ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) หัวใจสำคัญสู่ “ผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล” ของมณฑลเจ้อเจียง
6 May 2022เป็นที่ทราบกันดีว่า เจ้อเจียงเป็นมณฑลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจระดับต้น ๆ ของจีน มีขนาด GDP ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของจีน (รองจากกวางตุ้ง เจียงซู และซานตง) อีกทั้งเป็น “ฮับด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน” ซึ่งรัฐบาลเจ้อเจียงตั้งเป้าหมายการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล (Digitalization) ในทุกด้านภายในปี 2565 โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย คือ การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นตัวขับเคลื่อน
เป้าหมายพัฒนาปี 2565.. สู่ความเป็นดิจิทัลรอบด้าน
ปัจจุบัน เศรษฐกิจดิจิทัลเป็น “No.1 Project” ของมณฑลเจ้อเจียง โดยจากแผนการทำงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพของเจ้อเจียงประจำปี 2565 พบว่า เจ้อเจียงได้ตั้งเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ
– รักษามาตรฐานการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวมของเจ้อเจียงให้คงอยู่ในระดับแนวหน้าของจีน[1] ร่วมกับนครเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจียงซูในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangzte River Delta: YRD)
– กระตุ้นให้มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมสำคัญในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลทะลุยอด 900,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 12 (ปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มฯ เท่ากับ 834,800 ล้านหยวน)
– จัดสรรงบประมาณการวิจัยและพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมสำคัญในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.1 ในมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมฯ
– กระตุ้นให้การค้าทางดิจิทัล (Digital Trade) มีมูลค่าทะลุยอด 600,000 ล้านหยวน (ปี 2564 มีมูลค่าเท่ากับ 527,900 ล้านหยวน) โดยเร่งการพัฒนาให้เจ้อเจียงเป็นศูนย์กลางการค้าทางดิจิทัลระดับโลก
– เสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการป้องกันความปลอดภัยทางดิจิทัล วงจรรวม การประมวลผลอัจฉริยะ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าโซลาร์เซลล์อัจฉริยะ รวมถึงกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ คอมพิวเตอร์ทำงานคล้ายสมอง (brain-like computer) และข้อมูลควอนตัม เป็นต้น
– ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรม high-end services 7 ด้าน ได้แก่ (1) Information Technology Services (2) Research & Development (3) Digital Trade (4) Modern Logistics (5) Modern Finance (6) Digital Cultural Tourism และ (7) Life Health Services
ประยุกต์ใช้ดิจิทัล.. ผลักดันการสร้างเขตสาธิต Common Prosperity เจ้อเจียง
นับตั้งแต่เจ้อเจียงได้รับการสนับสนุนให้สร้างเป็นเขตสาธิต “ความรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity)” ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับชาติที่บรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021 – 2025) เป็นต้นมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเจ้อเจียงได้พยายามคิดแผนปฏิบัติงานและมาตรการต่าง ๆ เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ ก่อเกิดเป็นโครงสร้างสังคมที่มีกลุ่มชนชั้นกลางในสัดส่วนที่สูง[2] โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การประยุกต์ใช้ดิจิทัลในภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ปัจจุบัน หลายภาคส่วนในชนบทของเจ้อเจียงได้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับรายได้ของประชาชนแล้ว โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ อาทิ
– การติดชิปดิจิทัลบนใบหูแกะในสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะหูหยางของเมืองหูโจว โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนี้ได้ช่วยให้ทราบข้อมูลการเลี้ยงแกะในฟาร์มได้แบบเรียลไทม์ เพิ่มจำนวนเพาะเลี้ยงได้มากยิ่งขึ้นในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้สวนอุตสาหกรรมดังกล่าวนอกจากจะช่วยสร้างงานให้แก่เกษตรกรในพื้นที่แล้ว ยังได้อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยรับเลี้ยงแกะให้แก่ครอบครัวผู้ยากไร้เกือบ 20 ครอบครัวในพื้นที่โดยรอบสวนด้วย ซึ่งคาดว่าช่วยเพิ่มรายได้ให้แต่ละครอบครัวเฉลี่ยปีละ 16,000 หยวน
ทั้งนี้ ภายใต้การผลักดันการประยุกต์ใช้ดิจิทัลอย่างต่อเนื่องของเจ้อเจียงยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวมด้วย โดยจากสถิติในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 พบว่า อุตสาหกรรมสำคัญในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่าเพิ่มขยายตัวจากไตรมาสแรกปี 2564 ร้อยละ 8.1 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงมีมูลค่าเพิ่ม 335,300 ล้านหยวน ขยายตัวจากไตรมาสแรกปี 2564 ร้อยละ 11.7
เทคโนโลยีการค้าทางดิจิทัล.. ศักยภาพ “แนวหน้า” ระดับโลก
