กว่างซีผลักผลิตภัณฑ์เกษตร เน้นจุดขาย “อายุยืน” ผู้ประกอบไทยเห็นโอกาสอะไร?
21 Jun 2013เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ปีนี้ กรมการเกษตรเขตฯ กว่างซีจ้วงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุเซเลเนียม (Selenium) โดยเน้นจุดขาย “อายุวัฒนะ” ดึงดูดใจผู้บริโภค คาดใช้เวลา 5 ปีก้าวขึ้นเป็น “ฐานการผลิตสินค้าเกษตรเซเลเนียมสูง” ของประเทศ
ตามรายงาน ทางการกว่างซีกำหนดให้พื้นที่ในนครหนานหนิง และเมืองกุ้ยหลิน เป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีแร่ธาตุเซเลเนียมสูง ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด ถั่วลิสง พืชผัก ผลไม้ ใบชา ปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ
“เซเลเนียม” เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกาย มีคุณประโยชน์ในการป้องกันโรคมะเร็ง และการต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงได้รับการขนามนามเป็น “แร่อายุวัฒนะ”
ประเทศจีนกับแร่เซเลเนียม จากข้อมูลพบว่า จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ขาดแคลนแร่ธาตุเซเลเนียม โดยพื้นที่ 22 มณฑล ประชากรกว่าร้อยละ 72 อาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนแร่ธาตุดังกล่าว ทว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นพื้นที่ที่มีแร่ธาตุเซเลเนียมในดินสูง โดยบางแห่งพบว่า ปริมาณแร่ในดินมีสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 10 กว่าเท่า
นายเผิง จั้ว (Peng Zuo, 彭祚) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ด้าน Trace element จีน ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ปริมาณแร่ธาตุเซเลเนียมที่ร่างกายควรได้รับของชาวจีนคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1/4 ของชาวอเมริกันและชาวญี่ปุ่น และต่ำกว่าปริมาณที่นักโภชนาการแนะนำต่อวัน โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ คนชรา ผู้ป่วย เด็กเล็ก และผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ
ปัจจุบัน ชาวจีนเริ่มหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น อาทิ สินค้าออแกนิกส์ สินค้าสีเขียวปลอดสารพิษ และสินค้าที่มีแร่ธาตสารอาหารสมบูรณ์
ทางการกว่างซีเห็นถึงโอกาสดังกล่าวจึงได้พยายามผลักดันการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยใช้จุดแข็งที่ตนเองมีอยู่ คือ การเป็นมณฑลเกษตรกรรม และการมีแร่ธาตุเซเลเนียมในดินที่อุดมสมบูรณ์ อาทิ มันเทศเซเลเนียมสูง หอม/กระเทียมเซเลเนียมสูง พริกหยกเซเลเนียมสูง (พริกขนาดเล็กสีขาวเขียวคล้ายสีของหยก)
อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ถูกส่งไปจำหน่ายยังมณฑลอื่นๆ เนื่องจากได้ราคาดีกว่า กอปรกับผู้บริโภคชาวกว่างซีเองยังมีความรู้จักเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ธาตุเซเลเนียมไม่มากนัก เมื่อเทียบกับหัวเมืองใหญ่อย่างนครอู่ฮั่น นครหนานจิง
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีการเคลมปริมาณสารอาหารเสริม ทางการจีนมีการกำหนดค่ามาตรฐาน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่เซเลเนียม กำหนดปริมาณอ้างอิงทางโภชนาการ (50μg/d) ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นของแข็ง และร้อยละ 15 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลว
เช่น ข้าวสารที่เคลมว่ามีแร่เซเลเนียมต้องมีปริมาณแร่ 0.15 มิลลิกรัมต่อข้าวสารกิโลกรัม หรือหากเป็นเครื่องดื่มก็ต้องมีปริมาณแร่ไม่ต่ำกว่า 0.075 มิลลิกรัมต่อลิตร
แม้ว่าปริมาณอุปสงค์ของสินค้าเพื่อสุขภาพในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น และประเทศไทยก็มีจุดแข็งด้านการผลิตสินค้าข้างต้น อย่างไรก็ดี นักลงทุนไทยจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบ/มาตรฐานข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะกลุ่มสินค้าดังกล่าวมีกฎระเบียบที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง