รู้จักเมืองจงซาน แหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้แดงแนวหน้าของจีน
3 May 2023เมืองจงซานตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำจูเจียงทางตอนกลางเฉียงใต้ของเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta: PRD) โดยมีพื้นที่ด้านเหนือติดกับนครกว่างโจว อยู่ใกล้เมืองฮ่องกงและมาเก๊า มีพื้นที่ราว 1,784 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรราว 4.47 ล้านคน เดิมเมืองจงซานชื่อว่า ‘เซียงซาน’ ที่หมายถึงขุนเขาที่มีกลิ่นหอม เพราะมีไม้หอมหรือไม้กฤษณาเติบโตอยู่ในเขตดังกล่าว แต่ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น ‘จงซาน’ ในปี 2468 เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร. ซุน ยัตเซ็น ผู้ได้รับการขนานนามเป็นบิดาแห่งการปฏิวัติชาติจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักในจีนด้วยชื่อ ซุน จงซาน เนื่องจาก ดร. ซุน ยัตเซ็น มีบ้านเกิดอยู่ที่หมู่บ้านชุ่ยเฮิง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เมืองจงซานนั่นเอง
เมื่อปี 2565 เมืองจงซานมีมูลค่า GDP 3.631 แสนล้านหยวน (ราว 5.268 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค 1.593 แสนล้านหยวน (ราว 2.311 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการค้ากับต่างประเทศ 279,800 ล้านหยวน (ราว 40,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยายตัวร้อยละ 1.9 ทั้งนี้ ในปี 2566 เมืองจงซานตั้งเป้าหมายการขยายตัวของ GDP ของเมืองที่ร้อยละ 5
ภาพรวมอุตสาหกรรม
โดยภาพรวม GDP เมืองจงซานขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมบริการเป็นหลัก โดยอุตสาหกรรมเกษตรมีสัดส่วนต่อ GDP ค่อนข้างน้อย
ที่ผ่านมา เมืองจงซานมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมหลายสาขา รวมไปถึงเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์แสงไฟ เฟอร์นิเจอร์ และฮาร์ดแวร์ โดยปัจจุบันเมืองจงซานตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ในครัวเรือนอันครบวงจร ทั้งยังเป็นฐานการผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องใช้ในครัวเรือนของจีนหลายราย เช่น บริษัท TCL และ Midea สำหรับอุตสาหกรรมด้านอุปกรณ์แสงไฟ ตำบลกู่เจิ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองก็ได้ชื่อเป็น ‘เมืองหลวงอุปกรณ์แสงไฟของจีน’ ส่วนภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้น เมืองจงซานเป็นที่รู้จักในด้านการเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าเดนิมและเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยตำบลต้าชงได้ชื่อเป็น ‘เมืองเสื้อผ้าคาวบอยของจีน’ นอกจากนี้ ตำบลต้าชงยังได้รับขนานนามว่าเป็น ‘เมืองหลวงเฟอร์นิเจอร์ไม้แดงของจีน’ อีกด้วย
เมืองแห่งเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดง
เมืองจงซานเป็นแหล่งผลิตเครื่องเรือนด้วยไม้เนื้อแดงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง โดยภายหลังได้กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของเมืองจงซาน อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงของเมืองจงซานเริ่มพัฒนาอย่างจริงจังเมื่อช่วงต้นปี ค.ศ. 1970 จนปัจจุบันได้พัฒนาเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มีความชำนาญและทันสมัย และจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงไปยังทั่วภูมิภาคของจีน ตลอดจนส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฝรั่งเศส แคนาดา ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเมืองฮ่องกงและมาเก๊าอีกด้วย
เมืองจงซานเป็นที่ตั้งของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงที่สำคัญ โดยมีฐานอุตสาหกรรมกระจายอยู่ในพื้นที่ของเมืองจงซาน ได้แก่ ศูนย์การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงที่ใหญ่ที่สุดในจีนตั้งอยู่ที่ตำบลต้าชง ตลาดค้าส่งเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงที่ใหญ่ที่สุดในจีนที่ตำบลซาซี และศูนย์กระจายสินค้าเฟอร์นิเจอร์โบราณสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงที่ใหญ่ที่สุดในจีนที่ตำบลซานเซียง โดยตำบลต้าชงเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงที่มีห่วงโซ่อุตสาหกรรมครบวงจรที่สุดในจีน ปัจจุบัน เมืองจงซานมีบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ในตำบลกว่า 800 ราย นอกจากนี้ ยังมุ่งหน้าสร้างแพลตฟอร์มบริการอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการทางเทคโนโลยี ออกแบบ ตรวจสอบข้อมูลบุคลากร และคุ้มครองทางกฎหมาย รวมถึงบริการด้านอื่น ๆ แก่วิสาหกิจอย่างรอบด้านอีกด้วย
