กว่างซีเร่งวิจัย ‘กราฟีน’ (Graphene) วัสดุใหม่แห่งโลกอนาคต
27 Sep 2016เว็บไซต์ข่าวกว่างซี: ‘กราฟีน‘ วัสดุมหัศจรรย์ที่กำลังเป็นที่จับตามองในวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ล่าสุด กว่างซีเร่งสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้วัสดุดังกล่าวในสินค้าอุตสาหกรรมและของใช้ในชีวิตประจำวันที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
กราฟีน (Graphene) เป็นรูปแบบหนึ่งของผลึกคาร์บอนใกล้เคียงกับเพชร (แข็งแรงกว่าเพชร 100 เท่า) ถูกค้นพบโดยอาจารย์และศิษย์ชาวรัสเซีย (Andre Geim และ Konstantin Novoselov) ด้วยคุณสมบัติอันน่าพิศวงของกราฟีนที่สามารถนำไฟฟ้าและความร้อน โปร่งแสง มีความยืดหยุ่น และน้ำหนักเบา ทำให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเร่งพัฒนางานวิจัยเพื่อนำวัสดุดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับสิ่งของรอบตัว ทั้งในด้านพลังงาน เทคโนโลยีชีวภาพ ทรัพยากรน้ำ อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีอินเตอ์เน็ต อากาศยานและอวกาศ และรถยนต์ จนมีการขนานนามให้กราฟีนเป็น ‘วัสดุใหม่แห่งโลกอนาคต‘
เมื่อ 22-24 ส.ค.59 ที่ผ่านมา รัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วงร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจีน (China Association for Science and Technology,中国科学技术协会) ได้จัดงาน 2016 Graphene Industry • Technology Summit Forum ขึ้นที่นครหนานหนิง
ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ รวมถึงภาคธุรกิจในแวดวงวัสดุกราฟีนจากทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 400 คน รวมถึงศาสตราจารย์ Konstantin Novoselov เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2553 จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ จากผลงานการวิจัยกราฟีน
ข้อมูลจากฟอร์รั่ม พบว่า นอกจากหุ่นยนต์อัจฉริยะและอุปกรณ์เครื่องจักรทางทะเลแล้ว ‘วัสดุกราฟีน‘ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่รัฐบาลกว่างซีให้การสนับสนุนในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2559-2563) ปัจจุบัน กว่างซีมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับวัสดุกราฟีนที่ได้รับการจดสิทธิบัตรคุ้มครองการประดิษฐ์แล้ว 30 รายการและมีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่แล้วกว่า 100 ฉบับ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยหลายแห่งเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและผลิตวัสดุกราฟีน โดยมีมหาวิทยาลัยกว่างซีเป็นตัวตั้งตัวตี อาทิ สถาบันวิจัยกราฟีนกว่างซี (广西石墨烯研究院) ศูนย์นวัตกรรมร่วมพลังงานและวัสดุเกิดใหม่ (可再生能源材料协同创新中心) ศูนย์การผลิตกราฟีนขนาดเล็กและขนาดกลางซานเหวย (三维石墨烯小试、中试基地) ที่เริ่มต้นการผลิตผงกราฟีนได้แล้ว (ราคาตลาด ณ ปัจจุบันของผงกราฟีนอยู่ที่ตันละ 10 ล้านหยวน)
ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกว่างซีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิจัยกราฟีนกว่างซียังมีความร่วมมือกับบริษัท Guangxi Beibu-Gulf Graphene Industry Technology and Development (广西北部湾石墨烯产业技术开发有限公司) มีนัยสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมกราฟีนของกว่างซีและประเทศจีนในอนาคต
มองศักยภาพของตลาด ‘กราฟีน‘ (ของจีน) กราฟีนถูกค้นพบเมื่อ 12 ปีก่อน (ปี 2547) สหภาพยุโรปเริ่มต้นแผนการพัฒนาวัสดุกราฟีนเมื่อปี 2553 ขณะที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัสดุดังกล่าวในอนาคตเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมกราฟีน ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ จีนมีสวนอุตสาหกรรมกราฟีนที่กำลังก่อสร้างและก่อสร้างเสร็จแล้วรวมสิบกว่าแห่ง ซึ่งยังไม่มีประเทศใดเทียบเท่า
จากการคาดการณ์ของ China Innovation Alliance of the Graphene Industry (中国石墨烯产业技术创新战略联盟) อนาคต 5 – 10 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีกำลังการผลิตวัสดุกราฟีนปีละพันตัน ในปี 2563 วัสดุกราฟีนจะมีมูลค่าทางการตลาดราว 1 แสนล้านหยวน
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ประเทศจีนมีศักยภาพสูงด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมกราฟีน กล่าวคือ (1) จีนมีปริมาณสำรองแร่แกรไฟต์ (Graphite) มากกว่า 55 ล้านตัน คิดเป็น 77% ของทั่วโลก (2) จีนมีผู้เชี่ยวชาญ มีผลงานวิจัย และมีสิทธิบัตรการประดิษฐ์มากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยเฉพาะสิทธิบัตรมีสัดส่วนราว 40% ของทั่วโลก และ (3) จีนมีศักยภาพทางการตลาด และมีเงินทุนเพียงพอ
ศาสตราจารย์ Konstantin Novoselov ให้ความเห็นว่า วัสดุกราฟีนช่วยเปิดช่องว่างและโอกาสอันมหาศาล วัสดุดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม อินเตอร์เน็ต ประเทศจีนมีความได้เปรียบอย่างมากในด้านบุคลากร วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งการบูรณาการทั้งหมดจะช่วยให้การพัฒนาอุตสาหกรรมกราฟีนในจีนมีอนาคตที่สดใส
นายหลี่ อี้ ชุน (Li Yi Chun,李义春) เลขาธิการ China Innovation Alliance of the Graphene Industry ให้ความเห็นว่า technical content ของการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากวัสดุกราฟีนในประเทศจีนยังเป็นแบบหยาบ ส่วนใหญ่เป็นการใช้สารกราฟีนในการผสมเข้ากับวัสดุอื่น ขณะที่ในฝั่งยุโรปอเมริกามุ่งเน้นการศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือเซ็นเซอร์ เภสัชกรรม และวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ประเทศจีนยังมีการลงทุนสนับสนุนในด้านดังกล่าวไม่มากพอเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศฝั่งยุโรปอเมริกา ธุรกิจด้านวัสดุกราฟีนส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs ต่างจากฝั่งยุโรปอเมริกาที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุนสูง นายคัง เฟ่ย ยวี่ (Kang Fei Yu,康飞宇) ผู้อำนวยการ Tsinghua-Berkeley Shenzhen Institute และวิทยาลัยบัณฑิตมหาวิทยาลัยชิงหัว วิทยาเขตเซินเจิ้น