ตามมาดู “โมเดลพัฒนาการค้า” สู่ตลาดยักษ์ใหญ่ระดับโลกของเมืองอี้อู (ตอนที่ 3: นวัตกรรมเสริมศักยภาพ)
22 Dec 2021บทความ 2 ตอนแรกได้กล่าวถึงศักยภาพด้านตลาดค้าส่งและเครือข่ายโลจิสติกส์ของเมืองอี้อูไปแล้ว ซึ่งถือเป็น “นามบัตร” ที่ทำให้เมืองอี้อูเป็นที่รู้จักในวงกว้าง บทความนี้จะแนะนำถึงนวัตกรรมใหม่ 3 รายการที่อี้อูพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ (1) เขตคลังสินค้าทัณฑ์บน (2) E – Commerce ข้ามพรมแดน และ (3) ไลฟ์สตรีมขายสินค้า ซึ่งล้วนมีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์วงจรคู่ (dual circulation) ของรัฐบาลจีน โดยเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจไทยด้วยเช่นกัน
เปิดเขตคลังสินค้าทัณฑ์บน.. สิทธิพิเศษภาษีที่ไม่ธรรมดา
เมื่อ 21 กันยายน 2563 คณะรัฐมนตรีจีนได้อนุมัติให้มณฑลเจ้อเจียงขยายพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีครอบคลุมถึงพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองอี้อู (พื้นที่ 26.2 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งนับเป็น “ไพ่ใบใหม่” ที่อี้อูพยายามใช้ขยายความร่วมมือและเชื่อมโยงกับต่างประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนซึ่งมีบทบาทแตกต่างกัน ดังนี้
- พื้นที่ย่านศูนย์กลางค้าส่งอี้อู (3.1 ตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นที่ฟังก์ชันเพื่อการส่งออก โดยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมด้านการส่งออกสินค้าเบ็ดเตล็ด พัฒนาการค้าดิจิทัลอย่างจริงจัง พัฒนาการค้าระหว่างประเทศ พัฒนาธุรกิจการเงินเพื่อการค้า ขยายความร่วมมือการลงทุนระหว่างประเทศและ E – Commerce ข้ามพรมแดน เป็นต้น
- พื้นที่ย่านท่าบกอี้อู (23.1 ตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นที่ฟังก์ชันเพื่อการนำเข้าสินค้า (วัตถุดิบ) มาแปรรูปและส่งออกไปต่างประเทศต่อไป (หรือจัดจำหน่ายสู่ตลาดจีน) รวมถึงเป็นพื้นที่ฟังก์ชันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้ประโยชน์จากเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนบูรณาการอี้อู ด่านเส้นทางรถไฟ ด่านสนามบิน และหน่วยงานบริหารจัดการจัดส่งพัสดุระหว่างประเทศ เป็นต้น
เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนบูรณาการอี้อูเปิดดำเนินงานแบบครบวงจรอย่างเป็นทั้งการตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นพื้นที่ที่จะช่วยอำนวยสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการต่างชาติได้ค่อนข้างชัดเจน นั่นคือ การได้รับสิทธิพิเศษโดยยังไม่ต้องชำระภาษีนำเข้าจนกว่าจะนำสินค้าออกไปจำหน่ายนอกเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ อีกทั้งจะเสียภาษีในอัตราที่น้อยลงด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการนำวัตถุดิบจากไทยเข้ามาแปรรูปในเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ เมื่อได้เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายแล้วก็สามารถติดฉลากว่า “Made in Thailand”[1] และจะเสียภาษีนำเข้าเพียงประมาณร้อยละ 9 ของมูลค่าสินค้าที่จะจำหน่ายออกนอกเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ เข้าสู่ตลาดจีน (ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ) ทั้งนี้ หากไม่ใช่การนำเข้ามายังเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ แล้ว โดยปกติผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศในอัตราประมาณร้อยละ 20 (ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบ) ณ ด่านศุลกากรที่นำเข้าสู่จีน
E – Commerce ข้ามพรมแดน.. ดึงดูดสินค้าต่างชาติเข้าจีน
ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ขนาดตลาดอุตสาหกรรม E – Commerce ข้ามพรมแดนของจีนเฉลี่ยขยายตัวที่ร้อยละ 20 ขึ้นไปต่อปี โดยปี 2563 จีนมีขนาดตลาดอุตสาหกรรม E – Commerce ข้ามพรมแดนคิดเป็นมูลค่า 13 ล้านล้านหยวน ขยายตัวจากปี 2562 ร้อยละ 23.8 ทั้งนี้ หากประเมินจากมูลค่านำเข้า – ส่งออกจะพบว่า ปี 2563 อุตสาหกรรม E – Commerce ข้ามพรมแดนของจีนมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่ 1.69 ล้านล้านหยวน ขยายตัวจากปี 2562 ร้อยละ 31.1 ในยอดรวมดังกล่าวแบ่งเป็นสัดส่วนของมูลค่าส่งออกร้อยละ 66.3 และสัดส่วนมูลค่านำเข้าร้อยละ 33.7
อี้อูในฐานะเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นเรื่องการค้าระหว่างประเทศ จึงได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2561 ให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ทดลองดำเนินยุทธศาสตร์ E – Commerce ข้ามพรมแดนแบบบูรณาการของจีน โดยอาศัยศักยภาพของตลาดค้าส่งและระบบโลจิสติกส์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นตัวขับเคลื่อน
ตลอดช่วงที่ผ่านมา E – Commerce ข้ามพรมแดนของอี้อูจะโดดเด่นเรื่อง “ขาออก” เป็นสำคัญ กล่าวคือ พยายามกระจายสินค้าสู่ต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม E – Commerce มากขึ้น แต่ปัจจุบันอี้อูได้หันมาเน้นส่งเสริม “ขาเข้า” ด้วย โดยพยายามจะดึงดูดให้สินค้าต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดจีนผ่านการกักเก็บไว้ที่เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนอี้อูก่อน แล้วจึงกระจายต่อยังพื้นที่อื่น ๆ ของจีนผ่านระบบ E – Commerce ซึ่งเรียกกันว่า “โมเดล 1210” ซึ่งต่างจาก “โมเดล 9610” ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิม คือ การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศตามคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในจีนแบบทีละรายการ
ปัจจุบันผู้ประกอบการแบรนด์สินค้าต่างชาติจำนวนมากนิยมเลือกใช้ระบบ E – Commerce ข้ามพรมแดน “โมเดล 1210” ในการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน เนื่องจากมีข้อดีกว่าเมื่อเทียบกับ “โมเดล 9610” ดังนี้
- ผู้ประกอบการต่างชาติประหยัดต้นทุนการขนส่งสินค้ามากขึ้น เนื่องจากเป็นการจัดส่งครั้งละจำนวนมาก
- ผู้ประกอบการยังไม่จำเป็นต้องชำระภาษีนำเข้าในทันที โดยจะชำระภาษีนำเข้าก็ต่อเมื่อนำสินค้าออกจากเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนไปจำหน่ายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจีน นั่นหมายความว่ามีผู้บริโภคจีนได้สั่งซื้อสินค้าแล้ว
- ผู้บริโภคจีนสามารถได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วหลังจากการสั่งซื้อ เนื่องจากสินค้านั้น ๆ ได้กักเก็บไว้ในเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องรอส่งตรงจากต่างประเทศเข้าสู่จีน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการบริโภค
ไลฟ์สตรีมดันสินค้า.. เทรนใหม่ยุค Post COVID-19
ปี 2563 เรียกได้ว่าเป็น “ยุคทอง” ของธุรกิจไลฟ์สตรีมขายสินค้าออนไลน์ในจีนที่มาพร้อมกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 โดยกระทรวงพาณิชย์จีนเผยสถิติว่า ปี 2563 แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สำคัญทั่วทั้งจีนได้จัดไลฟ์สตรีมขายสินค้าและบริการรวมมากกว่า 24 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 65,000 ครั้ง!!
ปัจจุบัน อี้อูเป็นเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงเรื่องธุรกิจไลฟ์สตรีมขายสินค้า และได้ดึงดูดเน็ตไอดอลมากมายมาประกอบอาชีพขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนธุรกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยอี้อูได้สร้างฐานไลฟ์สตรีมแล้ว 22 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 300,000 แห่ง ทั้งนี้ ปัจจัย 2 ประการที่ทำให้อี้อูเหมาะสำหรับประกอบธุรกิจไลฟ์สตรีมขายสินค้าและทยอยได้รับความนิยมมากขึ้น คือ เป็นศูนย์รวมสินค้าในชีวิตประจำวันที่มีความหลายหลากและครบถ้วน และมีต้นทุนการจัดส่งสินค้าต่ำที่สุดในจีน (ตามที่กล่าวไว้แล้วในบทความตอนที่ 2)
ปี 2563 อี้อูได้จัดไลฟ์สตรีมขายสินค้าออนไลน์โดยเน็ตไอดอลรวม 183,300 ครั้ง มียอดขายสินค้ารวม 20,702 ล้านหยวน ขณะที่ช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2564 อี้อูได้จัดไลฟ์สตรีมขายสินค้าออนไลน์โดยเน็ตไอดอลแล้ว 154,000 ครั้ง คิดเป็นยอดขายสินค้า 24,958 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 59.7 ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ายอดขายเพียงแค่ 9 เดือนก็สูงกว่ายอดขายของตลอดทั้งปีที่แล้วทั้ง ๆ ที่จำนวนครั้งการจัดไลฟ์สตรีมจะน้อยกว่า ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่าผลลัพธ์ของการไลฟ์สตรีมมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้า และกล่าวได้ว่ากระแสไลฟ์สตรีมขายสินค้าน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นในยุค Post COVID-19
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า อี้อูได้วางแผนผลักดัน “ไพ่ใบใหม่ 3 ใบ” อย่างมีระบบ เริ่มต้นจากการพัฒนาเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อดึงดูดการนำเข้าสินค้าจากต่างชาติ และกระจายเข้าสู่ตลาดจีนผ่านระบบ E – Commerce ข้ามพรมแดน โดยมีไลฟ์สตรีมเป็นกลไกสำคัญเพื่อช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้า ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในพื้นที่ โดยอาศัยเรื่องความรุดหน้าในระบบดิจิทัลของจีนเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการไทยนั้น สามารถพิจารณาเลือกใช้ประโยชน์ของ 3 นวัตกรรมใหม่ในอี้อูเพื่อผลักดันสินค้าจากไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้เช่นกัน
*****************************
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
1. www.comnews.cn หัวข้อ 义乌:立好“四梁八柱” 建好自贸试验区วันที่ 25 สิงหาคม 256
2. www.ywcbz.com หัวข้อ 义乌综合保税区概况วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
3. www.ywcbz.com หัวข้อ 自贸试验区金义片区义乌区块简介วันที่ 6 มกราคม 2564
4. www.chinairn.com หัวข้อ 中国跨境电商行业市场规模及发展前景分析วันที่ 12 สิงหาคม 2564
5. www.sohu.com หัวข้อ 中国跨境电商规模达1.69万亿,微型跨国企业闯出外贸出口新蓝海วันที่ 16 ธันวาคม 2564
6. www.hotds.com หัวข้อ 2020年全国网上零售额达11.76万亿元,累计直播带货超2400万场วันที่ 26 มกราคม 2564
7. www.sohu.com หัวข้อ 2021年1-9月义乌开展网红直播带货15.4万场วันที่ 29 ตุลาคม 2564
8. www.sohu.com หัวข้อ 义乌直播带货主播有5000人,年营业额超200亿元 วันที่ 1 เมษายน 2564
9. เอกสารบรรยายเรื่อง World’s Capital of Small Commodities โดยนายหวัง เหวย รองนายกเทศมนตรีเมืองอี้อู
[1] ภายในเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนถือเป็นพื้นที่พิเศษที่ยังไม่นับเข้าสู่เขตควบคุมของศุลกากรจีน ซึ่งเสมือนว่ายังไม่ใช่พื้นที่ตลาดภายในจีน ดังนั้น จึงได้รับสิทธิ์ให้สามารถเขียนฉลากว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศมาผลิตในเขตดังกล่าว