเป็นที่น่าคิดว่า ผลิตภัณฑ์นมของไทย จะมีโอกาสเข้าสู่ตลาดนมของจีนหรือไม่ โดยในปีที่ผ่านมามีรายงานว่า ผู้ผลิตนมของไทยรายหลายมีการปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2555 พร้อมกันนี้ ผู้ผลิตนมไทยอาจลองหันมามองตลาดจีนไปด้วยเพื่อศึกษาโอกาสและความท้าทายของตลาดขนาดมหึมาแห่งนี้