“อานฮุย” น้องใหม่ไฟแรงในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (YRD)
28 Jan 2022เมื่อพูดถึงมณฑลอานฮุย หลายท่านอาจยังไม่คุ้นหูมากนักทั้ง ๆ ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) หรือเคยได้ยินแต่รู้สึกว่ายังเป็นมณฑลที่การพัฒนาเศรษฐกิจไม่โดดเด่นมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วอานฮุยมีมาตรฐานเศรษฐกิจเกือบเท่าประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว!! และมีความสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมติด 1 ใน 10 ของจีน
ทำลายสถิติใหม่.. ไฟแรงไม่น้อยหน้า
เริ่มต้นปี 2565 มาได้ช่วงหนึ่ง หลายพื้นที่ในจีนอยู่ระหว่างสรุปผลการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา โดยมณฑลอานฮุยได้คาดการณ์ว่า GDP ของปี 2564 จะนำหน้าเซี่ยงไฮ้ และมีอันดับติด 1 ใน 10 มณฑลที่มี GDP สูงสุดของจีนจาก 31 มณฑล[1] เป็นครั้งแรก ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มณฑลอานฮุยเป็นพื้นที่ที่มี GDP น้อยที่สุดในเขต YRD รองจากเจียงซู เจ้อเจียง และเซี่ยงไฮ้ ตามลำดับ แต่เมื่อถึงช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 แล้วนั้น GDP ของอานฮุยกลับก้าวขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ของเขต YRD โดยนำหน้า GDP ของเซี่ยงไฮ้ถึง 1 แสนล้านหยวน[2]
เมื่อ 21 มกราคม 2565 รัฐบาลมณฑลอานฮุยได้ประกาศผลการพัฒนาเศรษฐกิจว่า ปี 2564 อานฮุยมี GDP รวม 4.29 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ GDP ทะลุยอด 4 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ GDP ต่อหัวประชากรของอานฮุยได้ทะลุยอด 10,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งห่างจากมาตรฐานของประเทศที่มีรายได้สูงตามที่ธนาคารโลกกำหนดไว้ไม่มากนัก (ประเทศที่มีรายได้สูงมี GDP ต่อหัวประชากรไม่ต่ำกว่า 12,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ทว่า น่าเสียดายที่เมื่อทุกพื้นที่ในเขต YRD ได้ทยอยประกาศมูลค่า GDP ของปี 2564 แล้วพบว่า GDP ของอานฮุยยังไม่สามารถนำหน้าเซี่ยงไฮ้ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ในปี 2564 ถือเป็นครั้งแรกที่ “3 มณฑล 1 มหานคร” ของเขต YRD มี GDP เกิน 4 ล้านล้านหยวนแล้วในทุกพื้นที่[3] (ปี 2563 GDP ของเซี่ยงไฮ้และอานฮุยเท่ากับ 3.87 ล้านล้านหยวน และ 3.86 ล้านล้านหยวน ตามลำดับ) โดย GDP ของเจียงซูและเจ้อเจียงทะลุยอด 4 ล้านล้านหยวนมานานกว่า 5 ปี (เจียงซูทะลุยอดตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่เจ้อเจียงทะลุยอดตั้งแต่ปี 2557)
น้องใหม่ได้ดี.. เพราะรุ่นพี่สนับสนุน
เขต YRD มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2525 ซึ่งในขณะนั้นมีสมาชิกเพียงนครเซี่ยงไฮ้ (เป็นศูนย์กลาง) และบางเมืองในมณฑลเจ้อเจียงและมณฑลเจียงซูเท่านั้น ต่อมาได้ทยอยขยายพื้นที่โดยเพิ่มจำนวนเมืองสมาชิกจากทั้ง 2 มณฑลดังกล่าวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2553 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นครเหอเฝยและเมืองหม่าอานซานของมณฑลอานฮุยได้ถูกจัดเข้ามาเป็นสมาชิกของเขต YRD ด้วย จึงนับว่าอานฮุยเป็นมณฑลน้องใหม่ที่สุดของเขต YRD ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อปลายปี 2562 เขต YRD ได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมทุกเมืองในมณฑลเจ้อเจียง เจียงซู อานฮุย และเซี่ยงไฮ้ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 41 เมือง
นอกจากการมีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกเขต YRD แล้ว ที่ผ่านมาอานฮุยก็ยังได้รับการสนับสนุนจากพื้นที่ชั้นนำที่อยู่ใกล้เคียงมาโดยตลอด อาทิ
(1) ปี 2546 รัฐบาลเจียงซูประกาศจัดตั้งวงแหวนกลุ่มเมืองหนานจิง (ต่อมาในช่วงต้นปี 2564 ได้รับอนุมัติให้เป็นวงแหวนกลุ่มเมืองระดับชาติของจีน) โดยมีเมืองหม่าอานซาน เมืองฉูโจว เมืองอู๋หู และเมืองเซวียนเฉิงของอานฮุยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ซึ่งเป็นผลให้ทั้ง 4 เมืองนี้กลายเป็นพื้นที่รองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากนครหนานจิงและเมืองสำคัญของเขต YRD ในเวลาต่อมา
(2) ปี 2559 รัฐบาลจีนประกาศ “แผนพัฒนากลุ่มเมืองในเขต YRD” ซึ่งได้มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเซี่ยงไฮ้ในฐานะเมืองศูนย์กลาง และผลักดันการพัฒนาพื้นที่วงแหวนกลุ่มเมือง 5 กลุ่มไปพร้อมกันด้วย ได้แก่ วงแหวนกลุ่มเมืองหนานจิง (เจียงซู) วงแหวนกลุ่มเมืองหางโจว (เจ้อเจียง) วงแหวนกลุ่มเมืองเหอเฝย (อานฮุย) วงแหวนกลุ่มเมืองซูโจว – อู๋ซี – ฉางโจว (เจียงซู) และวงแหวนกลุ่มเมืองหนิงโป (เจ้อเจียง) ทั้งนี้ แผนพัฒนาดังกล่าวได้ส่งเสริมให้นครเหอเฝยซึ่งเป็นเมืองหลวงของอานฮุยเริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทในเขต YRD ดังเช่นหัวเมืองสำคัญของเจียงซู (หนานจิง ซูโจว ฯลฯ) และเจ้อเจียง (หางโจว หนิงโป ฯลฯ)
(3) ปี 2561 วงแหวนกลุ่มเมืองหางโจวประกาศให้เมืองหวงซานของอานฮุยเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่มเมืองด้วย นอกจากนี้ นครเหอเฝย เมืองอู๋หู และเมืองเซวียนเฉิงก็ได้เข้าร่วมในระเบียงส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม G60 (G60 science and technology innovation corridor)[4] ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของเขต YRD โดยเมื่อปี 2563 ได้ก่อตั้งเขตสาธิตความร่วมมืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน G60 ในนครเหอเฝยอย่างเป็นทางการ
(4) ปลายปี 2564 คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีนได้ประกาศ “แผนการดำเนินงานให้เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียงช่วยพยุงเมืองทางตอนเหนือของอานฮุย” ซึ่งเป็นการจับคู่ความร่วมมือระหว่าง 8 เมืองของอานฮุยกับ 3 เขตของเซี่ยงไฮ้ 3 เมืองของเจียงซู และ 2 เมืองของเจ้อเจียงแบบ 1 ต่อ 1 ซึ่งมีผลจนถึงปี 2573 ได้แก่
ผลจากการสนับสนุนข้างต้นทำให้ 13 เมืองของอานฮุย (จากทั้งหมด 16 เมือง) จะได้รับผลพวงจากการพัฒนาของเซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง ซึ่งจะทำให้อานฮุยทยอยเพิ่มระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจขึ้นตามลำดับในอนาคต โดยอานฮุยจะมีบทบาทเป็นฐานรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจาก 3 พื้นที่ดังกล่าว
อานฮุยในวันนี้.. ดีเด่นน่าจับตา
ปัจจุบัน การสร้างสรรค์ทางนวัตกรรมถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยอานฮุยเป็นพื้นที่ที่มีความสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมสูงเป็นอันดับที่ 8 ของจีน[5] ซึ่งมีนครเหอเฝยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่สำคัญของมณฑล โดยนครเหอเฝยเป็น 1 ใน 4 ศูนย์กลางวิทยาศาสตร์แห่งชาติครบวงจร (Comprehensive national science center) ของจีน[6]
