“เทคโนโลยี คลัสเตอร์ และอีคอมเมิร์ช” Key Success ของธุรกิจขนนกอ่อนในเมืองกุ้ยก่างของกว่างซี

10 Jul 2014

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : เมืองกุ้ยก่างของกว่างซีใช้เวลาเกือบ 30 ปีในการพัฒนาอุตสาหกรรมขนนกอ่อน โดยผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาพื้นที่ศูนย์กลางการค้าผลิตภัณฑ์ขนนกอ่อน และการขยายช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ จนกระทั่งประสบความสำเร็จในปัจจุบัน

เขตก่างหนาน (Gangnan District, 港南区) ของเมืองกุ้ยก่าง (Guigang City, 贵港市) ของกว่างซีได้รับการขนานนามเป็น เมืองแห่งขนนกอ่อนของจีน หรือที่เรียกว่า ดาว์น (Down)

อุตสาหกรรมการผลิตขนนกอ่อน เป็นอุตสาหกรรมเก่าแก่ของเขตก่างหนาน เริ่มต้นขึ้นช่วงปี 1980 (พ.ศ.2523)

ปีนี้ เขตก่างหนานมีศักยภาพการแปรรูปขนนกอ่อนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 28 ของทั้งประเทศ และมากกว่าร้อยละ 22 ของทั้งโลก ผลิตภัณฑ์ขนนกอ่อนจำหน่ายไปไกลทั่วโลกถึงยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

พัฒนาการ 3 ขั้นของอุตสาหกรรมการแปรรูปขนนกอ่อนของเขตก่างหนาน มีความน่าสนใจ ดังนี้

ขั้นแรก : ปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต ยกระดับตัวเองจากพ่อค้าขายขนเป็ดในอดีต สู่ธุรกิจจำหน่ายขนนกอ่อนในปัจจุบัน

นายหยาง หัว (Yang Hua, 杨华) ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการค้าเขตก่างหนาน ให้ข้อมูลว่า ในอดีต การผลิตและแปรรูปขนนกอ่อนใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ธุรกิจในครอบครัวที่มีลักษณะการแปรรูปขั้นหยาบ ทำให้ผลผลิตที่ได้ขาดคุณภาพ แต่ปัจจุบัน อุตสาหกรรมดังกล่าวเริ่มพัฒนาไปสู่การแปรรูปขั้นสูง ธุรกิจได้ผลกำไรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 ของการแปรรูปขนนกอ่อนเป็นร้อยละ 8 ของการผลิตผลิตภัณฑ์ขนนกอ่อนสำเร็จรูป

นอกจากนี้ ทางการภาครัฐยื่นมือช่วยเหลือภาคธุรกิจในพื้นที่ขยายกำลังการผลิต นายหยาง ไห่ (Yang Hai, 杨海) เจ้าของกิจการขนนกอ่อน Shun Xing Down (顺星羽绒有限公司) อธิบายว่า เมื่อปี 2010 (พ.ศ. 2553) หน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นให้การสนับสนุนด้านการขยายพื้นที่โรงงานผลิตของตน และส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสายการผลิต ซึ่งช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์สูงขึ้น (Premium) ซึ่งจำหน่ายได้ราคาสูงขึ้น

มูลค่าการผลิตของกิจการเพิ่มขึ้นจาก 60 ล้านหยวนในปี 2010 (พ.ศ. 2553) เป็น 130 ล้านหยวนในปีที่ผ่านมา (ปี 2556) นอกจากนี้ ยังการพัฒนาระบบบำบัดน้ำหมุนเวียน" นายหยางฯ ให้ข้อมูล

     

ขั้นที่สอง : การก้าวขึ้นเป็น ผู้นำ อุตสาหกรรมการผลิตขนนกอ่อน สร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ จากผู้ค้ารายเดียวในอดีตสู่การรวมกลุ่ม (Cluster) ในปัจจุบัน

ผู้ประกอบการธุรกิจขนนกอ่อนมีการรวมกลุ่มจัดตั้งโซนพื้นที่ธุรกิจขนนกอ่อน โดยกำหนดตำแหน่ง (Positioning) เป็นฐานการแปรรูปวัตถุดิบขนนกอ่อนคุณภาพชั้นเยี่ยมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

โซนธุรกิจขนนกอ่อน เฟสแรก มีเนื้อที่ 3,270 หมู่จีน (ราว 1,362 ไร่) มูลค่าเงินลงทุน 3,800 ล้านหยวน แบ่งระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ภายหลังโครงการแล้วเสร็จจะสร้างมูลค่าการผลิตได้ 5,000 ล้านหยวน สามารถรองรับกิจการขนาดใหญ่ได้มากกว่า 30 แห่ง และสร้างตำแหน่งงานได้มากกว่า 20,000 ตำแหน่ง

โซนธุรกิจดังกล่าวเป็นแหล่งรวมศูนย์ธุรกิจขนนกอ่อน และมีบทบาทสำคัญในการสร้างแบรนด์ รวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ปัจจุบัน ระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในโซนธุรกิจแห่งนี้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วบางส่วน มีวิสาหกิจเข้าจัดตั้งกิจการแล้ว 10 ราย อีก 25 รายได้ลงนามสัญญาเรียบร้อย

นายหลัว ซ่าง หมิน (Luo Shang Min, 罗尚民) เลขาธิการพรรคฯ ประจำเขตก่างหนาน ให้ข้อมูลว่า ทางการมีการจัดสรรงบประมาณปีละกว่า 2 ล้านหยวนสำหรับจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมขนนกอ่อน เพื่อใช้สนับสนุนการพัฒนาแผนงานรวมกลุ่มพื้นที่อุตสาหกรรมขนนกอ่อน (การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่อุตสาหกรรม)

โซนธุรกิจดังกล่าวกำลังจะก้าวขึ้นเป็น ผู้นำ ในอุตสาหกรรมการผลิตขนนกอ่อนแล้ว

 

ขั้นที่สาม : โกอินเตอร์ (ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ) ขยายช่องทางการค้าให้เกิดความหลายหลายจาก ออฟไลน์ (หน้าร้าน) ในอดีตสู่ ออนไลน์ ในปัจจุบัน

ผลิตภัณฑ์ขนนกอ่อนที่ผลิตจากเขตก่างหนานถูกส่งไปจำหน่ายทั่วโลก ทั้งในตลาดยุโรปอเมริกา และเอเชีย

ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้ บริษัท Guigang Jinhong Down Products (贵港金弘羽绒制品有限公司) มีการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนอนไปจำหน่ายไกลถึงยุโรปและอเมริกา แต่ผลกระทบจากวิกฤตหนี้สินในยุโรป  ทำให้บริษัทฯ ปรับกลยุทธ์หันมาขยายตลาดในอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้แทน ทำให้มูลค่าการผลิตในปี 2555 ที่ร่วงลงเกือบร้อยละ 20 กลับมาเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 30 ในปี 2556

กลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้มูลค่าการผลิตของบริษัทฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจจาก การค้าออฟไลน์ สู่ การค้าออนไลน์ ผ่านตลาดอนุพันธ์ (Commodity Exchange) ในนามบริษัทแม่ในมณฑลเจ้อเจียง Hangzhou New Tangboyang Down (杭州新塘渤洋羽绒有限公司) และเว็บซื้อขายออนไลน์  ซึ่งถือเป็นต้นแบบให้กับกิจการขนนกในพื้นที่

นายหยาง ย่า จวิ้น (Yang Ya Jun, 杨亚俊) ผู้อำนวยการเขตก่างหนาน (เทียบเท่านายอำเภอ) ให้ข้อมูลว่า  “ธุรกิจขนนกอ่อนในเขตก่างหนานมีความร่วมมือกับตลาดอนุพันธ์ป๋อไห่ (Bohai Commodity Exchange, 渤海商品交易所) โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เป็นเวทีในการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปทั่วโลก โดยขณะนี้ มีธุรกิจ 6 รายได้ลงนามสัญญาความร่วมมือเป็นที่เรียบร้อย

BIC เห็นว่า การพัฒนาเทคโนโลยี การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ และการขยายช่องทางจำหน่ายผ่านระบบอีคอมเมิร์ช เป็นกุญแจความสำเร็จในการประกอบธุรกิจซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้เป็นแนวทางสำหรับการบุกตลาดจีนแผ่นดินใหญ่

ตลาดจีน….ใหญ่ แต่ไม่หมู!!!

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน