ตามไปดู “โมเดลพัฒนาการค้า” สู่ตลาดยักษ์ใหญ่ระดับโลกของเมืองอี้อู (ตอนที่ 2: โลจิสติกส์รองรับการค้า)
22 Dec 2021บทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงเนื้อหาความเป็นมาของตลาดค้าส่งอี้อู ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยสร้างเม็ดเงินให้หลั่งไหลเข้ามายังเมืองอี้อู แน่นอนว่าการที่ตลาดอี้อูมีชื่อเสียงและสามารถกระจายสินค้าไปทั่วโลกได้นั้น จำเป็นต้องเน้นภารกิจด้านโลจิสติกส์ที่เมืองอี้อูดำเนินการได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ดังนั้น บทความในตอนนี้จะกล่าวถึงศักยภาพด้านการขนส่งของเมืองอี้อูที่เป็นทั้งปัจจัยรองรับและกระตุ้นให้การค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอี้อูมีเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลกถึง 13,052 กิโลเมตร
เชื่อมโยงไร้พรมแดน.. ก้าวไกล 658 เมืองทั่วโลก
เมืองอี้อูตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเชื่อมโยงจีนกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศตามเส้นทาง BRI ทั้งนี้ อี้อูได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงแบบไร้พรมแดนทั้งทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยปัจจุบันอี้อูมีเส้นทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ 110 เส้นทางสู่ 658 เมืองทั่วโลก และมีโกดังสินค้าในต่างประเทศถึง 89 แห่ง ซึ่งนับเป็นการวางแผนเครือข่ายโลจิสติกส์เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศอย่างมีเป้าหมายสูงของจีน
13,052 กิโลเมตร.. ตัดผ่าน 49 ประเทศ
เส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่น่าสนใจของอี้อู คือ เส้นทางรถไฟจีน – ยุโรป ซึ่งอี้อูมีเส้นทางรถไฟดังกล่าว 2 เส้นทางจากปัจจุบันที่จีนมีทั้งหมด 30 เส้นทาง[1] ได้แก่ เส้นทางรถไฟอี้อู – Madrid สเปน และเส้นทางรถไฟอี้อู – Liège เบลเยียม โดยเส้นทางรถไฟอี้อู – Madrid สเปนเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่ยาวที่สุดในโลก รวมระยะทาง 13,052 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจากอี้อูไปต่างประเทศสายแรกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2557 โดยใช้เวลาขนส่งตลอดเส้นทางรถไฟอี้อู – ยุโรปเพียง 15 – 20 วัน (เร็วกว่าการขนส่งทางเรือจากอี้อูไปยังยุโรปที่ต้องใช้เวลาถึง 45 – 50 วัน)
นอกจากเส้นทางรถไฟไปยังยุโรปแล้ว อี้อูยังมีเส้นทางรถไฟไปยังฮานอยของเวียดนามด้วย โดยอี้อูกำลังสร้างเส้นทางรถไฟอี้อู – ลาว ซึ่งมีโอกาสจะเชื่อมต่อยังไทยในอนาคตผ่านเส้นทางรถไฟจีน – ลาว/ จีน – ลาว – ไทย
ปัจจุบัน อี้อูมีเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศรวม 16 เส้นทาง ครอบคลุม 49 ประเทศ นับตั้งแต่เริ่มขนส่งสินค้าไปต่างประเทศด้วยรถไฟขบวนแรกตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 จนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 (ครบรอบ 7 ปี) อี้อูมีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปต่างประเทศสะสมเกิน 3,200 เที่ยว โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา อี้อูมีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปต่างประเทศเฉลี่ยวันละ 4 เที่ยว (จำนวนสูงสุดวันละ 10 เที่ยว) และเฉลี่ยมากกว่าเดือนละ 100 เที่ยว
เรียนรู้หลักบริหาร.. ผสมผสาน “2 in 1”
จากสถิติเมื่อปี 2563 พบว่า อี้อูมีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปยังยุโรปทั้งสิ้น 1,399 เที่ยว คิดเป็นลำดับที่ 4 รองจากซีอาน (3,600 เที่ยว) เฉิงตู (3,200 เที่ยว) และฉงชิ่ง (1,800 เที่ยว)
ด้วยการขนส่งสินค้าโดยรถไฟที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในจีน จะเห็นได้จากจำนวนเที่ยวขบวนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (แต่ละปีอี้อูมีจำนวนขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปยุโรปเติบโตมากกว่าร้อยละ 100) ซึ่งเป็นผลให้ปัจจุบันเกิดปัญหาการจราจรที่แออัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณโปแลนด์และซินเจียง (เส้นทางรถไฟไปยังยุโรปของจีนส่วนใหญ่มักจะต้องผ่านซินเจียง) ซึ่งเป็นจุดสับเปลี่ยนระบบราง กล่าวคือ เปลี่ยนจากรางขนาดมาตรฐานสากลในพื้นที่ประเทศจีนไปสู่พื้นที่นอกประเทศจีนซึ่งมีขนาดรางกว้างกว่า และเมื่อถึงโปแลนด์แล้วก็จะเปลี่ยนกลับมาใช้รางขนาดมาตรฐานอีกครั้ง
จากปัญหาดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวคิดบริหารจัดการระบบการขนส่งแบบผสมผสาน ได้แก่
(1) รถไฟ + เรือ โดยขนส่งสินค้าจากอี้อูไปยังโปแลนด์ด้วยเส้นทางรถไฟ และเปลี่ยนเป็นเรือที่โปแลนด์เพื่อขนส่งต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของยุโรป ซึ่งได้เริ่มใช้รูปแบบดังกล่าวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นมา
(2) รถไฟ + รถยนต์ โดยขนส่งสินค้าจากอี้อูไปยังซินเจียงด้วยเส้นทางรถไฟ และเปลี่ยนเป็นรถยนต์ที่ซินเจียงเพื่อขนส่งต่อไปยังเอเชียกลางและยุโรปต่อไป
ทั้งนี้ การกระจายสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟของเมืองอี้อูถือเป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้น โดยช่องทางหลักในการส่งออกสินค้าของอี้อูในปัจจุบัน คือ การขนส่งทางเรือ (ประมาณร้อยละ 90 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด) ซึ่งอาศัยท่าเรือหนิงโป – โจวซานเป็นสำคัญ (ปัจจุบัน 1 ใน 7 ของตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือหนิงโป – โจวซานมาจากเมืองอี้อู ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 16 ธันวาคม 2564 ท่าเรือหนิงโป – โจวซานมีสถิติการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทะลุยอด 30 ล้าน TEU ครั้งแรก ติด 1 ใน 3 ท่าเรือของโลกที่มีสถิติเกิน 30 ล้าน TEU รองจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้และท่าเรือสิงคโปร์) โดยการขนส่งสินค้าจากอี้อูไปยังท่าเรือหนิงโป – โจวซานมี 2 วิธี ได้แก่
(1) การขนส่งด้วยรถยนต์ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร โดยในปี 2563 มีรถบรรทุกสินค้าจากอี้อูไปยังหนิงโปประมาณ 6 ล้านคัน (เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 16,000 คัน)
(2) การขนส่งด้วยรถไฟ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 310 กิโลเมตร โดยต้องอ้อมเส้นทางไปยังหางโจวก่อนแล้วจึงต่อไปยังหนิงโป จึงทำให้การขนส่งทางรถยนต์ได้รับความนิยมมากกว่า ด้วยเหตุนี้ อี้อูจึงอยู่ระหว่างก่อสร้างเส้นทางรถไฟอี้อู – หนิงโปเพื่อการขนส่งที่สะดวกขึ้น ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 นอกจากนี้ ยังเตรียมสร้างพื้นที่ศูนย์กลางโลจิสติกส์เพื่อรองรับการขยายตัวของปริมาณการขนส่งสินค้าจากเส้นทางดังกล่าวอีกด้วย
ยอดส่งแนวหน้า.. ต้นทุนส่งสินค้าต่ำสุด
นอกจากการกระจายสินค้าไปต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพแล้ว อี้อูยังได้บริหารการขนส่งภายในประเทศค่อนข้างโดดเด่น โดยเมื่อปี 2563 อี้อูได้จัดส่งสินค้าผ่านไปรษณีย์ภายในประเทศรวม 7,170 ล้านชิ้น (เฉลี่ยวันละ 16.94 ล้านชิ้น) นับเป็นอันดับที่ 2 ของจีนรองจากกว่างโจว โดยอี้อูมีต้นทุนการขนส่งทางไปรษณีย์ต่ำที่สุดในจีน คิดเป็นประมาณชิ้นละ 2.4 หยวน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 25 ของค่าเฉลี่ยการจัดส่งสินค้าทางไปรษณีย์ของจีน (ชิ้นละ 10.55 หยวน)
