กว่างซีคุมเข้ม ออกระเบียบควบคุมการใช้บัตรช็อปปิ้งและเว้าเชอร์ ป้องกันภาษีรั่วไหล
2 Jan 2013สำนักข่าวซินหัวเขตฯ กว่างซีจ้วง : ทางการกว่างซีออก “ระเบียบว่าด้วยการควบคุมบริหารจัดการบัตรเติมเงินเชิงพาณิชย์เพื่อจุดประสงค์เดี่ยว” (Single-Purpose Pre-paid Business Cards) ฉบับทดลอง ตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์จีน
บัตรเติมเงินเชิงพาณิชย์เพื่อจุดประสงค์เดี่ยว ครอบคลุมธุรกิจต่าง ๆ อาทิ ค้าปลีก ที่พัก ร้านอาหาร และการบริการอื่นๆ
ปัจจุบัน บัตรดังกล่าวได้รับนิยมแพร่หลายอย่างมาก อาทิ บัตรช็อปปิ้ง(แทนเงินสด) บัตรเสริมความงาม บัตรร้านตัดผม บัตรร้านทำเล็บ บัตรร้านรองเท้า บัตรซักแห้ง บัตรอาบอบนวด และบัตรล้างรถ เป็นต้น
หลายปีที่ผ่านมา บัตรเติมเงินดังกล่าวมีบทบาทสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย สร้างความสะดวกสบายในแง่ของการไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปนิยมพกพาบัตรดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในแง่ของหน่วยงานราชการ/วิสาหกิจก็มีการนำบัตรเติมเงินประเภทต่างๆ เป็นของรางวัลตอบแทน (แทนการจ่ายโบนัส) ให้กับพนักงานในหน่วยงาน/องค์กรของตนเองเช่นเดียวกัน
ทว่า บัตรดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาคอรัปชั่นในองค์กรธุรกิจ (การนำเงินส่วนกลางใช้จ่ายส่วนตัว การหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) รวมถึงปัญหาด้านสิทธิและความปลอดภัยของการใช้บัตร/ผู้ใช้บัตร (การจำกัดสิทธิผู้บริโภค การหนีหายของธุรกิจ/ผู้ออกบัตร)
ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จีนจึงได้ออกระเบียบฯ เพื่อใช้เป็นกลไกควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาข้างต้น อาทิ
สำหรับวิสาหกิจผู้ออกบัตร(ห้างร้านต่างๆ)จะต้องทำบันทึกกับหน่วยงานด้านการบริหารอุตสาหกรรมและการค้า (Administration for Industry and Commerce of Guangxi, 广西工商行政管理局) ล่วงหน้า 30 วันก่อนการดำเนินธุรกรรมเกี่ยวกับบัตรเติมเงิน
โดยจะต้องแจ้งรายละเอียดข้อมูล อาทิ ประเภทบัตรเติมเงิน ระบบการบริหารจัดการเงินฝาก สัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับบัตรกำนัล บัญชีบริหารเงินฝาก จำนวนบัตร และขั้นตอนการใช้เงิน เป็นต้น
ทั้งนี้ การทำบันทึกจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556
สำหรับลูกค้า(หน่วยงาน/องค์กรที่ซื้อบัตรฯ) มีการกำหนดสัดส่วนเงินทุนที่ต้องฝากเข้าบัญชีบริหารเงินฝากแบ่งเป็น…
(1) บัตรกำนัลทั่วไป ต้องมีเงินฝากในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของยอดเงินฝากล่วงหน้าคงเหลือในรอบไตรมาสก่อน
(2) บัตรกำนัลเฉพาะกลุ่มบริษัท (ใช้ได้เฉพาะในกลุ่มบริษัทที่กำหนด) ต้องมีเงินฝากในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของยอดเงินฝากล่วงหน้าคงเหลือในรอบไตรมาสก่อน และ
(3) บัตรกำนัลเฉพาะแบรนด์ (ใช้ได้เฉพาะแบรนด์ที่เข้าร่วมรายการ) ต้องมีเงินฝากในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของยอดเงินฝากล่วงหน้าคงเหลือในรอบไตรมาสก่อน
เพื่อเป็นการรักษาสิทธิผู้บริโภค ในระเบียบฯ อนุญาตให้วิสาหกิจที่ซื้อบัตรฯ ใช้เงินฝากล่วงหน้าเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันให้แก่บริษัทประกันหรือธนาคาร เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้ควบคุมตรวจสอบการใช้เงินทุนดังกล่าวตามสัดส่วนที่ีมีการตกลงกัน
หากมีการโยกย้ายหรือใช้เงินฝากดังกล่าวเกินบัญชี ธนาคารมีสิทธิปฏิเสธการดำเนินธุรกรรมดังกล่าว เพื่อรักษาสิทธิให้กับผู้ถือบัตรกำนัล
สำหรับผู้ถือบัตร (ผู้บริโภค) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) บัตรกำนัลที่มีการระบุชื่อผู้ถือบัตร (ไม่ได้รับความนิยม) ระบุให้ผู้ถือบัตรแสดงบัตรประจำตัวประชาชนก่อนใช้จ่ายทุกครั้ง มูลค่าเงินในบัตรกำนัลต้องไม่เกิน 5,000 หยวนต่อบัตร
(2) บัตรกำนัลที่ไม่มีการระบุชื่อผู้ถือบัตร หากมีการใช้จ่ายต่อครั้งเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 10,000 หยวนจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน มูลค่าเงินในบัตรกำนัลไม่เกิน 1,000 หยวนต่อบัตร
นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่า หากเป็นหน่วยงาน/วิสาหกิจซื้อบัตรกำนัลเป็นมูลค่ามากกว่า 5,000 หยวนต่อครั้ง หรือในนามบุคคลมีการซื้อบัตรกำนัลเป็นมูลค่ามากกว่า 50,000 หยวน หรือหน่วยงาน/วิสาหกิจหรือในนามบุคคลมีการซื้อบัตรกำนัลผ่านวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การไปซื้อที่วิสาหกิจผู้ออกบัตร จะต้องใช้วิธีการโอนเงินผ่านธนาคาร (ห้ามซื้อด้วยเงินสดโดยเด็ดขาด)
ท้ายที่สุด หากวิสาหกิจผู้ให้บริการจำเป็นต้องเลิกกิจการด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม จะต้องมีการประกาศแจ้งให้สังคมทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ผู้ถือบัตรมีเวลาสำหรับจัดการบัตรดังกล่าวตามสมควร