กว่างซีคุมเข้ม “โรงงานผลิตอาหาร” บีบคอตั้งกลไกคุมคุณภาพทั้งกระบวนการผลิต

21 Apr 2014

สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : เขตฯ กว่างซีจ้วงประกาศบังคับใช้ระเบียบควบคุมบริหารจัดการด้านคุณภาพความปลอดภัยของผู้ประกอบการผลิตอาหารในกว่างซี (ฉบับทดลอง) จากการเปิดเผยของสำนักงานตรวจสอบและบริหารอาหารและยาเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Food and Drug Administration, 广西食品药品监督管理局)

ระเบียบดังกล่าว กำหนดให้ผู้ประกอบการผลิตอาหาร (โรงงาน) จะต้องสร้างกลไกบริหารจัดการด้านการตรวจสอบและติดตามผลย้อนหลังเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าอาหารที่ผลิตออกจากโรงงาน ดังนี้

หนึ่ง ระบบผู้รับมอบอำนาจด้านคุณภาพความปลอดภัยของผู้ประกอบการผลิตอาหารกว่างซี(ฉบับทดลอง) กล่าวคือ

ผู้ประกอบการผลิต (หมายถึง ผู้แทนโดยชอบธรรม (Legal Representative) หรือเจ้าของกิจการ) จะต้องแต่งตั้ง (มอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร) บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักด้านการบริหารและตรวจสอบควบคุมคุณภาพความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตออกจากโรงงานตนเอง

ทั้งนี้ ผู้รับมอบอำนาจมีสิทธิขาดในระบบบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพความปลอดภัยของอาหาร เช่น ตั้งแต่การคัดเลือกซัพพลายเออร์ อุปกรณ์เครื่องจักรการผลิต และพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อและตรวจสอบคุณภาพ

นอกจากนี้ ผู้รับมอบอำนาจจะต้องรับประกันว่าสินค้าที่ปล่อยออกจากโรงงานทุกล็อตได้มีการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพสินค้าตามเงื่อนไขข้อกำหนดด้านคุณภาพความปลอดภัยของอาหาร

สอง ระบบบริหารจัดการติดตามคุณภาพความปลอดภัยของผู้ประกอบการผลิตอาหารกว่างซี(ฉบับทดลอง)

สำนักงานตรวจสอบและบริหารอาหารและยาเขตฯ กว่างซีจ้วงได้กำหนดให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ได้รับใบอนุญาตการผลิตอาหาร (Food production license, 食品生产许可证) จะต้องดำเนินการจัดตั้งระบบบริหารจัดการติดตามตรวจสอบด้านคุณภาพความปลอดภัยในการผลิตอาหาร หรือระบบ Trace Back

ระบบ Trace Back ถือเป็นกลไกการควบคุมคุณภาพสินค้าตลอดทั้งกระบวนการผลิต ตั้งแต่การตรวจสอบวัตถุดิบที่ป้อนเข้าโรงงาน การใช้สารปรุงแต่งอาหาร จุดควบคุมสำคัญในกระบวนการผลิต การตรวจสอบสินค้าก่อนออกจากโรงงาน และบัญชีการจัดจำหน่าย

ผู้ประกอบการผลิตจะต้องตั้งจุดควบคุมหลาย ๆ จุดในกระบวนการผลิต เพื่อเก็บบันทึกข้อมูล โดยอาจจะใช้ร่วมกับเทคโนโลยีบาร์โค้ด บาร์โค้ดสองมิติ (QR Code) และเทคโนโลยี FRID

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการผลิตจะต้องทำการบันทึกข้อมูล โดยจัดทำแฟ้มเอกสาร หรือแฟ้มอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และจะต้องเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้อย่างน้อย 2 ปี ในกรณีที่อายุสินค้าเกินกว่า 2 ปี จะต้องเก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีนับจากวันหมดอายุสินค้า

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในหลายปีมานี้ ผู้บริโภคในจีนต้องเผชิญภัยคุกคามด้านความปลอดภัยอาหารอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาครัฐต้องเพิ่มระดับความเข้มงวดกับผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปสินค้าให้มากขึ้น เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับผู้บริโภค

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้ามาลงทุนหรือส่งออกสินค้าเข้ามายังตลาดจีนแผ่นดินใหญ่จำเป็นต้องติดตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสินค้าให้มีความทันสมัย เพื่อสร้างความเชื่อถือและชื่อเสียงในสายตาของผู้บริโภคจีน (ที่มีแนวโน้มหันมาบริโภคสินค้านำเข้า)เพิ่มมากขึ้น

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน