ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเขต YRD ในจีนและบทบาทสำคัญกับไทย (ตอนจบ)
8 Oct 2021หลังจากได้กล่าวถึงศักยภาพโดยรวมด้านเศรษฐกิจและการค้าของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีหรือ Yangzte River Delta (YRD) ไปแล้วในบทความตอนแรก ในตอนนี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย – จีนและไทย – YRD เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของเขต YRD ที่มีต่อภาคการค้าไทย – จีน
การค้าไทย – จีนช่วงครึ่งแรกปี 2564 ขยายตัว
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า
1. มูลค่าการค้าไทย – จีนเท่ากับ 62,482.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแม้จะขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 37.8 อย่างไรก็ดี ไทยยังขาดดุลการค้ากับจีน 2,396.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจากสินค้า 5 อันดับแรกข้างต้นจะเห็นได้ว่า ประเภทสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยเป็นหลัก ได้แก่ กลุ่มสินค้าเทคโนโลยี ผลไม้สด และกลุ่มสินค้ายาง
2. หากวิเคราะห์มูลค่าการค้าจีน – อาเซียนแบบทวิภาคีใน 5 อันดับแรกจะพบว่า มูลค่าการค้าจีน – เวียดนามเป็นอันดับที่ 1 (112,181.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการค้าจีน – มาเลเซียเป็นอันดับที่ 2 (81,567.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการค้าจีน – ไทยเป็นอันดับที่ 3 (62,482.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการค้าจีน – อินโดนีเซียเป็นอันดับที่ 4 (53,528.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการค้าจีน – สิงคโปร์เป็นอันดับที่ 5 (44,230.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
การค้าไทย – YRD คิดเป็น 1 ใน 3 ของการค้าไทย – จีน
จากฐานข้อมูลของศุลกากรจีนพบว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับแต่ละพื้นที่ของเขต YRD (เซี่ยงไฮ้ เจียงซู เจ้อเจียง และอานฮุย) ล้วนขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า
1. มูลค่าการค้าไทย – YRD เท่ากับ 22,997.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.6 ของมูลค่าการค้าไทย – จีนทั้งหมด ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 39.5 (ขยายตัวมากกว่าการค้าไทย – จีนภาพรวม) โดยจากสินค้า 5 อันดับแรกข้างต้นจะเห็นได้ว่า ประเภทสินค้าที่เขต YRD นำเข้าจากไทยเป็นหลัก ได้แก่ กลุ่มสินค้าเทคโนโลยี กลุ่มพลาสติก กลุ่มอุปกรณ์เครื่องจักรกล และผลไม้สด
2. จากการวิเคราะห์สถิตินำเข้าย้อนหลังช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผลไม้สดไม่เคยจัดอยู่ในสินค้า 5 อันดับแรกที่เขต YRD นำเข้าจากไทย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี ยางสังเคราะห์ และกลุ่มพลาสติก อย่างไรก็ดี ช่วงครึ่งแรกปี 2564 เขต YRD นำเข้าผลไม้สดจากไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึง 17 เท่า สะท้อนว่าฐานการนำเข้าผลไม้ไทยของจีนได้เริ่มปรับเปลี่ยนจากเดิมที่มักจะเป็นพื้นที่ตอนใต้ของจีนมาเป็นพื้นที่ YRD ทั้งนี้ ผู้บริโภคในเขต YRD ซึ่งมีกำลังซื้อสูงต่างรู้จักและนิยมบริโภคผลไม้สดของไทยมากขึ้น ดังนั้นผลไม้สดยังคงเป็นสินค้าเป้าหมายที่สำคัญในเขต YRD
4 พื้นที่ 4 ความโดดเด่น.. ไทยควรเน้นจับมือ YRD
แต่ละพื้นที่ในเขต YRD มีบทบาทความสำคัญที่โดดเด่นต่างกัน ดังนี้
1. เซี่ยงไฮ้: เป็นศูนย์กลางด้านการเงิน และเปิดกว้างสู่สากลในด้านธุรกิจการค้าและการลงทุน รวมถึงมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมยา
2. เจียงซู: มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัย โดยเฉพาะสินค้าและอุปกรณ์ในภาคอุตสาหกรรม อาทิ วงจรรวม เหล็ก อุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า และเส้นใยสังเคราะห์ เป็นต้น
3. เจ้อเจียง: มีความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นศูนย์กลางด้าน E-commerce และศูนย์กลางกระจายสินค้าเบ็ดเตล็ด
4. อานฮุย: เป็นหนึ่งในฐานการผลิตด้านเกษตรกรรมที่สำคัญระดับแนวหน้าของจีน และยังโดดเด่นด้านการสร้างสรรค์ วทน. อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ และจอภาพ LED เป็นต้น โดยนครเหอเฝยได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 4 “Comprehensive National Science Center” ของจีน (เซี่ยงไฮ้ เหอเฝย ปักกิ่ง และเซินเจิ้น)
ด้วยศักยภาพข้างต้นของเขต YRD กอปรกับสถิติที่สะท้อนว่าเขต YRD มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนและความสัมพันธ์ไทย – จีน รวมถึงเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติโดยรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการบูรณาการเขต YRD ด้วยเหตุนี้ เขต YRD จึงนับเป็นพื้นที่ที่คงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินยุทธศาสตร์ของประเทศไทยโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ดังนั้น เพื่อให้เกิดผลความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากขึ้น นอกจากจะไทยพิจารณามีความร่วมมือกับเซี่ยงไฮ้ เจียงซู เจ้อเจียง และอานฮุยเป็นรายเมือง/ มณฑลแล้ว ยังควรร่วมมือในลักษณะภาพรวมกับเขต YRD ซึ่งในเชิงยุทธศาสตร์แล้วการรวมกลุ่มในลักษณะคลัสเตอร์จะมีความสมน้ำสมเนื้อกับกลุ่มจังหวัดของไทย เช่น EEC
*****************************
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง ฐานข้อมูลของศุลกากรจีน