กว่างซีพร้อมแล้ว!!! นโยบายจัดเก็บภาษีใหม่ เปลี่ยน”ภาษีธุรกิจ” เป็น “ภาษีมูลค่าเพิ่ม”
1 Aug 2013สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : ทางการกว่างซีพร้อมดำเนินนโยบาย “การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แทนที่การเก็บภาษีธุรกิจ (BT)” ในวันที่ 1 สิงหาคมศกนี้
นโยบายดังกล่าวเริ่มทดลองใช้เป็นครั้งแรกในนครเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.55 และมีการขยายสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศในเวลาต่อมา
สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง (จีนแผ่นดินใหญ่) จะทดลองกับ 8 สาขาธุรกิจ ภายใต้รหัส “1+7” คือ
“1” หมายถึง ธุรกิจด้านการคมนาคมขนส่ง ประกอบด้วย การบริการขนส่งทางบก การบริการขนส่งทางน้ำ การบริการขนส่งทางอากาศ และการบริการขนส่งทางท่อ
“7” หมายถึง ธุรกิจบริการสมัยใหม่บางประเภท ประกอบด้วย การบริการด้านงานวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยี การบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริการสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม การบริการเสริมด้านโลจิสติกส์ การบริการเช่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Tangible assets) การบริการให้คำปรึกษา การบริการผลิตและออกอากาศผลงานวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์
กลุ่มเป้าหมายผู้เสียภาษี แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
(1) ผู้เสียภาษีทั่วไป (General VAT Payer, 一般纳税人) แบ่งการจัดเก็บเป็น 4 อัตรา ดังนี้
รายการภาษี |
อัตราภาษี |
การบริการเช่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Tangible assets) |
17% |
ธุรกิจด้านการคมนาคมขนส่ง |
11% |
ธุรกิจบริการสมัยใหม่อื่นๆ |
6% |
การบริการขนส่งระหว่างประเทศสำหรับลูกค้าในประเทศ/การบริการออกแบบและวิจัยสำหรับลูกค้าในต่างประเทศ |
0% |
(2) ผู้เสียภาษีรายย่อย (Small-scale VAT payers, 小规模纳税人) หรือผู้ที่มีผลประกอบการไม่เกิน 5 ล้านหยวน จะจัดเก็บในอัตราร้อยละ 3 เท่านั้น
สูตรการคำนวณ : ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ = ราคารวมภาษี / (1+3%) X3%
อนึ่ง การจัดเก็บภาษีมูลค่าสินค้า ยังคงมีการจัดเก็บใน 2 อัตรา คือ ร้อยละ 13 สำหรับสินค้าที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป และร้อยละ 17 สำหรับสินค้าที่ผ่านการแปรรูปแล้ว
จากข้อมูล พบว่า วิสาหกิจชุดแรกที่เข้าระบบการจัดเก็บภาษีใหม่ มีจำนวน 17,108 ราย ในจำนวนนี้เป็น ธุรกิจขนส่ง 5,140 ราย และภาคการบริการสมัยใหม่ 11,900 ราย
หากแบ่งตามกลุ่มเป้าหมายผู้เสียภาษีฯ แบ่งเป็นผู้เสียภาษีทั่วไป 1,965 ราย และผู้เสียภาษีรายย่อย 15,100 ราย
การปรับโครงสร้าง “การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนที่การเก็บภาษีธุรกิจ” เป็นนโยบายที่ช่วยปรับปรุงโครงสร้างและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมบริการในประเทศ เนื่องจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะช่วยลดภาระภาษีให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย