ตามมาดู “โมเดลพัฒนาการค้า” สู่ตลาดยักษ์ใหญ่ระดับโลกของเมืองอี้อู (ตอนที่ 1: ตลาดบุกเบิกโอกาส)
22 Dec 2021เมื่อกล่าวถึงเมืองอี้อู หลายท่านคงเคยจะได้ยินชื่อของเมืองนี้ในฐานะที่เป็น “ตลาดค้าส่งขนาดยักษ์ใหญ่” ระดับโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งนำเข้าสินค้าเบ็ดเตล็ดในชีวิตประจำวันที่สำคัญในจีนของผู้ค้าส่งในไทย ทว่า กว่าที่เมืองอี้อูจะมีธุรกิจการค้าเดินสะพัดไปถึง 233 ทั่วโลกและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนั้น ได้มีปัจจัยหนุนหลังประการสำคัญที่ทำให้เมืองอี้อูเดินหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ “โมเดลพัฒนาการค้า” ที่น่าศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
รู้จักอี้อู.. 1 ใน 4 ศูนย์กลางของมณฑลเจ้อเจียง
เมืองอี้อูเป็นเมืองภายใต้การปกครองของเมืองจินหัว ตั้งอยู่ตอนกลางของมณฑลเจ้อเจียง โดยมีนครหางโจวอยู่ทางทิศเหนือ เมืองหนิงโปอยู่ทางทิศตะวันออก เมืองเวินโจวอยู่ทางทิศใต้ ทิศเหนืออยู่ใกล้กับนครหางโจว อี้อูเป็นเมืองระดับอำเภอแห่งแรกและแห่งเดียวที่ทางการจีนกำหนดให้ดำเนินยุทธศาสตร์ระดับชาติ นั่นคือ การทดลองปฏิรูปแบบบูรณาการด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
อี้อูเป็นเมืองขนาดเล็กของจีนที่มีพื้นที่เพียง 1,105 ตร.กม. (กทม. มีพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร / ฮ่องกงมีพื้นที่ 1,106 ตารางกิโลเมตร) แต่มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็น 1 ใน 4 เมืองศูนย์กลางของมณฑลเจ้อเจียง (นครหางโจว เมืองหนิงโป เมืองเวินโจว เมืองจินหัว – อี้อู) มีประชากร 1,859,400 คน (สถิติ ณ เดือนพฤศจิกายน 2563) ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่พักอาศัยระยะยาวกว่า 15,000 คน โดยในช่วงก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 ในแต่ละปีจะมีนักธุรกิจต่างชาติรวมถึงนักธุรกิจชาวไทยเดินทางยังเมืองอี้อูถึงเกือบ 560,000 คน
จาก “ตลาดนัด” ในวันนั้น.. สู่ “ตลาดโลก” ในวันนี้
จุดเริ่มต้นธุรกิจการค้าของเมืองอี้อูมาจาก “ขนไก่แลกน้ำตาล” ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าหาบเร่ของอี้อูที่นำน้ำตาลแดงซึ่งเป็นสินค้าท้องถิ่นตระเวนออกไปทุกสารทิศของจีน เพื่อแลกกับขนไก่หรือขนเป็ดของชาวบ้านแล้วนำกลับมาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของปุ๋ยที่ใช้สำหรับเร่งผลผลิตการเพาะปลูกอ้อย ต่อมาจึงค่อย ๆ พัฒนามาใช้ผลิตเป็นไม้กวาดขนไก่และสินค้าอื่น ๆ
กว่าอี้อูจะก้าวขึ้นเป็นตลาดระดับโลกในปัจจุบัน ได้ผ่านการพัฒนามาเป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปีจากตลาดยุคที่ 1 จนกระทั่งถึงตลาดยุคที่ 5 นั่นคือ “ศูนย์กลางการค้านานาชาติเมืองอี้อู (义乌国际商贸城)” หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “ตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดอี้อู”
ตลาดยุคที่ 1: เริ่มเปิดตั้งแต่เดือนกันยายน 2525 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มจัดระเบียบให้กลุ่มหาบเร่ โดยทางการได้มอบใบอนุญาตค้าขายให้แก่พ่อค้าที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข และจัดพื้นที่ไว้เฉพาะเพื่อให้กลุ่มพ่อค้ามารวมกันตั้งแผงลอย ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับตลาดนัดนั่นเอง
ตลาดยุคที่ 2: เริ่มสร้างขึ้นหลังจากตลาดยุคที่ 1 ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ และพัฒนาเติบโตเร็วจนเกินความคาดหมาย โดยตลาดยุคที่ 2 เริ่มเปิดดำเนินการในช่วงสิ้นปี 2527 มีแผงขายสินค้าเกือบ 2,000 แผง ในแต่ละวันมีผู้ซื้อขายมากกว่า 10,000 คน แบ่งเป็นผู้ที่มาจากต่างเมืองมากกว่าร้อยละ 60 ทั้งนี้ ในปี 2527 ตลาดอี้อูมียอดซื้อขายสินค้ารวมถึง 23.21 ล้านหยวน!! (นับเป็นมูลค่ามหาศาลในยุคสมัยนั้น) โดยสินค้าส่วนใหญ่จะขายไปยังเมืองและอำเภอที่อยู่รอบ ๆ อี้อูเท่านั้น
ตลาดยุคที่ 3: หลังจากเปิดตลาดยุคที่ 2 ได้เพียงไม่นาน พื้นที่ตลาดเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในช่วงต้นปี 2528 ทางการอี้อูจึงขยายพื้นที่แผงขายชั่วคราวอีก 300 แผง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการขยายตัวของตลาดที่รวดเร็ว ในเดือนธันวาคม 2528 จึงได้เริ่มสร้างตลาดยุคที่ 3 ขึ้นบนเนื้อที่ 44,000 ตารางเมตร รวมทั้งสิ้น 4,096 ร้าน ซึ่งภายในตลาดสามารถรองรับผู้ซื้อขายได้ 30,000 คน โดยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดตลาดช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2529 ทั้งนี้ ในปี 2529 ตลาดอี้อูมียอดซื้อขายสินค้าทะลุ 100 ล้านหยวนเป็นครั้งแรก โดยสินค้าได้ขยายจากเมืองและอำเภอที่อยู่รอบ ๆ อี้อูกระจายเพิ่มไปพื้นที่นอกมณฑลเจ้อเจียงด้วยแล้ว
ตลาดอี้อูยุคที่ 3 ได้ขยายการก่อสร้างถึง 2 ครั้ง ผู้คนจำนวนมากเริ่มรู้จักชื่อเสียงของตลาด คนท้องถิ่นในอี้อูมากมายเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดมากขึ้น จนกระทั่งถึงสิ้นปี 2533 ตลาดอี้อูได้กลายเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน โดยในปี 2534 ตลาดอี้อูมียอดของสินค้าทะลุ 1,000 ล้านหยวน
ตลาดยุคที่ 4: จากความสำเร็จในช่วงผ่านมา อี้อูได้เริ่มวางแผนก่อสร้างตลาดยุคที่ 4 ตั้งแต่ปี 2533 และเริ่มก่อสร้างในปี 2534 ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 เฟส รวมร้านค้าทั้งหมด 23,000 ร้าน โดยเฟสแรกเริ่มเปิดตั้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2535 และเฟส 2 เริ่มเปิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2537 ทั้งนี้ ในปี 2535 ตลาดอี้อูมียอดขายสินค้า 2,054 ล้านหยวน และขยายตัวแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องจนทะลุยอด 10,000 ล้านหยวนในปี 2537 โดยในปี 2538 ตลาดอี้อูมียอดขายสินค้า 15,200 ล้านหยวน
ตลาดยุคที่ 5: ตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดอี้อูในยุคปัจจุบัน ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 แบ่งออกเป็น 5 โซน (อาคาร) ครอบคลุมพื้นที่ทำธุรกิจ 6.4 ล้านตารางเมตร มีสินค้า 2.1 ล้าน SKU (Stock Keeping Unit) รวม 75,000 ร้าน มีสินค้าซึ่งแบ่งหมวดหมู่สินค้ายึดตามแต่ละโซน ดังนี้
โซนที่ 1: สินค้า Factory Outlet ของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย อัญมณี จิวเวอร์รี่ และของเล่นเด็ก เป็นต้น
โซนที่ 2: นาฬิกา เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ฮาร์ดแวร์ กระเป๋าสตรี และกระเป๋าเดินทาง เป็นต้น
โซนที่ 3: เครื่องเขียน เครื่องสำอาง ซิปรูด อุปกรณ์ตกแต่งเสื้อผ้า เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องกีฬา และแว่นตา เป็นต้น
โซนที่ 4: เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับร่างกาย รองเท้า ถุงเท้า สิ่งทอ ฯลฯ
โซนที่ 5: สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และสินค้าหัตถกรรม งานฝีมือ เครื่องนอน ฯลฯ
นอกจากตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดแห่งนี้แล้ว ในเมืองอี้อูยังมีตลาดค้าส่งสินค้าประเภทต่าง ๆ อีกหลายแห่ง อาทิ ตลาดค้าส่งเสื้อผ้าหวงหยวน (篁园) ตลาดค้าส่งเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และสิ่งทออู่อ้าย (五爱) ตลาดค้าส่งสินค้าคริสต์มาสจงเจ๋อ (宗泽) และตลาดค้าส่งของเล่นจื่อจิน (紫金) เป็นต้น
ด้วยความโดดเด่นของตลาดค้าส่งที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองอี้อู ล่าสุด ช่วงต้นปี 2564 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้มอบแนวทางและบทบาทใหม่ให้เมืองอี้อูบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเป็น “เมืองสินค้าเบ็ดเตล็ดของโลก (世界小商品之都 World’s Capital of Small Commodities)”
มูลค่าการค้าขยาย.. สร้างรายได้มหาศาล
ตลาดค้าส่งเมืองอี้อูที่มีชื่อเสียงระดับโลกเป็นจุดดึงดูดให้นักธุรกิจต่างชาติมุ่งเข้ามาทำการค้า ซึ่งมุ่งเน้นที่การจัดซื้อสินค้าของอี้อูและส่งไปจำหน่ายในประเทศของตนเอง นับเป็นปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเมืองอี้อูในแต่ละปีขยายตัวขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านการส่งออก ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่เมืองอี้อูและมณฑลเจ้อเจียงจำนวนมาก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าของเมืองอี้อูในปี 2563 (300,620 ล้านหยวน) คิดเป็นร้อยละ 1.68 ของมูลค่าการส่งออกทั่วทั้งประเทศจีน (17,932,636,000 ล้านหยวน)
แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ในปี 2563 แต่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเมืองอี้อูยังคงขยายตัวขึ้น คิดเป็น 312,950 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 5.4 แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 300,620 ล้านหยวน และมูลค่าการนำเข้า 12,330 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 และร้อยละ 23.4 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 เมืองอี้อูมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 272,690 ล้านหยวน (คิดเป็นร้อยละ 9.1 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของมณฑลเจ้อเจียง) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 18.0
ในส่วนการค้าระหว่างไทย – อี้อู ไทยถือเป็นประเทศที่อี้อูนำเข้าสินค้ามากเป็นอันดับ 1 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยในช่วงครึ่งแรกปี 2564 และปี 2563 มูลค่าการค้าระหว่างไทย – อี้อูก็ขยายตัวขึ้นด้วย
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า มูลค่าการค้าไทย – อี้อูในช่วงครึ่งแรกปี 2564 สูงเกือบเท่ามูลค่าการค้าของทั้งปี 2563 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2564 แล้ว การค้าระหว่างไทย – อี้อูน่าจะขยายตัวขึ้นกว่าปีที่แล้ว
เนื้อหาบทความในตอนนี้ได้ชี้เห็นให้ถึงศักยภาพของตลาดค้าส่งเมืองอี้อู ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่เมืองอี้อู สะท้อนถึงการดึงเอาจุดเด่นที่มีอยู่ในพื้นที่มาต่อยอดและตั้งเป้าหมายการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นในอนาคตต่อไป บทความในตอนหน้าจะกล่าวถึงปัจจัยด้านโลจิสติกส์ที่เป็นจุดเสริมให้ภาคการค้าของอี้อูขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โปรดติดตาม
*****************************
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
1. https://wenku.baidu.com หัวข้อ 义乌市场发展历程วันที่ 9 เมษายน 2563
2. www.sohu.com หัวข้อ 他用两年的时间 将义乌打造成全球知名小商品市场วันที่ 25 สิงหาคม 2564
3. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 超2700亿元!同比增长18%!前三季度义乌这项数据วันที่ 24 ตุลาคม 2564
4. https://quanmin.baidu.com หัวข้อ #批发市场#义乌16个批发市场,赶紧收藏起来วันที่ 29 พฤษภาคม 2564
5. www.jinhua.gov.cn หัวข้อ 义乌加速建设“世界小商品之都” วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564
6. เอกสารบรรยายเรื่อง World’s Capital of Small Commodities โดยนายหวัง เหวย รองนายกเทศมนตรีเมืองอี้อู