“ควบกิจการ” หนทางสร้างความแข็งแกร่งในเส้นทางธุรกิจน้ำเมาจีน
2 Aug 2013สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : เบียร์ Yanjing (燕京) เป็นหนึ่งในต้นแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามภายหลังการควบรวมกิจการ จนก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตและมียอดจำหน่ายสูงสุดในพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ
ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบริโภคเบียร์มากที่สุดของโลก ในแต่ละปี ธุรกิจเบียร์สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจำนวนไม่น้อย ในแต่ละมณฑลต่างมีบริษัทผู้ผลิตเบียร์ตั้งอยู่จำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ท้องถิ่น แบรนด์ระดับประเทศ หรือแบรนด์ต่างชาติ
ในเขตฯ กว่างซีจ้วง มีอยู่หลายรายเช่นเดียวกัน โดยบริษัท Yanjing Beer (Guilin LiQuan) Holding (燕京啤酒(桂林漓泉)股份有限公司) นับเป็นบริษัทผู้ผลิตเบียร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในเมืองกุ้ยหลิน
ปัจจุบัน บริษัทแห่งนี้ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของจีนแล้ว หลังจากที่บริษัท Guilin LiQuan Beer ได้ตัดสินใจควบรวมกิจการกับบริษัท Beijing Yanjing Beer เมื่อ 11 ปีก่อน (18 ก.ค.45)
ยอดการจำหน่ายของบริษัทฯ มีการเติบโตอย่างน่าเหลือเชื่อจาก 2.2 แสนตันเมื่อปี 2545 พุ่งขึ้นเป็น 1.13 ล้านตันในปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นอัตราขยายตัวมากถึงร้อยละ 373.79 และสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐในรูปของเงินภาษีจาก 168 ล้านหยวนเมื่อ 11 ปีก่อนเป็น 1,088 ล้านในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวร้อยละสูงถึง 547.62 (เป็นผู้เสียภาษีรายใหญ่ของเมืองกุ้ยหลิน)
“LiQuan” ได้ก้าวข้ามจากแบรนด์ท้องถิ่นขึ้นเป็นแบรนด์น้ำเมาชั้นนำของประเทศ ที่มีมูลค่าแบรนด์แตะ 5,296 ล้านหยวน
การควบรวมกิจการเป็นหนึ่งในหนทางความสำเร็จของการทำธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ นายปี้ กุ้ย สั่ว (Bi Gui Suo, 毕贵索) ประธานบริษัทฯ กล่าวว่า ตลอดหลายปีมานี้ บริษัทได้บูรณาการกลไกบริหารจัดการจากประสบกาณ์ธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งมีการกำหนดเป้าหมายกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่มีความชัดเจน ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดอย่างในปัจจุบัน
กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อยู่ภายใต้แนวทาง “รุกภาคตะวันตกเฉียงใต้ แผ่ขยายสู่อาเซียน กระจายสู่ทั่วประเทศจีน”
กล่าวคือ เริ่มต้นก้าวแรกจากการสร้างความมั่นคงทางธุรกิจในตลาดกว่างซี (ปัจจุบัน มีสัดส่วนทางการตลาดมากกว่าร้อยละ 80 ของกว่างซี) ก่อนจะขยายตลาดสู่มณฑลกวางตุ้งและมณฑลไห่หนาน และบุกเบิกตลาดมณฑลยูนนานและมณฑลกุ้ยโจว รวมทั้งร่วมมือบริษัทพันธมิตรบุกเบิกตลาดมณฑลหูหนาน และรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียน
นอกจากฐานการผลิตใหญ่ในเมืองกุ้ยหลินแล้ว ขณะนี้บริษัทได้ขยายฐานการผลิตไปในเมืองยวี่หลิน (Yulin City, 玉林市) ซึ่งเป็นชั้นรองของกว่างซี รวมถึงในนครคุนหมิงของมณฑลยูนนานและนครกุ้ยหยางมณฑลกุ้ยโจว ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตปีละ 1.6 ล้านตัน และกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทผู้ผลิตเบียร์ของจีนที่มียอดการผลิตทะลุ 1 ล้านตัน
ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ปัจจัยเชิงลบจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การแข่งขันที่ดุเดือนของธุรกิจ และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเบียร์จีนอยู่ไม่น้อย ทว่า กลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทแห่งนี้ช่วยให้ธุรกิจมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น
จากข้อมูลพบว่า ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทฯ มีมูลค่ารวมการผลิตภาคอุตสาหกรรม 2,402 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 ยอดจำหน่าย 6.272 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ผลประกอบการ 1,921 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 และคาดว่าน่าจะบรรลุเป้าหมายการผลิตและจำหน่ายทั้งปีที่ 1.23 ล้านตันได้ไม่ยาก
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระแสการควบรวมกิจการกำลังได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท หรือเพื่อความต้องการอยู่รอดก็ตาม
สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง จากการติดตามสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ทางการกว่างซีพร้อมให้กับการสนับสนุนการควบรวมธุรกิจ (ทั้งในลักษณะเข้าซื้อกิจการ การร่วมหุ้น) โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs เนื่องจากโครงสร้างภาคธุรกิจในกว่างซีค่อนข้างอ่อนแอเมื่อเทียบกับมณฑลที่มีระดับความเจริญทางเศรษฐกิจทางภาคตะวันออก
เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่มีความมั่นคงทางการเงิน มีระบบบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจ SMEs ได้ อีกทั้งยังช่วยบูรณาการโครงสร้างและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกว่างซีให้เติบโตรวดเร็วยิ่งขึ้น
สำหรับธุรกิจต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในกว่างซี (จีนแผ่นดินใหญ่) รูปแบบการดำเนินกิจการข้างต้น (ลักษณะร่วมถือหุ้น) อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดหรือแบ่งเบาภาระความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการขาดประสบการณ์ หรือความไม่คุ้นเคยกับตลาดท้องถิ่น