ล่าสุด ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 อี้อูมีปริมาณจัดส่งสินค้าผ่านไปรษณีย์รวม 6,541 ล้านชิ้น ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของมณฑลเจ้อเจียง นำหน้าหางโจว (2,655 ล้านชิ้น) จินหัว (1,598 ล้านชิ้น) เวินโจว (1,206 ล้านชิ้น) และหนิงโป (1,023 ล้านชิ้น)
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า นอกจากอี้อูจะพัฒนาตลาดค้าส่งให้มีศักยภาพแล้ว ยังได้พัฒนาระบบโลจิสติกส์ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเป็น 2 องค์ประกอบที่ทำให้การค้าทั้งในประเทศและในต่างประเทศของอี้อูมีความคึกคักมาโดยตลอด บทความต่อไปจะกล่าวถึงองค์ประกอบที่ 3 ซึ่งเป็นสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ที่อี้อูพยายามผลักดันเพื่อให้ก้าวขึ้นสู่ฐานะเป็นตลาดสินค้าเบ็ดเตล็ดของโลกตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ รวมถึงเชื่อมโยงกับต่างประเทศตามยุทธศาสตร์วงจรคู่ (dual circulation) ของจีน โปรดติดตาม
*****************************
จัดทำโดยนายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
1. https://baike.baidu.com 中欧班列(铁路线)วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564
2. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 首列“中欧班列——上海号”28日发车 50节车装载服装等商品驶往汉堡วันที่ 26 กันยายน 2564
3. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 2022年浙江省快递行业发展现状及区域市场格局分析 全省涨势依旧、义乌再拔头筹 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564
4. www.yw.gov.cn หัวข้อ 16条线路累计开行超3200列!中欧班列(义乌—马德里)开行7周年 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564
5. www.dezhoudaily.com หัวข้อ宁波舟山港年集装箱吞吐量首破3000万标准箱วันที่ 20 ธันวาคม 2564
6. เอกสารบรรยายเรื่อง World’s Capital of Small Commodities โดยนายหวัง เหวย รองนายกเทศมนตรีเมืองอี้อู
[1] (1) เส้นทางรถไฟฉงชิ่ง – Duisburg เยอรมนี (2) เส้นทางรถไฟเฉิงตู – Lodz โปแลนด์ (3) เส้นทางรถไฟซีอาน – Warsaw โปแลนด์ (4) เส้นทางรถไฟเจิ้งโจว – Hamburg เยอรมนี (5) เส้นทางรถไฟซูโจว – Warsaw โปแลนด์ (6) เส้นทางรถไฟอู่ฮั่น – เช็ก – โปแลนด์ (7) เส้นทางรถไฟฉางซา – Duisburg เยอรมนี (8) เส้นทางรถไฟอี้อู – Madrid สเปน (9) เส้นทางรถไฟฮาร์บิน – รัสเซีย (10) เส้นทางรถไฟฮาร์บิน – Hamburg เยอรมนี
(11) เส้นทางรถไฟหลานโจว – Hamburg เยอรมนี (12) เส้นทางรถไฟเป่าติ้ง – Minsk เบลารุส (13) เส้นทางรถไฟซีหนิง – Antwerpen เบลเยียม (14) เส้นทางรถไฟกว่างโจว – Moscow รัสเซีย (15) เส้นทางรถไฟชิงต่าว – Moscow รัสเซีย (16) เส้นทางรถไฟฉางชุน – Hamburg เยอรมนี (17) เส้นทางรถไฟหนานชัง – Moscow รัสเซีย (18) เส้นทางรถไฟถังซาน – เบลเยียม (19) เส้นทางรถไฟเฉิงตู – Vienna ออสเตรีย (20) เส้นทางรถไฟมองโกเลียใน – อิหร่าน (21) เส้นทางรถไฟอุรุมชี – Duisburg เยอรมนี (22) เส้นทางรถไฟจิ่งเต๋อเจิ้น – Moscow รัสเซีย (23) เส้นทางรถไฟเจิ้งโจว – Liège เบลเยียม (24) เส้นทางรถไฟอู่ฮั่น – Irkutsk รัสเซีย (25) เส้นทางรถไฟเหลียนหยุนกั่ง – Istanbul ตุรกี (26) เส้นทางรถไฟเฉิงตู – Wrocław โปแลนด์ (27) เส้นทางรถไฟอี้อู – Liège เบลเยียม (28) เส้นทางรถไฟเหอเฝย – Hamburg เยอรมนี – Alma-Ata คาซัคสถาน
(29) เส้นทางรถไฟเซี่ยงไฮ้ – Hamburg เยอรมนี และ (30) เส้นทางรถไฟยูเครน – ซีอาน