นอกจากศูนย์กลางวิทยาศาสตร์แห่งชาติแล้ว นครเหอเฝยยังเป็นที่ตั้งศูนย์วิจัย 12 แห่งของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) รวมถึงเป็นที่ตั้งของโครงการก่อสร้างอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติจีนมากที่สุดถึง 6 โครงการจากทั้งหมด 22 โครงการที่สร้างแล้วเสร็จในปัจจุบัน (ปักกิ่งมี 5 โครงการ และเซี่ยงไฮ้มี 2 โครงการ) และเป็นที่ตั้งของ University of Science and Technology of China (USTC) ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกและติดอันดับ 2 ของจีนในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมรองจากมหาวิทยาลัยชิงหัว (ปักกิ่ง)
ทั้งนี้ อานฮุยยังให้การสนับสนุนด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ด้วย โดยในห้วงปี 2563 – 2567 จะจัดสรรงบประมาณเฉพาะกิจกว่า 3,000 ล้านหยวน เพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยในมณฑลสร้างศูนย์วิจัยเกี่ยวกับหลักสูตรคณิตศาสตร์ เคมี และชีววิทยา รวมถึงเปิดหลักสูตรใหม่ในสาขาการขนส่งด้วยพลังงานใหม่ การเกษตรสมัยใหม่ และการสาธารณสุข ฯลฯ ตลอดจนสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ วิสาหกิจ และสถาบันวิจัยมากขึ้น ล่าสุด ช่วงไตรมาสแรกปี 2565 รัฐบาลอานฮุยได้จัดการงบประมาณด้าน วทน. รวม 14,550 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2564 ร้อยละ 104.3 อีกทั้งผู้ประกอบการด้าน วทน. ที่สำคัญของอานฮุยจำนวน 96 ราย มีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยรวม 78,000 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2564 ร้อยละ 6.1
เป็นที่น่ายินดีว่า University of Science and Technology of China (USTC) ได้ประสบความสำเร็จใน quantum state remote ระหว่างพื้นที่ 2 แห่งที่มีระยะห่าง 1,200 กิโลเมตร (เมืองลี่เจียง มณฑลยูนนาน – เมืองเต๋อลิ่งหา มณฑลชิงไห่) ซึ่งนับเป็นการทำลายสถิติโลกครั้งใหม่ในด้านการทดลองดังกล่าว โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้ในวารสารวิชาการชื่อดังของโลก “Physical Review Letters” เมื่อ 26 เมษายน 2565 ด้วย ทั้งนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าวได้วางรากฐานที่ดีสำหรับการสร้างเครือข่ายบริหารจัดการสารสนเทศควอนตัมในอนาคต
นอกจากนี้ นายถัง เจี๋ย อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองเซินเจิ้นเคยกล่าวไว้ว่า “นครเหอเฝยเป็นเมืองที่ถูกมองข้ามมาเป็นระยะเวลานาน แต่ปัจจุบันเมื่อมองดูเหอเฝยแล้วเหมือนได้มองเห็นภาพเงาของเซินเจิ้นในช่วงก่อนหน้านั้น” ทั้งนี้ จากข้อความนี้สะท้อนให้เห็นว่า เหอเฝยนั้นมีศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน วทน.
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า อานฮุยในวันนี้มิได้ล้าหลังหรือถูกหลงลืม และไม่ใช่มณฑลที่เน้นด้านการเกษตรดั้งเดิมอีกต่อไป แต่กำลังก้าวหน้าไปพร้อมกับเซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเกษตรกรรมสมัยใหม่และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีความโดดเด่น ซึ่งไทยก็มุ่งเน้นส่งเสริม วทน. เช่นเดียวกัน อาทิ การพัฒนากำลังคนด้าน AI และด้าน frontier research (Quantum, High Energy Physics, Earth & Space) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมเรื่องการเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาไทยได้มีความร่วมมือกับอานฮุยด้วยแล้ว อาทิ ความร่วมมือในการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อการทำวิจัยด้านพลาสมาและการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์ฟิวชันระหว่างสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) กับ ASIPP เป็นต้น ทั้งนี้ ในอนาคตหลังจากที่หลายเมืองของอานฮุยจะได้รับ “ผลพวง” จากยุทธศาสตร์การพัฒนาเขต YRD แบบบูรณาการแล้ว จะทำให้อานฮุยเป็นอีกมณฑลหนึ่งที่ไทยน่าจับตามอง และต่อยอดขยายความร่วมมือด้าน วทน. ดังที่กล่าวไว้ รวมถึงความร่วมมือกับสถานบันการศึกษาด้าน วทน. ด้วย
ไม่เพียงแต่อานฮุยเท่านั้นที่มุ่งเน้นการใช้ วทน. เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเรียกได้ว่าทั้งเขต YRD ต่างก็มุ่งเน้นและมีความโดดเด่นด้าน วทน. ที่แตกต่างกัน จึงนับเป็นโอกาสดีที่ไทยจะสามารถขยายความร่วมมือด้าน วทน. อย่างรอบด้านต่อไปในอนาคต
*****************************
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 安徽2021年GDP比上年增长8.3% วันที่ 24 มกราคม 2565
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ广东GDP或超韩国,江苏紧追不舍!海南增速火了,东莞破万亿、成都冲击2万亿
วันที่ 22 มกราคม 2565 - www.ceweekly.cn หัวข้อ 2021安徽GDP预计破4万亿元 创新优势持续增强 วันที่ 10 มกราคม 2565
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 安徽迈进4万亿,这次安徽超越上海,坐上经济第十省!วันที่ 8 มกราคม 2565
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 自从安徽加入长三角后,便迎来了三次重大利好,未来腾飞指日可待วันที่ 13 ธันวาคม 2564
- www.sohu.com หัวข้อ大洗牌!安徽GDP冲上4万亿,江浙沪皖集体迈入4万亿时代!วันที่ 13 มกราคม 2565
- https://view.inews.qq.com หัวข้อ 长三角前三季度GDP:总量与增速上海双双垫底,为何不用大惊小怪วันที่ 23 ตุลาคม 2564
- www.myzaker.com หัวข้อ 2021 年中国区域创新能力综合排名,看看你的家乡排在第几วันที่ 17 ธันวาคม 2564
- https://tieba.baidu.com หัวข้อ 国家大科学装置分布,22+16 วันที่ 29 พฤษภาคม 2562
- http://ah.anhuinews.com หัวข้อ 1200公里!地表量子态远程传输创纪录 วันที่ 6 พฤษภาคม 2565
[1] การจัดอันดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนโดยแบ่งพื้นที่เป็น 31 มณฑลนั้นได้นับรวมมหานคร 4 แห่ง (ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ และฉงชิ่ง) ไว้ด้วย แต่ไม่นับรวมฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน
[2] ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 เขต YRD มี GDP รวม 20.02 ล้านล้านหยวน แบ่งเป็นเจียงซู 8.48 ล้านล้านหยวน เจ้อเจียง 5.28 ล้านล้านหยวน อานฮุย 3.18 ล้านล้านหยวน และเซี่ยงไฮ้ 3.08 ล้านล้านหยวน ตามลำดับ
[3] ปี 2564 GDP ของเจียงซูเท่ากับ 11.64 ล้านล้านหยวน GDP ของเจ้อเจียงเท่ากับ 7.35 ล้านล้านหยวน GDP ของเซี่ยงไฮ้เท่ากับ 4.32 ล้านล้านหยวน และ GDP ของอานฮุยเท่ากับ 4.29 ล้านล้านหยวน โดยมูลค่า GDP สูงเป็นอันดับที่ 2 อันดับที่ 4 อันดับที่ 10 และอันดับที่ 11 ของทั่วทั้งจีน ตามลำดับ
[4] G60 เป็นหมายเลขเส้นทางด่วนที่เชื่อมต่อเซี่ยงไฮ้ – คุนหมิง รวมระยะทาง 2,730 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์การตั้งระเบียง วทน. G60 คือ การร่วมมือกันส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบบูรณาการของ 9 เมืองสมาชิก ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้/ เมืองซูโจว (เจียงซู)/ นครหางโจว เมืองเจียซิง เมืองจินหัว และเมืองหูโจว (เจ้อเจียง)/ นครเหอเฝย เมืองอู๋หู และเมืองเซวียนเฉิง (อานฮุย)
[5] รายงานผลการประเมินความสามารถการสร้างสรรค์นวัตกรรมในภูมิภาคของจีนปี 2564 ได้จัดอันดับ 10 พื้นที่แรกที่มีความสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม ดังนี้ (1) กวางตุ้ง (2) ปักกิ่ง (3) เจียงซู (4) เซี่ยงไฮ้ (5) เจ้อเจียง (6) ซานตง (7) หูเป่ย (8) อานฮุย (9) เสฉวน และ (10) ส่านซี
[6] แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021 – 2025) ได้ระบุว่า จีนสนับสนุนให้สร้างศูนย์กลางวิทยาศาสตร์แห่งชาติครบวงจร 4 แห่งในจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และเหอเฝย