เมืองจงซานยังได้สร้างพื้นที่ ‘ระเบียงเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงสิบลี้’ หรือแหล่งรวมตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงครบวงจรที่มีชื่อเสียงของจีน ในพื้นที่ดังกล่าวรวบรวมตั้งแต่ศูนย์จัดแสดงวัฒนธรรมไม้เนื้อแดงต้าชง ตลาดเฟอร์นิเจอร์นานาชาติอิ๋งเหลียนฮุ่ย ตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงต้าถัง ศูนย์จัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงหลงตู ศูนย์ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงหลงตู เมืองเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดงจินหลง ศูนย์ไม้เนื้อแดงจงเฟย เป็นต้น ทั้งนี้ ไม้เนื้อแดงที่ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์นั้นนำเข้าจากแอฟริกา บราซิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ เป็นหลัก
แหล่งไม้หอมกฤษณา
เล่ากันว่า ‘เซียงซาน’ ชื่อเดิมของเมืองจงซาน ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ‘ภูเขาหอม’ นั้น มีที่มาจากเขาอู่กุ้ยในเมืองจงซานซึ่งเป็นแหล่งพืชพรรณดอกไม้มากมาย โดยหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในเขาอู่กุ้ย คือ ‘ไม้กฤษณา’ ซึ่งมีตำนานเล่าขานว่าในสมัยโบราณเมืองเซียงซานจะมีกลิ่นหอมของไม้กฤษณาไปไกลหลายสิบลี้
ข้อมูลจากสำนักทรัพยากรธรรมชาติเมืองจงซานระบุว่า เมืองจงซานมีต้นกฤษณาป่ากระจายอยู่ตามธรรมชาติกว่า 4 หมื่นต้น คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของจำนวนต้นกฤษณาป่าทั้งหมดของจีน เมื่อรวมกับจำนวนต้นกฤษณาที่มีการเพาะปลูกจะมีจำนวนราว 6 ล้านต้น โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไม้กฤษณาในเมืองจงซานยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางทรัพยากรและพื้นฐานอุตสาหกรรมที่มีอย่างเต็มที่มากนัก รวมถึงยังไม่มีระบบตรวจสอบมาตรฐานไม้กฤษณาที่ดีพอ ส่งผลให้ยังขาดสินค้าที่มีศักยภาพที่จะแข่งขันในตลาด อย่างไรก็ดี ปัจจุบันห่วงโซ่อุตสาหกรรมซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเพาะปลูก การวิจัย การแปรรูป การจัดจำหน่าย ไปจนถึงการเชื่อมโยงกับคุณค่าด้านวัฒนธรรมได้เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในเมืองจงซานแล้ว ขณะเดียวกัน เมืองจงซานยังได้เริ่มผลิตสินค้าแปรรูปจากไม้กฤษณา เช่น ชาไม้กฤษณา สุราไม้กฤษณา และน้ำมันหอมระเหยไม้กฤษณาจำหน่ายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน ทั้งนี้ เมืองจงซานยังมีแผนที่จะบูรณาการอุตสาหกรรมไม้กฤษณากับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแดง เพื่อส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาของอุตสาหกรรมทั้งสองไปพร้อมกันอีกด้วย
พรีรษา โฆษิตวิชญ เขียน
26 เมษายน 2566
แหล่งที่มาข้อมูล
http://stats.zs.gov.cn/zwgk/tjxx/tjzl/content/post_2220271.html
http://stats.zs.gov.cn/zwgk/tjxx/tjzl/content/post_2254888.html
http://stats.zs.gov.cn/zwgk/tjxx/tjzl/content/post_2222537.html
https://research.hktdc.com/en/data-and-profiles/mcpc/provinces/guangdong/zhongshan
https://news.ycwb.com/2023-03/15/content_51819213.htm
https://baike.baidu.com/item/%E4%B8%AD%E5%B1%B1%E7%BA%A2%E6%9C%A8%E5%AE%B6%E5%85%B7%E5%B8%82%E5%9C%BA/8867132?fr=aladdin
https://www.bayarea.gov.hk/en/about/zhongshan.html
http://www.zsnews.cn/news/index/view/cateid/35/id/692075.html?platform=mobile
https://k.sina.cn/article_1830131237_6d15962501900qiy3.html
“Rosewood: Endangered Species Conservation and The Rise of Global China” by Annah Lake Zhu