กว่างซีทวงบัลลังก์ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” งัดจุดแข็งใกล้ “อาเซียน”
1 Aug 2014สำนักข่าวซินหัวเขตฯ กว่างซีจ้วง : ผู้นำกว่างซีเผยแนวนโยบายพัฒนา “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” (Maritime Silk Road of the 21st Century) ซึ่งกำลังเป็นกระแสในมิติการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศจีน โดยเน้น “อาเซียน” เป็นศูนย์กลาง
รัฐบาลของมณฑลที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกจรดทางใต้ได้เร่งดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมแนวคิดดังกล่าวและผลักดันให้มณฑลของตนก้าวขึ้นเป็น “ประตู” ของเส้นทางสายไหมทางทะเลฯ รวมถึงเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
ในอดีตกาล เส้นทางสายไหมทางทะเล หมายถึง เส้นทางเดินเรือสำเภาที่พ่อค้าชาวจีนใช้เดินทางไปค้าขายกับต่างประเทศ โดยมีท่าเรือหลัก คือ ท่าเรือเมืองหนิงโปของมณฑลเจ้อเจียง ท่าเรือเมืองเฉวียนโจวของมณฑลฝูเจี้ยน และท่าเรือนครกว่างโจวของมณฑลกวางตุ้ง
สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง นับย้อนไป 2,000 กว่าปีก่อนในสมัยราชวงศ์ฮั่น พื้นที่เหอผู่นับเป็นหนึ่งในท่าเรือต้นทางของเส้นทางสายไหมทางทะเลที่ใช้ค้าขายกับพื้นที่เอเชียอาคเนย์ *พื้นที่เหอผู่ คือ อำเภอเหอผู่ (Hepu County, 合浦县) ของเมืองเป๋ยไห่ (Beihai City, 北海市) ในปัจจุบัน
กว่างซีได้รับการกำหนดตำแหน่งเป็น “ประตูสู่อาเซียน” (Gateway to ASEAN) ของประเทศจีน เพราะมีจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งติดอาเซียน ทั้งทางบก (เวียดนาม) และทางทะเล (อ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”)
จากบริบทข้างต้น ทางการกว่างซีได้กำหนดแนวนโยบายรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21
ในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้น ณ สำนักงานสารนิเทศประจำคณะมนตรีจีน ณ กรุงปักกิ่ง นายจาง เสี่ยว ชิน (Zhang Xiao Qin, 张晓钦) รองประธานเขตฯ กว่างซีจ้วง (เทียบเท่ารองผู้ว่าการมณฑล) ได้แถลงถึงแนวทางการทำงานของกว่างซี เพื่อพัฒนาบทบาทและจุดแข็งของกว่างซีบนยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลฯ ดังนี้
หนึ่ง พัฒนาโครงข่าย “ความเชื่อมโยง” (Connectivity) ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานกับชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อบูรณาการความเชื่อมโยงแบบมีมิติระหว่างจีนกับอาเซียนทั้งทางบก ทะเล อากาศ
ทางท่าเรือ (กลไกความร่วมมือระหว่างเมืองท่าเรือจีนกับอาเซียน เร่งเชื่อมโยงเมืองท่า 47 ท่าในอาเซียน) ทางถนน ทางราง (กรอบระเบียบเศรษฐกิจหนานหนิง-สิงคโปร์ และการเชื่อมโยงเส้นทางพื้นที่จีนตอนใน พื้นที่ PPRD กับภูมิภาคแหลมอินโดจีน) ทางอากาศ และทางเส้นใยแก้ว
สอง พัฒนากลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเลียบท่าเรือ โดยอาศัยรูปแบบ “นิคมคู่แฝด” ระหว่างประเทศคู่ภาคี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนและพัฒนาห่่วงโซ่อุทานข้ามชาติ (Supply Chain)
ผลงานที่ได้ดำเนินการแล้ว อาทิ นิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย และนิคมคู่แฝดในเมืองกวนตันของมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นรูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามชาติ เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าจีน–อินโดนีเซีย พื้นที่เขตสาธิตเกษตรสมัยใหม่จีน–กัมพูชา
นอกจากนี้ ทางการกว่างซีกำลังผลักดันโครงการความร่วมมืออีกหลายโครงการ อาทิ เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามชาติจีน-เวียดนาม (ในเมืองผิงเสียง และเมืองตงซิงของกว่างซี) และฐานสาธิตเมล็ดพันธุ์และกล้าพันธุ์จีน-ลาว
สาม พัฒนาศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ และระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)
ทางการกว่างซีกำลังพัฒนาศูนย์การค้าสินค้าจีน-อาเซียน การสร้างตลาดสินค้าเฉพาะขนาดใหญ่และนิคมโลจิสติกส์ โดยพัฒนาร่วมกับระบบ E-Commerce
ยกตัวอย่างเช่น เครือบริษัท Alibaba (เว็บไซต์บริการผู้ประกอบการอาเซียน และการลงทุนธุรกิจไปรษณีย์ในสิงคโปร์) บริษัท China Unicom (เปิดเว็บไซต์ B2B) เว็บไซต์ Baidu (การลงทุนศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านภาษาเอเชียในสิงคโปร์) และเว็บไซต์อื่นๆ
สี่ พัฒนาเขตทดลองการปฏิรูปภาคการเงินแบบบูรณาการในพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมืออย่างเสรีด้านการเงินสมัยใหม่
ปีที่แล้ว (ปี 56) ธนาคารประชาชนจีน (People Bank of China, 中国人民银行) และหน่วยงานรัฐบาลกลางรวม 11 หน่วยงานได้ร่วมอนุมัติให้กว่างซีสร้าง “เขตนำร่องการปฏิรูปการเงินตามแนวชายแดน” โดยเน้นนวัตกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ การพัฒนาตลาดทุนแบบหลายมิติ
การสนับสนุนให้สถาบันการเงินในอาเซียนนำเงินหยวนในต่างประเทศเข้าลงทุนในเขตนำร่องฯ ผ่านระบบการให้สินเชื่อ และสนับสนุนให้สถาบันการเงินจีนออกพันธบัตรเงินหยวนในประเทศสมาชิกอาเซียน
การผลักดันการพัฒนาระบบการชำระบัญชีแบบครบวงจรระหว่างจีนกับอาเซียน และการจัดตั้งศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์จีน-อาเซียน
ห้า พัฒนากลไกการแลกเปลี่ยนด้านมนุษยวิทยา ครอบคลุมด้านการศึกษา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนสองฝ่าย
ปัจจุบัน นักศึกษาจากอาเซียนที่ศึกษาอยู่ในกว่างซีมีจำนวนเกือบหมื่นคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแลกเปลี่ยนนักศึกษาฝ่ายละ 1 แสนคนของจีนกับอาเซียน
ปัจจุบัน กว่างซีกับอาเซียนมีการลงนามสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องแล้ว 38 คู่ (กับจังหวัดของไทย 8 คู่) ซึ่งจะช่วยพัฒนาต่อยอดสู่การจัดตั้ง “กลุ่มความร่วมมือเมืองมิตรภาพ” ระหว่างจีนกับอาเซียน การพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวทางทะเล การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการส่งเสริมความสัมพันธ์อันใกล้ชิดภาคประชาชน
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– กว่างซีจีบชาติอาซียนร่วมพัฒนา “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (21 พ.ค. 2557)
– Pan Beibu-Gulf มีมติร่วมสร้าง “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” (16 พ.ค. 2557)