จีนปรับโมเดลธุรกิจ ปิดประตูการลงทุนธุรกิจนมผงทารก และส่งเสริมธุรกิจ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”
27 Jun 2013หนังสือพิมพ์ Southland Morning : ทางการจีนออกประกาศ “ข้อคิดเห็นว่าด้วยการเพิ่มความปลอดภัยของนมผงสำหรับเด็กทารก” พร้อมสนับสนุนการควบรวมกิจการขนาดเล็ก เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.56 Mengniu (蒙牛) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจนมของจีนประกาศซื้อหุ้นทั้งหมดของ Yashili (雅士利) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายนมผงรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงของมณฑลกวางตุ้ง ด้วยมูลค่า 12,400 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.56 ทางการจีน (9 หน่วยงานกลาง) ร่วมกันประกาศข้อคิดเห็นฯ ที่นับว่าเข้มงวดที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อควบคุมกิจการนมผงทารกของจีน หลังจากที่เกิดปัญหาด้านคุณภาพความปลอดภัยของนมผงที่ผลิตในประเทศ ส่งผลให้ชาวจีนขาดความเชื่อมั่นต่อสินค้าดังกล่าว และแห่ซื้อนมผงจากต่างประเทศแทน
สาระสำคัญของข้อคิดเห็นฯ ระบุว่า ทางการจีนจะไม่อนุมัติการจัดตั้งกิจการของวิสาหกิจนมผงทารกรายใหม่ (ผู้ผลิตนมผงสำหรับเด็กทารก) และสนับสนุนการควบรวมกิจการของวิสาหกิจรายใหญ่กับวิสาหกิจขนาดเล็ก ทั้งในลักษณะการเข้าซื้อกิจการ (Takeover) การควบรวมกิจการ (Merger) และการปรับโครงสร้างกิจการ (Reconstruction)
นอกจากนี้ มีการปรับปรุงข้อกำหนดที่มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมผงนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ การขออนุญาตนำเข้าแบรนด์นมผงใหม่ การลงบันทึกและการตรวจสอบคุณภาพนมผง (เดิมทีผลิตภัณฑ์นมผงนำเข้าต้องผ่านมาตรฐานการตวรจสอบ 20 รายการ ปัจจุบัน เพิ่มเป็น 60 รายการ)
อีกทั้ง ยังสั่งห้ามมิให้มีการแบ่งบรรจุนมผงที่นำเข้าจากต่างประเทศ และห้ามมิให้ติดฉลากภาษาจีน (Label) บนบรรจุภัณฑ์สินค้านำเข้า ซึ่งหมายความว่าจะต้องนำเข้าในลักษณะสินค้าสำเร็จรูปเท่านั้น หากตรวจพบสินค้าจะต้องถูกตีกลับหรือถูกสั่งทำลาย
นั่นหมายความถึงระยะเวลาและต้นทุนของผลิตภัณฑ์นมผงนำเข้าจากต่างประเทศจะต้องเพิ่มขึ้นโดยปริยาย (สินค้านำเข้าต้องค้างอยู่ในโกดัง เพื่อรอใบอนุญาตจากหน่วยงาน CIQ)
หลายฝ่ายมองว่า การดำเนินข้อคิดเห็นดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นมาตรการเชิงเทคนิคกีดกันผลิตภัณฑ์นมผงนำเข้า เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตนมรายใหญ่ในประเทศ
สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง ยังไม่มีข่าวการควบรวมกิจการนมแต่อย่างใด จากข้อมูลปี 53 กว่างซีมีวิสากิจนม 24 ราย มาในปัจจุบันเหลืออยู่ 16 ราย สาเหตุมาจากการเลิกกิจการไปเอง และกิจการที่เหลืออยู่ไม่พบว่าเป็นผู้ผลิตนมผงเด็กทารกแม้แต่รายเดียว
ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี และสภาพภูมิอากาศร้อน ส่งผลให้โคนมให้ผลผลิตนมค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภาคเหนือ (เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน) ดังนั้น กว่างซีจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำนมมากกว่านมผง โดยเฉพาะนมควายที่ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของกว่างซี
นักวิเคราะห์มองว่า ตลาดนมของกว่างซียังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก หากวิเคราะห์ตาม “ข้อแนะนำการบริโภคของชาวจีน” ควรบริโภคผลิตภัณฑ์นมวันละ 300 กรัม (ปีละ 110 กิโลกรัม) ปัจจุบัน ประชากรในประเทศกำลังพัฒนามีการบริโภคผลิตภัณฑ์นมปีละ 50 กิโลกรัม ขณะที่ชาวกว่างซีมีปริมาณการบริโภคเพียง 1.58 กิโลกรัมเท่านั้น