นครหางโจวเป็นศูนย์กลางด้านการค้าดิจิทัลที่สำคัญที่สุดของมณฑลเจ้อเจียง โดยมีปัจจัยหนึ่งมาจากแรงขับเคลื่อนของ Alibaba Group (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครหางโจว) ล่าสุดหางโจวอยู่ระหว่างเตรียมจัดงาน “The First Global Digital Trade Expo (GDTE)” และ “The First Global Digital Ecosystem Conference 2022” หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 คลี่คลายลงแล้ว (เดิมมีกำหนดจัดงานระหว่าง 24 – 27 มีนาคม 2565) ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการจัดงานที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัลขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของการค้าดิจิทัลโดยการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่แข็งแกร่ง อีกทั้งเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความร่วมมือระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ การที่เจ้อเจียงเป็นเจ้าภาพในการจัดงานดังกล่าวได้สะท้อนให้เห้นถึงความพร้อมในด้านการพัฒนาการค้าทางดิจิทัลเป็นอย่างดี โดยปัจจุบันเจ้อเจียงมีตัวอย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยีการค้าทางดิจิทัลที่น่าสนใจ ดังนี้
– การเปิด “Blockchain Digital Copyright and Asset-Trade” ของ Alibaba Group ซึ่งเป็นตลาดเหรียญดิจิทัลแบบเฉพาะตัว (Non-Fungible Token: NFT) แห่งใหม่ที่อนุญาตให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถขายทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบของเหรียญดิจิทัลได้ โดยสามารถใช้งานได้ผ่านแพลตฟอร์มประมูลของ Alibaba ที่ถูกสร้างบนพื้นฐานของ Blockchain ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์
– การสร้างแพลตฟอร์ม “One Stop Service” สำหรับการค้าดิจิทัลของเมืองเวินโจว เพื่อช่วยเหลือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของ SMEs (SMEs’ transformation) โดยการให้บริการต่าง ๆ บนระบบคลาวด์ ช่วยให้กลุ่ม SMEs สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้จากทุกที่ อาทิ การลงทะเบียนเชิงพาณิชย์ การรับรองคุณสมบัติของผู้ให้บริการ การแจ้งและดำเนินการทางภาษีศุลกากรผ่านระบบออนไลน์ และการจัดให้มีโปรแกรมพื้นฐานรองรับธุรกิจการค้า (ระบบจัดการคลังสินค้า) เป็นต้น ซึ่งนับเป็นการขยายขอบเขตบริการสำหรับการค้ากับต่างประเทศในรูปแบบใหม่
เทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะ.. เตรียมก้าวสู่อุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต
ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา มณฑลเจ้อเจียงได้สร้างแรงจูงใจให้โรงงานต่าง ๆ ใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์แทนที่งาน ในกระบวนการเรียบง่าย ซ้ำซาก และมีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งทำให้ปัจจุบันเจ้อเจียงเป็นมณฑลที่มีอัตราการแปลงทางอุตสาหกรรมสู่ความเป็นดิจิทัลสูงที่สุดในจีน ทั้งนี้ เมื่อกรกฎาคม 2564 มณฑลเจ้อเจียงได้มีแผนงานพัฒนา “อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Industries of the Future : IOF)”[3] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดกลุ่มธุรกิจที่มีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมหนัก ตลอดจนบริษัท hi-tech ชั้นนำของโลกเข้าลงทุนในบริเวณอ่าวหางโจว ปัจจุบันเจ้อเจียงมีตัวอย่างอุตสาหกรรมอัจฉริยะและการวิจัยเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต ดังนี้
– โรงงานอัจฉริยะของ Zhejiang Geely Holding Group Co., Ltd.
ซึ่งเป็น Global Mobility Technology Group ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครหางโจว โดยภายในโรงงานมีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี 5G MEC (Mobile Edge Computing) Cloud Computing และ Big Data ผสานรวมผลิตภัณฑ์ high-end มูลค่าสูง ประสิทธิภาพสูง ระบบ 5G อัจฉริยะ “Industry 4.0” และเครือข่ายทรัพยากรทางเทคโนโลยีทั่วโลกเพื่อใช้ผลิตยานยนต์อัจฉริยะ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยในด้านพลังงานใหม่ การขับขี่อัตโนมัติ ชิปบนเครื่องบิน ดาวเทียมโคจรต่ำ และการสื่อสารด้วยเลเซอร์ เป็นต้น
– การเปิดตัว Superconducting quantum chips ตัวใหม่ของศูนย์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมนานาชาติหางโจว มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง โดยบรรลุความก้าวหน้าครั้งใหม่ในตัวชี้วัดหลักของชิป “Tianmu No. 1” ที่มุ่งเน้นการคำนวณควอนตัมอเนกประสงค์ และใช้สถาปัตยกรรมการเชื่อมต่อที่ขยายได้ค่อนข้างง่าย ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับชิป “Mogan No. 1” (ตัวเดิม) แล้วนั้น ชิป “Tianmu No. 1” จะมีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากกว่า อีกทั้งมีความยืดหยุ่นในการเขียนโปรแกรมที่ปฏิบัติการอัลกอริทึมควอนตัมประเภทต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงสามารถนำไปใช้กับสาขาการวิจัยได้มากยิ่งขึ้นด้วย
– เทคโนโลยีควอนตัมของบริษัท Zhejiang Jiuzhou Quantum Information Technology Co., Ltd. ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้ร่วมมือวิจัยกับ China Unicom และ United Nations Network Xiong’an New Area Power Supply Company ในการสร้างแพลตฟอร์ม Quantum Key Distribution (QKD) เพื่อทำให้ระบบใน Xiong’an New Area (ตั้งอยู่ในมณฑลเหอเป่ย อยู่ใกล้กับปักกิ่งและเทียนจิน) สามารถให้บริการความปลอดภัยของควอนตัมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
จับมือไทย – เจ้อเจียง.. บรรลุเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
ปัจจุบัน ไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นกัน โดยจากผลสำรวจรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Google, Temasek และ Bain & Company พบว่า ในปี 2564 ไทยมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย) ขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 51 โดยแบ่งเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยที่มีการเติบโตออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สื่อออนไลน์ การขนส่ง/ บริการส่งอาหารออนไลน์ และการท่องเที่ยวออนไลน์
นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2565) โดยกำหนดให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทยภายใต้ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมี 4 ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติการ ได้แก่ (1) การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศและการค้าพรมแดน (2) การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (3) การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (4) การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจจากเจ้อเจียงนับเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจจีนที่เข้าลงทุนไทยในสูงเป็นอันดับต้น โดยตัวอย่างบริษัทที่เข้าลงทุนแล้วในไทย อาทิ บริษัท Holley Group (ลงทุนในสาขาพลังงานไฟฟ้า/ นิคมอุตสาหกรรม) บริษัท Zhongce Rubber (ผลิตยางรถยนต์) บริษัท Futong Group (ผลิตสายส่งสัญญาณโทรคมนาคม) และบริษัท Dun An (ผลิตอะไหล่เครื่องทำความเย็น) เป็นต้น ซึ่งสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่จะยังคงเป็นการลงทุนในสาขาการผลิตเป็นสำคัญ อนึ่ง แม้ว่ารัฐบาลไทยจะได้สร้างความร่วมมือกับ Alibaba Group เพื่อพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในไทยแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี เนื่องจากเจ้อเจียงเป็นมณฑลที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลระดับแนวหน้าของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีการค้า
ทางดิจิทัล และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต จึงนับเป็นมณฑลหนึ่งที่ไทยสามารถพยายามบุกเบิกและขยายความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจด้านดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยส่งเสริมให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตามที่กล่าวในข้างต้นได้เช่นกัน
อนึ่ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนของมณฑลเจ้อเจียงนั้น นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวม ซึ่งไทยควรพยายามเร่งผลักดันและสนับสนุนด้านดังกล่าวด้วยเช่นกัน
***************
จัดทำโดย นางสาวณัฐธิดา นิสภกุลชัย
เรียบเรียงโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง:
- https://m.thepaper.cn หัวข้อ浙江省印发《浙江省高质量推进数字经济发展2022年工作要点》วันที่ 28 มีนาคม 2565
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ “数字星火”点亮浙江探索共同富裕之路 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565
- http://news.sohu.com หัวข้อ 8.1%!2022年一季度浙江省工业和数字经济运行情况发布 วันที่ 27 เมษายน 2565
- www.scmp.com หัวข้อ E-commerce giant Alibaba’s home province wants to become a global digital trade hub by 2025
วันที่ 30 มิถุนายน 2564 - www.gdte.org.cn หัวข้อ Digital Trade Empowers Common Prosperity Forum was held วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565
- www.scmp.com หัวข้อ Alibaba’s new blockchain auction platform is selling Star Wars art on a ledger run by Sichuan’s government วันที่ 17 สิงหาคม 2564
- https://t.ynet.cn หัวข้อ 稳畅并举 浙江温州鹿城助力外贸企业“破壁” วันที่ 20 เมษายน 2565
- https://supchina.com หัวข้อ Zhejiang has a plan for the “factory of the future” วันที่ 26 เมษายน 2565
- https://inf.news หัวข้อ Zhejiang University releases two key indicators of superconducting quantum chips to achieve new breakthroughs วันที่ 29 เมษายน 2565
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ雄安新区成立五周年,九州量子助力其打造量子技术应用示范区 วันที่ 18 เมษายน 2565
[1] จากรายงานดัชนีการพัฒนาความเป็นดิจิทัลในภูมิภาคจีนประจำปี 2564 พบว่า 5 ภูมิภาคที่มีมาตรฐานการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลระดับสูง ได้แก่ กวางตุ้ง เจียงซู เจ้อเจียง ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้
[2] คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนามณฑลเจ้อเจียงตั้งเป้าหมายว่า เมื่อถึงปี ค.ศ. 2025 จะมีครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 100,000 – 500,000 หยวน (ครอบครัวชนชั้นกลาง) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของครอบครัวทั้งในเจ้อเจียง
[3] กลุ่มวิสาหกิจการผลิตอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ผสมผสานเข้ากับการผลิตขั้นสูง