เจาะลึกหนทางโดรนในจีนสู่เกษตรอัจฉริยะ กับ XAG บริษัทโดรนเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในจีน ตอนที่ 1
19 Apr 2021ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบัน มณฑลกวางตุ้งทางภาคใต้ของจีนเป็นที่ตั้งของบริษัท DJI ซึ่งเป็นบริษัทผลิตโดรนเชิงพาณิชย์ (commercial drone) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 70 ของตลาดโดรนเชิงพาณิชย์ทั้งหมดของโลก ทั้งนี้ ปัจจุบัน จีนได้นำโดรนมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมทางการแพทย์ การรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อม การรักษาความปลอดภัย และอุตสาหกรรมเกษตร
วันนี้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว (BIC) ไม่ได้มาพูดถึงบริษัท DJI แต่จะมาเล่าถึง อีกหนึ่งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโดรนการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในจีน นั้นคือ บริษัท XAG ซึ่งเป็นบริษัทโดรนด้านเกษตรน้องใหม่ที่น่าจับตามอง โดยเติบโตจากการเป็นสตาร์ทอัพ (start-up) (เช่นเดียวกันกับบริษัท DJI) จนปัจจุบันสามารถกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีโดรนการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในจีนได้ และล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 บริษัท XAG ยังได้รับเงินจากการระดมทุนระดับซีรีย์ C (series c funding) ซึ่งมีมูลค่ามากถึง 182 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5,558 ล้านบาท) จากบริษัท Baidu และ บริษัทซอฟท์แบงค์วิชั่นฟันด์ (Softbank Vision Fund) ซึ่งนับเป็นการระดมทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเกษตรที่มีมูลค่ามากที่สุดในจีนเท่าที่เคยมีมา อย่างไรก็ดี ก่อนที่ศูนย์ BIC จะพาทุกท่านไป ทำความรู้จักกับบริษัท XAG มากกว่านี้ เราขอพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาของอุตสาหกรรมโดรนและนโยบายที่มีส่วนในการผลักดันการใช้งานโดรนในภาคการเกษตร
จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมโดรนในจีน
จีนเริ่มใช้โดรนครั้งแรกเมื่อช่วงปี 1950 และเริ่มผลิตโดรนของตนเองเมื่อปี 1966 ซึ่งในช่วงแรกจีนได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีจากสหภาพโซเวียต แต่ภายหลังเมื่อสหภาพโซเวียตยกเลิกโครงการสนับสนุน รัฐบาลจีนจึงหันมาพัฒนาเทคโนโลยีโดรนของตนเองใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง ซึ่งเมื่อช่วงปี 1980 – 1999 เป็นช่วงที่เทคโนโลยีโดรนด้านการทหารของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนเชิงพาณิชย์ (commercial drone) ในจีนเริ่มเด่นชัดขึ้นเมื่อปี 2012 โดยบริษัท DJI ได้เปิดตัวโดรนเชิงพาณิชย์แบบหลายใบพัดรุ่น S800 ซึ่งขณะนั้นนับเป็นโดรนถ่ายภาพทางอากาศที่มีความเสถียรที่สุดลำหนึ่งของโลก ซึ่งต่อมาอุตสาหกรรมโดรนเชิงพาณิชย์ในจีนเริ่มมีการพัฒนาและการแข่งขันที่เติบโตสูงขึ้นจึงกล่าวได้ว่าการเปิดตัวโดรนของบริษัท DJI ครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของอุตสาหกรรมโดรนเชิงพาณิชย์ของจีน
เมื่อปี 2013 อุตสาหกรรมโดรนเชิงพาณิชย์ของจีนมีมูลค่า 4,900 ล้านหยวน และเมื่อปี 2019 มีมูลค่า 23,880 ล้านหยวนซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 260 โดยเมื่อปี 2019 จีนมีมูลค่าการส่งออกโดรน 18,000 ล้านหยวน โดยในจำนวนดังกล่าวส่งออกโดยบริษัทโดรนที่ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้นร้อยละ 60
ภาครัฐเร่งสนับสนุนโดรนเกษตร
ถึงแม้ว่าจีนจะนำโดรนมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรตั้งแต่เมื่อปี 2013 แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่นแล้ว การนำโดรนมาใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรของจีนนั้นนับว่าช้าอยู่มาก อย่างไรก็ดี จีนมีอัตราการเติบโตของโดรนในอุตสาหกรรมเกษตรที่ถือว่ารวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเติบโตดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อปี 2013 โดรนเกษตรปรากฏในแนวทางการเร่งเสริมสร้างระบบคุ้มครองแรงงานที่ทันสมัยที่ประกาศโดยกระทรวงเกษตรและชนบทของจีน ซึ่งนับเป็นส่งเสริมการใช้โดรนเกษตรเชิงนโยบายของจีนครั้งแรก โดยระบุว่ารัฐบาลจะสนับสนุนพื้นที่ที่มีความพร้อมให้นำโดรน เฮลิคอปเตอร์ และอากาศยานปีกคงที่ (fixed-wing aircraft) มาใช้ในพื้นที่เกษตรเพื่อการฉีดพ่นยาป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ และเมื่อปี 2014 คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศแนวทางเกี่ยวกับการปฏิรูปชนบทและการเร่งการปรับปรุงการเกษตรให้ทันสมัย โดยระบุว่ารัฐบาลจะส่งเสริมสร้างการบินที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรต่อไป
กระทั่งเมื่อปี 2017 กระทรวงเกษตรและชนบทจีนได้ประกาศนโยบายมอบเงินอุดหนุนแก่กลุ่มเกษตรกรที่จัดซื้อโดรนที่ใช้ในการเกษตร โดยนโยบายดังกล่าวถูกใช้ในพื้นที่เกษตรนำร่องใน 6 มณฑล ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลอันฮุย มณฑลเจียงซี มณฑลหูหนาน และนครฉงชิ่ง ซึ่งมอบเงินอุดหนุนสูงสุด 30,000 หยวนต่อโดรน 1 เครื่อง ต่อมาได้ขยายนโยบายให้ครอบคลุมทุกมณฑลของจีนในปี 2018 และล่าสุด เมื่อปี 2019 กระทรวงเกษตรและชนบท และ สำนักงานคณะกรรมการความมั่นคงไซเบอร์ ประกาศแผนพัฒนาเกษตรและชนบทดิจิทัล ประจำปี 2019 – 2025 โดยระบุว่าจะส่งเสริมสร้างการใช้โดรนปัญญาประดิษฐ์ในด้านการเกษตรมากขึ้นอีกด้วย
รัฐบาลจีนจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการใช้โดรนเกษตรในจีนซึ่งได้สะท้อนแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของจีนให้ก้าวสู่การเป็น “อุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ” มีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์แรงงานด้านการเกษตรที่มีจำนวนน้อยลงและความพยายามที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับอนาคตอย่างยั่งยืน
สถานการณ์ปัจจุบันของโดรนเกษตรในจีน
นับตั้งแต่โดรนได้รับการผลักดันและสนับสนุนจากรัฐบาลจีนทั้งในด้านนโยบายและด้านการเงิน ปัจจุบัน โดรนได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายไม่เฉพาะด้านการเกษตร แต่เข้าไปมีบทบาทในหลายอุตสาหกรรม เช่น การตรวจสอบโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าและท่อขนส่งน้ำมัน การบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน การสำรวจทรัพยากร การท่องเที่ยว การแพทย์ การขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การคมนาคม การตรวจสอบสภาพอากาศ และการเกษตร เป็นต้น
โดยเมื่อปี 2020 บริษัท Frost & Sullivan ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจและการวิจัยและวิเคราะห์ตลาดและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ได้วิเคราะห์มูลค่าของตลาดโดรนสำหรับอุตสาหกรรมในจีน ซึ่งประกอบด้วยตลาดฮาร์ดแวร์และตลาดบริการโดยคำนวณจากยอดสั่งซื้อ โดยระบุว่า เมื่อปี 2019 มูลค่าโดรนในภาคการเกษตรของจีน มีมากถึง 4,543 ล้านหยวน และคาดว่าในปี 2024 โดรนในภาคการเกษตรจะมีมูลค่ามากถึง 31,875 ล้านหยวน
นอกจากนี้ บริษัท Frost & Sullivan ยังระบุด้วยว่า มูลค่าโดรนที่ใช้ในภาคการเกษตรของจีนมีอัตราการเติบโตของพอร์ตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate) ระหว่างปี 2015 – 2019 มากถึงร้อยละ 30.28 และคาดว่าช่วงปี 2020 – 2024 มูลค่าโดรนที่ใช้ในภาคการเกษตรของจีนจะเติบโตมากขึ้นกว่าร้อยละ 47.20 อย่างไรก็ดี บริษัท Frost & Sullivan คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2020 – 2024 เทคโนโลยีโดรนจะถูกทำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีนเพิ่มมากขึ้นโดยคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตมากถึงร้อยละ 200
แหล่งที่มาของข้อมูล Frost & Sullivan
ปัจจุบัน เทคโนโลยีโดรนเกษตรของจีนนับว่ามีการพัฒนาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีโดรนสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างไรก็ดี ในอนาคต ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoTs) การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud computing) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะผลักดันการพัฒนาโดรนเกษตรให้ก้าวหน้ารวดเร็วแบบก้าวกระโดด ซึ่งในตอนต่อไป ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจะมาเล่าถึง บริษัท XAG บริษัทเทคโนโลยีโดรนด้านการเกษตร ม้ามืดที่ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทโดรนเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในจีนและได้นำเทคโนโลยีข้างต้นมาใช้กับโดรนกับวิสัยทัศน์ที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการเกษตรสำหรับในอีก 100 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไรนั้นโปรดติดตามตอนต่อไป