จีนประกาศให้มณฑลยูนนานเป็น “เขตการค้าเสรีนำร่อง” แห่งใหม่ของจีน

2 Sep 2019

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 คณะมนตรีแห่งรัฐจีน (State Council) จีนได้ประกาศแผนแม่บทจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่อง (Free Trade Pilot Zone)[1] แห่งใหม่เพิ่มอีก 6 แห่ง ได้แก่ มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู มณฑลเหอเป่ย มณฑลเฮยหลงเจียง เขตฯ กว่างซี และมณฑลยูนนาน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องในพื้นที่ชายแดนของจีน โดยสำหรับแผนแม่บทการจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องในมณฑลยูนนานที่เน้นการพัฒนารูปแบบความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามแดน (modes of cross-border economic cooperation) เพื่อเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2] มีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. กลยุทธ์และเป้าหมายการพัฒนา

1.1  มุ่งส่งเสริมระบบนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติ

1.2  ปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐบาลกลางเพื่อเร่งการเปิดชายแดน

1.3  สร้างช่องทางเพื่อเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta Economic Zone: YRD)

1.4  สร้างข้อต่อเส้นทางและการเปิดชายแดนเพื่อเชื่อมโยงสู่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

1.5  พัฒนาสู่เขตการค้าเสรีที่อำนวยความสะดวกต่อการค้าและการลงทุนซึ่งมีมาตรฐานและคุณภาพสูง

  1. ภาพรวมพื้นที่

เขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลยูนนานมีพื้นที่รวม 119.86 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย

(1)  พื้นที่นครคุนหมิง มีขนาด 76 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมพื้นที่เขตสินค้าทัณฑ์บนนครคุนหมิงขนาด 0.58 ตารางกิโลเมตรด้วย โดยจะพัฒนาร่วมกับเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยานและมุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตระดับสูง โลจิสติกส์การบิน เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงสร้างศูนย์กลางการเชื่อมโยง ศูนย์โลจิสติกส์และสารสนเทศ รวมทั้งศูนย์วัฒนธรรมและการศึกษา ที่มุ่งเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(2)  พื้นที่หงเหอ มีขนาด 14.12 ตารางกิโลเมตร โดยจะพัฒนาร่วมกับเขตสินค้าทัณฑ์บนหงเหอและเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเหมิงจื้อ และมุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ การแปรรูปและการค้า การบริการเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวข้ามพรมแดน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce: CBEC) รวมถึงสร้างฐานการผลิตและแปรรูป ศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ รวมทั้งเขตสาธิตความร่วมมือด้านนวัตกรรมบนระเบียงเศรษฐกิจจีน-เวียดนาม ที่มุ่งเชื่อมโยงกับอาเซียน

(3)  พื้นที่เต๋อหง มีขนาด 29.74 ตารางกิโลเมตร มุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ความร่วมมือด้านกำลังการผลิตข้ามพรมแดน และการเงินข้ามพรมแดน ที่มุ่งการเป็นประตูของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา

  1. มาตรการสำคัญ

    3.1  เพิ่มประสิทธิภาพการบริการและการบริหารจัดการของภาครัฐ

3.2  ปฏิรูปภาคการลงทุน ด้วยการส่งเสริมการลงทุนให้มีความเสรีและความสะดวก รวมทั้งปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนและกลไกการคุ้มครอง

3.3  ส่งเสริมการยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้า การตรวจสอบและการจัดการ การพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน และธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น ระบบอุตสาหกรรม 5G อินเทอร์เน็ต บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์

3.4  เปิดกว้างทางการเงิน ด้วยการขยายภาคการเงินเพื่อเปิดสู่ภายนอก ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจเงินหยวนข้ามพรมแดน ส่งเสริมการเงินและการลงทุนข้ามพรมแดนให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น

3.5  สร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวชายแดนในรูปแบบใหม่ ด้วยการพัฒนารูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ส่งเสริมการไปมาหาสู่ของประชาชนในพื้นที่ชายแดนให้มีความสะดวก เพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3.6  เร่งการเปิดประตูมุ่งสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการสร้างช่องทางระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างศูนย์โลจิสติกส์ข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาค และสร้างเขตสำรองทรัพยากรตามแนวชายแดน

  1. ข้อมูลเพิ่มเติม

    4.1  การประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องของรัฐบาลจีนในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งเขตพัฒนารูปแบบนี้ในพื้นที่ชายแดนของจีนซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ การประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องอีก 6 พื้นที่ในครั้งนี้ยังส่งผลให้เขตการค้าเสรีนำร่องของจีนครอบคลุมพื้นที่ระดับมณฑลในบริเวณชายฝั่งตะวันออกทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลดีด้านการเชื่อมโยงระหว่างบรรดาเขตการค้าเสรีนำร่อง

4.2  เขตการค้าเสรีนำร่องที่จัดตั้งใหม่ทั้ง 6 พื้นที่มีระดับความเป็นเอกเทศในการจัดทำนโยบายส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การบริการทางการเงินสำหรับภาคเศรษฐกิจจริง การบริหารจัดการบุคคลที่มีความสามารถและการขับเคลื่อนสถาบันด้านนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น

4.3  การประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องเพิ่มเติมของจีนในครั้งนี้ นับเป็นการเร่งการดำเนินโยบายการเปิดสู่ภายนอก นอกเหนือจากการประกาศลดรายการอุตสาหกรรมที่ห้ามไม่ให้ต่างชาติลงทุน (Negative List) รวมทั้งการประกาศใช้กฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับใหม่ (Foreign Investment Law) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาภาคเศรษฐกิจจริงของจีนในภาพรวม โดยเฉพาะการดึงดูดเงินทุนต่างชาติ  ทั้งนี้ เขตการค้าเสรีนำร่องมีบทบาทสำคัญในด้านนี้ โดยก่อนหน้านี้เขตการค้าเสรีนำร่อง 12 พื้นที่สามารถดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติได้กว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 14 ในภาพรวมทั้งประเทศจีน

—————————————————————————————-

[1] เขตการค้าเสรีนำร่อง (Free Trade Pilot Zone) ของจีนในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 18 แห่ง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ (ปี 2556) กวางตุ้ง ฝูเจี้ยน เทียนจิน
(ปี 2558) เหลียวหนิง เหอหนาน เจ้อเจียง หูเป่ย ฉงชิ่ง เสฉวน ส่านซี (ปี 2560) ไห่หนาน (ปี 2561) ซานตง เจียงซู เหอเป่ย เฮยหลงเจียง กว่างซี
และยูนนาน (ปี 2562) โดยเขตการค้าเสรีนำร่องนับเป็นพื้นที่ซึ่งรัฐบาลจีนเปิดให้ทดสอบระบบการจัดการการลงทุนของต่างชาติรูปแบบใหม่ ๆ
การอำนวยความสะดวกทางการค้า ตลอดจนการปรับปรุงระบบการทำงานของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปและการเปิดประเทศ ตลอดจน
การบูรณาการเศรษฐกิจจีนกับมาตรฐานสากล

[2] สำหรับจุดเน้นการพัฒนาเขตการค้าเสรีนำร่องของอีก 5 พื้นที่ซึ่งเพิ่งประกาศใหม่ที่เหลือ ได้แก่ (1) มณฑลซานตง: การออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการสร้างธุรกิจใหม่ การพัฒนาเศรษฐกิจภาคพื้นสมุทร (marine economy) และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ในระดับท้องถิ่น (2) มณฑลเจียงซู: ส่งเสริมนวัตกรรมและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการเป็นศูนย์กลางการผลิตด้านตะวันออกของจีน (3) เขตฯ
กว่างซี: ยกระดับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน (4) มณฑลเหอเป่ย: ยกระดับการส่งเสริมการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งการเปิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาชีวภาพและการรักษาสุขภาพ (5) มณฑลเฮยหลงเจียง: การสร้างศูนย์กลางด้านการคมนาคมและการขนส่งเพื่อเชื่อมโยงกับรัสเซียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_4256954

ยูนนาน เขตการค้าเสรี

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน