จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
ไฮไลท์
- โลกปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้สังคมออนไลน์ของจีนเกิด “หว่างหง” หรือ “คนดังบนโลกออนไลน์” เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และด้วยความนิยมและจำนวนผู้ติดตามที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หว่างหงพัฒนาไปเป็นปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน จนเกิดเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจหว่างหง” พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ที่มีวิธีการทางการตลาดที่แม่นยำและตรงกลุ่มเป้าหมาย สร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับภาคธุรกิจจีน
- “หว่างหง” เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น วันคนโสด 11.11 วันสตรีสากล 3.8 สามารถสร้างยอดขายได้ถึงหลักพันล้านหยวนผ่านการ Live-Streaming เพียงไม่กี่ชั่วโมง กลายเป็นกำลังสำคัญและตัวเชื่อมระหว่างผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภคที่ภาคธุรกิจทั้งหลายในจีนกำลังจับตามอง
- ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จีนก้าวเข้าสู่ยุคของการนิยมชมคลิปสั้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งกลายเป็นช่องทางการสร้างรายได้ของ “หว่างหง” โดยนำ “คลิปสั้น+เอกลักษณ์เฉพาะ” มาเป็นรูปแบบในการสร้างสรรค์ผลงาน ขยายขอบเขตรูปแบบการทำงาน นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการผลักดัน “อำนาจละมุน” (Soft Power) ของจีนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
บทนำ
บทบาทของอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดียได้ทวีความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การแพร่ระบาดฯ ส่งผลให้ผู้คนใช้เวลาในการท่องโลกออนไลน์มากขึ้น ความนิยมในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และการรับชมคลิปสั้นบนโซเซียลมีเดียเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจัยสำคัญหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสังคมออนไลน์จีนก็คือ “หว่างหง (Wanghong : 网红)” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์” และเนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์จีนทำให้เกิดหว่างหงเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างจนเกิดเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “网红经济” หรือ “Wanghong Economy”
“Wanghong” และ “Wanghong Economy” คืออะไร และมีอิทธิพลอย่างไรต่อการพัฒนาธุรกิจการค้า
“Wanghong” (หว่างหง) หรือที่ในภาษาอังกฤษมักจะเรียกว่า “Influencer” หมายถึง “คน” ที่ดึงดูดความสนใจบนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก และด้วยจำนวนผู้ติดตามที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้พวกเขาค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การได้รับความสนใจในวงกว้าง จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งการเกิดขึ้นของ “หว่างหง” ได้สร้างความหมายแฝงและขยายขอบเขตของทฤษฎีคนดังให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยบุคคลเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ผ่านการโฆษณา การรับรองแบรนด์สินค้า การเข้าสู่วงการบันเทิงและการขายผลิตภัณฑ์ จากความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นทำให้พวกเขาได้พัฒนาไปเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จนเกิดเป็น “Wanghong Economy” (เศรษฐกิจหว่างหง) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เศรษฐกิจผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์” ซึ่งถือได้ว่าเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ที่มีวิธีการทางการตลาดที่แม่นยำและตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยอาศัยอิทธิพลและความนิยมของคนดังบนโลกออนไลน์เป็นช่องทางในการสร้างรายได้และผลประโยชน์ทางธุรกิจ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยกลุ่มแฟนคลับหรือผู้ติดตามรูปแบบหนึ่ง
ปัจจุบัน บทบาทที่ค่อนข้างเด่นชัดของ “หว่างหง” ในจีนคือ การโฆษณาขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทำให้ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากรายงานข้อมูลธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2564 ของ Douyin (หรือ TikTok) และ Kuaishou โดย GUOJI.PRO บริษัทให้บริการวิเคราะห์กลยุทธ์การตลาดบนสื่อออนไลน์ พบว่า ขนาดธุรกรรมของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ยอดนิยมทั้งสองแพลตฟอร์มยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีจำนวนการถ่ายทอดสด (Live-Streaming) รวมมากถึง 75 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 และมียอดขายจากการถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบเป็นรายปี และจากรายงานทางการเงินของ Alibaba ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 Taobao Live มียอดขายสินค้าออนไลน์ (GMV) ในช่วง 12 เดือน เกิน 4 แสนล้านหยวน มีการถ่ายทอดสดมากกว่า 100,000 รายการ มีผู้ใช้งานเข้าชมการถ่ายทอดสดมากกว่า 500,000 ชั่วโมงต่อวัน และมีจำนวนการไลฟ์สดเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึงร้อยละ 661
เมื่อปลายปี 2563 Taobao Live และ Taobangdan ได้จัดอันดับ “10 เมืองผู้นำแห่งการ Live-Streaming” ซึ่งนอกจากกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว และเมืองหางโจวที่เศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีการพัฒนาเต็มที่อยู่แล้ว ยังมีเมือง “ม้ามืด” เกิดใหม่มากกว่าครึ่ง นครเฉิงตูและนครฉงชิ่งได้ถูกจัดเป็นเมืองม้ามืดอยู่ในรายชื่อ 10 เมืองดังกล่าวด้วย โดยมีความโดดเด่นด้วยการถ่ายทอดสดผ่านรูปแบบ “การถ่ายทอดสด+อุตสาหกรรมลักษณะเฉพาะ” อาทิ รองเท้าสตรี อาหาร เสื้อผ้าสตรีพลัสไซส์ เป็นต้น
บุคคลผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ที่ได้รับความนิยมและความสนใจในการขายสินค้าออนไลน์ผ่าน Live-Streaming มากที่สุดในจีนในขณะนี้คือ หลี่ เจียฉี “Li Jiaqi” ชายหนุ่มที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งลิปสติก” (口红一哥) โดยการไลฟ์รีวิวและขายสินค้าบนแพลตฟอร์มเถาเป่า (Taobao) เป็นหลัก และในกิจกรรมพรีเซลล์ของงาน Tmall 3.8 Goddess Festival ของอาลีบาบา (Alibaba) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีผู้เข้าชมการถ่ายทอดสดของเขามากถึง 70 ล้านครั้ง สามารถทำยอดขายได้ถึง 2,825 ล้านหยวน จากสถิติยอดขายสินค้าผ่านการ Live-Streaming เพียงไม่กี่ชั่วโมงของเหล่าหว่างหง สามารถสร้างยอดขายให้กับแบรนด์สินค้าได้อย่างมหาศาล ทำให้พวกเขากลายเป็นกำลังสำคัญและตัวเชื่อมระหว่างผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภคที่ภาคธุรกิจทั้งหลายในจีนให้ความสนใจและจับตามอง
บทบาทของ “หว่างหง” มีมากกว่าการโฆษณาขายสินค้าออนไลน์
ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายมากขึ้น ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการนิยมชมคลิปสั้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่มีทั้งความคิดสร้างสรรค์และความหลากหลาย ทำให้คลิปสั้นค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ และกลายเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับ “หว่างหง” จากรายงานการวิจัย “การพัฒนาเศรษฐกิจผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ประจำปี 2564” โดย Qianji touxing , Zichan xinxi wang , iFinD พบว่า ฝ่ายโฆษณาของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ยินดีที่จะใช้ผู้นำทางความคิดบนสื่อออนไลน์ (Key Opinion Leader : KOL) ในการส่งเสริมการขายมากกว่าร้อยละ 60 และเลือกใช้การโฆษณาผ่านคลิปสั้นถึงร้อยละ 55 “หว่างหง” ของจีนส่วนใหญ่จะอาศัยแพลตฟอร์ม อาทิ Miaopai, Kuaishou และ Douyin เป็นช่องทางในการเผยแพร่คลิปสั้นด้วยการสร้างคอนเทนต์ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายหรือเรียกว่า “Content Marketing” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำโฆษณา ตามรายงานสถิติเกี่ยวกับการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในจีนครั้งที่ 48 โดยศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของจีน ณ เดือนมิถุนายน 2564 มีจำนวนผู้ใช้งานในแพลตฟอร์มคลิปสั้นถึง 888 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2563 14.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 87.8 โดยมีระยะเวลาในการเข้าชมคลิปสั้นเฉลี่ย 69 นาที/คน/วัน เนื้อหาคลิปสั้นมีความหลากหลาย อาทิ อาหาร แฟชั่น ครอบครัว การท่องเที่ยว เป็นต้น และเนื่องจากคลิปมีเวลาจำกัด ทำให้เนื้อหาต้องกระชับ เน้นสาระสำคัญ สร้างสรรค์และน่าสนใจ และด้วยความนิยมคลิปสั้น ประกอบกับจำนวนผู้ติดตาม “หว่างหง” ที่เพิ่มมากขึ้นจึงทำให้คลิปสั้นที่ถูกเผยแพร่ออกไปเกิดเป็น “ไวรัล” บนอินเทอร์เน็ตและเกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ๆ บนโลกออนไลน์ได้ภายในชั่วข้ามคืน
สถานที่ท่องเที่ยวหว่างหง ร้านหนังสือหว่างหง ร้านหม้อไฟหว่างหง ร้านกาแฟหว่างหง… ทุกวันนี้ “หว่างหง” กลายเป็นธุรกิจที่สามารถพบเห็นได้ทุกที่ในชีวิตประจำวันของจีน นอกจาก “หว่างหง” จะสามารถใช้กับคนแล้วยังสามารถใช้กับสถานที่ได้อีกด้วย ในภาษาจีนจะเรียกสถานที่เหล่านั้นว่า “สถานที่ที่มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์” หรือ “网红点” และยิ่งเมื่อสถานที่เหล่านี้มีเหล่า “คนดังบนโลกออนไลน์” มาเช็คอินหรือใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำแล้วนำไปเผยแพร่ต่อบนแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ เหล่าผู้ติดตามก็จะถูกดึงดูดให้สนใจสถานที่เหล่านั้นตามไปด้วย ชาวจีนจะเรียกสถานที่เหล่านั้นว่า “จุดเช็คอินหว่างหง” หรือ “网红打卡点” ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเป็นคลิปสั้นนำไปเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มคลิปสั้น อาทิ Xiaohongshu, Douyin, Kuaishou, Weibo ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากจนเกิดเป็นไวรัลบนอินเทอร์เน็ต ทำให้สถานที่เหล่านั้นกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมได้ภายในชั่วข้ามคืน เช่น ทะเลสาบเกลือฉาข่า สถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นกระจกแห่งท้องฟ้า จากสถิติของสำนักงานการท่องเที่ยวอำเภออูหลาน เขตปกครองตนเองไห่ซี มณฑลชิงไห่ พบว่า หลังจากทะเลสาบเกลือฉาข่าได้กลายเป็น “สถานที่ท่องเที่ยวหว่างหง” ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปี 2555 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 54,000 คน เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านคน ในปี 2562 และในช่วงวันแรงงานของปี 2564 มีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 78,000 คน ปัจจุบันคนชาวฉาข่าจึงได้หันมาดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากกว่าร้อยละ 80 และนี่คืออิทธิพลของ “หว่างหง” และอินเทอร์เน็ตหรือโลกออนไลน์
มณฑลเสฉวนเป็นหนึ่งในเมืองแห่งผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ของจีน
มณฑลเสฉวนได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ศูนย์บ่มเพาะหว่างหง” ขนาดใหญ่ เพราะเป็นเมืองที่มียีนของการเป็นหว่างหงมาแต่กำเนิด ซึ่งยีนที่เรากำลังกล่าวถึงนี้คือ ยีนเด่นหรือเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองนั่นเอง หมีแพนด้า อาหารเสฉวน โรงน้ำชา ถนนคนเดินชุนซีลู่ ไท่กู๋หลี่ วัดต้าฉือซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์และความทันสมัยได้อย่างลงตัว ล้วนเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงภาพลักษณ์ของมณฑลเสฉวนได้เป็นอย่างดี และด้วยเอกลักษณ์เฉพาะเหล่านี้ทำให้สถานที่หลายแห่งในมณฑลเสฉวนถูกจัดอันดับให้เป็น “สถานที่ที่มีชื่อเสียงบนโลกอินเทอร์เน็ต” และกลายเป็น “จุดเช็คอิน” ที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาถ่ายภาพ โพสต์ลงบนโมเมนต์วีแชท เวยป๋อและแพลตฟอร์มคลิปสั้น จนกลายเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่งของมณฑล
หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าการที่เมืองมีเอกลักษณ์เฉพาะจะทำให้กลายเป็นเมืองแห่งผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ได้อย่างไร จึงจะขอยกตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เชื่อว่าหลายคนทั่วโลกอาจจะเคยดูคลิปของสาวน้อยที่ชื่อว่า หลี่ จื่อชี “Li ziqi” ชาวเมืองเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน ผู้ถ่ายทอดวิถีชีวิตเรียบง่ายในชนบทกับคุณยายของเธอผ่านคลิปสั้น โดยเธอเล่าเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายและเงียบสงบในชนบทของจีน ทั้งยังให้ความรู้ในด้านการทำเกษตร วิธีการทำอาหารแบบโบราณ งานฝีมือแบบโบราณ โดยบางคลิปเธอจะสวมใส่ชุดจีนโบราณฮั่นฝู ชุดกี่เผ้าในการถ่ายทำ เผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งของจีนและระดับนานาชาติอย่าง YouTube โดยมีผู้ติดตามมากถึง 17 ล้านคน และมีคลิปที่มียอดวิวสูงสุดถึง 100 ล้านวิว ทำให้เธอได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมจีนที่จับต้องไม่ได้เปิดเผยสู่สายตาของชาวโลก เธอเคยกล่าวว่า “ฉันรักเหมียนหยางบ้านเกิดของฉัน เหมียนหยางมีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามและมีมรดกทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง ซึ่งมันได้สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อจะถ่ายทอดทิวทัศน์ในชนบท มรดกทางอาหารที่จับต้องไม่ได้ของบ้านเกิดของฉันผ่านวิดีโอให้ผู้คนรู้จักบ้านเกิดของฉันและประเทศจีนมากขึ้น” ในปี 2562 เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของนครเฉิงตู และได้เป็น 1 ใน 10 ตัวแทนผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งชาติ ประจำปี 2564
หนุ่มอีกคนที่ถูกแชร์จนเป็นไวรัลชั่วข้ามคืน นามว่า “ติงเจิน” (Ding zhen) ชาวอำเภอหลี่ถัง เขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตกานจือ มณฑลเสฉวน หนุ่มน้อยคนนี้เป็นที่รู้จักมาจากการที่นักท่องเที่ยวถ่ายคลิปตัวเขาในความยาวเพียงไม่กี่วินาทีลงใน Douyin ก่อนจะกลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน ด้วยรอยยิ้มอันไร้เดียงสา ภาพวิวทิวทัศน์อันสวยงามของอำเภอหลี่ถัง สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนมากมายบนโลกออนไลน์ ผู้ให้บริการด้านการจองที่พักโรงแรมและบริการด้านการท่องเที่ยว (OTA) ได้เปิดเผยสถิติว่า ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณการค้นหา “หลี่ถัง” เพิ่มขึ้นร้อยละ 620 สูงกว่าช่วงวันหยุดวันชาติจีน 4 เท่า จำนวนการจองโรงแรมในเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตกานจือในบางแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 89 และต่อมาติงเจินก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตส่งเสริมวัฒนธรรมการท่องเที่ยวมณฑลเสฉวน
หลายคนมีความฝันอยากจะเป็น “หว่างหง” ในนครเฉิงตู ตลอดจนมณฑลเสฉวน “เศรษฐกิจหว่างหง” ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ต้องอาศัยการบ่มเพาะและกลยุทธ์ต่าง ๆ เห็นได้จากในปี 2562 เพียงปีเดียว มีสถาบัน MCN (Multi-Channel Network) หรือเรียกว่า “ผู้จัดการส่วนตัวของเหล่าหว่างหง” เกิดขึ้นในนครเฉิงตูประมาณ 200 แห่ง และปัจจุบันสถาบัน MCN ได้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญของนครเฉิงตูไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นครเฉิงตูได้เพิ่มการลงทุนด้านอาหาร ดนตรี แฟชั่น และสาขาอื่น ๆ ด้วยการทำงานร่วมกับสื่อรูปแบบใหม่ ตลอดจนส่งคำเชิญขอความร่วมมือไปยังกลุ่ม “大V” หรือ “บุคคลสาธารณะ” ที่มีผู้ติดตามบน Weibo 500,000 คน อาทิ บริษัท Tencent บริษัทเทคโนโลยีแอปพลิเคชั่นทางโลกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของจีน เชื่อว่า มาตรการเหล่านี้จะนำโอกาสมากมายมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจหว่างหงและการพัฒนาสถาบัน MCN ในอนาคต
ผู้นำทางความคิดกับบทบาทสำคัญในการผลักดัน “อำนาจละมุน” (Soft Power)
“ซอฟต์ พาวเวอร์” หรือ “อำนาจละมุน” หลายคนอาจเคยได้ยินคำเหล่านี้ผ่านหูมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่เข้าใจว่า “อำนาจละมุน” แท้จริงแล้วคืออะไร สามารถอธิบายอย่างง่ายได้ว่า เป็นความสามารถในการดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วม โดยไม่ใช้กำลังหรืออำนาจบีบบังคับผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม ซึ่งในทางเศรษฐกิจมองว่าเป็นความสามารถในการปรับโครงสร้างแรงจูงใจของกลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล ผู้สร้างกระแสความนิยมข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีระดับโลก Coachella ให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจนทำให้ยอดขายข้าวเหนียวมะม่วงพุ่งกระฉูด หรือ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล นักร้องวง BLACKPINK ผู้ที่ทำให้ชุดไทย ชฎาไทย กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลกผ่านมิวสิควิดีโอของเธอ และทำให้ร้านลูกชิ้นยืนกินในจังหวัดบุรีรัมย์บ้านเกิดเป็นที่รู้จักไปทั่ว สิ่งเหล่านี้เป็นแรงดึงดูดที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับให้ทำตาม แต่เป็นแรงดึงดูดที่ทำให้ผู้คนสนใจโดยสมัครใจ นอกจากนี้ ยังมีเนเน่-พรนับพัน พรเพ็ญพิพัฒน์ ไอดอลสาวไทยที่ถือทุเรียนเดินแบบโชว์ผ่านรายการไลฟ์สดของจีนจนกลายเป็นไวรัลและพุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งอย่างรวดเร็ว บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็น “ผู้ทรงอิทธิพล” หรือ ซอฟต์ พาวเวอร์ ที่สามารถขับเคลื่อนสังคมผ่านโลกออนไลน์ได้
รัฐบาลไทยเริ่มให้ความสำคัญและสนับสนุนซอฟต์ พาวเวอร์ ส่งเสริมความเป็นไทยให้มีบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) สู่ระดับโลก ตัวอย่างเช่น ละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมไทยโบราณและร่วมสมัยเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ได้สร้างชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นที่รู้จักในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงจีนและประเทศเพื่อนบ้านของไทย สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน สังคมบันเทิง และประชาชนในการทำให้ 5 F กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยในอนาคต
กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลบนสื่อออนไลน์นับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน “ซอฟต์ พาวเวอร์” ของไทย ปัจจุบันบุคคลกลุ่มนี้กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในไทย โดยเฉพาะภายหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ และมีการรับเอาแพลตฟอร์มคลิปสั้นอย่าง TikTok เข้ามาจนเป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนี้ ประกอบกับ YouTube ที่มีความนิยมอยู่แล้วในประเทศไทย จนเกิดอาชีพใหม่อย่าง Youtuber และ TikToker ขึ้นมา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วบุคคลกลุ่มนี้มีลักษณะการทำงานที่คล้ายคลึงกับ “หว่างหง” ของจีน โดยเป็นกลุ่มบุคคลที่กำลังพัฒนาไปเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งในภาคธุรกิจ และด้วยจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นและความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ การคิดคอนเทนต์ให้โดนใจทั้งเจ้าของแบรนด์และผู้บริโภคที่ติดตามพวกเขาจึงเป็นที่น่าจับตามองว่าบุคคลกลุ่มนี้จะสามารถพัฒนาไปเป็นธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่สามารถขยายอิทธิพลจนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเหมือนอย่างหว่างหงในจีนได้หรือไม่
บทส่งท้าย
“เศรษฐกิจผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์” แม้จะยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับใครหลายคน แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ภาคส่วนต่าง ๆ กำลังจับตามอง ในสังคมจีนในปัจจุบัน คำพูดและการกระทำของผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์สามารถชักจูง โน้มน้าวผู้ติดตามได้อย่างมาก ซึ่งไม่ได้เป็นแต่เพียงปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่สามารถทำให้พฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคเปลี่ยนไปจนสามารถสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้แก่ภาคธุรกิจและตนเอง และเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ แต่ยังเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่สามารถขยายผลจากการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ไปสู่การพัฒนาในมิติอื่น ๆ อาทิ อาหาร การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน Soft Power เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจให้ไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจเรียนรู้และพิจารณาเลือก “หว่างหง” ของจีนไปเป็นตัวช่วยในการเชื่อมต่อระหว่างผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภค โดยหนุ่มหลี่ เจียฉี หว่างหงจีนที่ได้รับความนิยมในการรีวิวขายสินค้าออนไลน์มากที่สุดในตอนนี้ก็เคยได้รีวิวขายครีมกันแดดของ “ธัญ (THANN) ” ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพผิวแบรนด์ไทยมาแล้วเช่นกัน หรืออาจพิจารณาเลือกกลุ่ม “อินฟลูเอนเซอร์” ไทยที่กำลังพัฒนาและเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้มาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการโฆษณาสินค้า อย่างไรก็ดี เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นโลกออนไลน์ หลายคนหลายมุมมอง ย่อมมีผลลัพธ์ทั้งในทางบวกและทางลบ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการใช้ การควบคุมและผลักดันโดยตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของความถูกต้องและสร้างสรรค์
———————————-
แหล่งที่มาข้อมูล
1.“Wanghong” และ “Wanghong Economy”
– Sun jing & Wang Xinxin.(2019). Wanghong and wanghong economy: a review based on the celebrity theory(J). Foreign Economics & Management, 18-30.
– Erin Lucas.(2020). Influencer, Fans, and Marketing: Chinese Influencer Economy Characteristics (, B.A.). Graduate Program in East Asian Languages and Literatures The Ohio State University, 13-60.
– http://opinion.people.com.cn/n1/2022/0401/c1003-32389378.html (เข้าถึงเมื่อ 10 มิ.ย. 65)
– http://www.21jingji.com/article/20211029/herald/2e86b346e1d4734638618ce01ea1c5a7.html (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
– http://www.ce.cn/xwzx/gnsz/gdxw/202108/02/t20210802_36767895.shtml (เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 65)
2.รายงานการถ่ายทอดสดขายสินค้าออนไลน์ Douyin, Kuaishou ,Taobao
– https://www.cbndata.com/report/2826/detail?isReading=report&page=12 (เข้าถึงเมื่อ 9 มิ.ย. 65)
– https://blog.kurokoz.com/wp-content/uploads/2021/05/1621946393-218-taobao-live-2021-annual-report.pdf (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
– https://www.cbndata.com/report/2633/detail?isReading=report&page=3&readway=stand (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
3.ข้อมูลเกี่ยวกับการไลฟ์ขายสินค้าออนไลน์
– https://www.chinaz.com/2022/0527/1401043.shtml (เข้าถึงเมื่อ 10 มิ.ย. 65)
– https://www.dsb.cn/186950.html (เข้าถึงเมื่อ 10 มิ.ย. 65)
4.ข้อมูลเกี่ยวกับผู้นำทางความคิด
– https://www.bangkokbiznews.com/columnist/960962 (เข้าถึงเมื่อ 10 มิ.ย. 65)
– https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/127706 (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
– https://www.bangkokbiznews.com/columnist/962221 (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
5.จุดเช็คอินหว่างหง
– https://m.thepaper.cn/newsDetail_forward_14773406 (เข้าถึงเมื่อ 10 มิ.ย. 65)
– https://iask.sina.com.cn/b/6eLHRr7zCb1.html (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
6.การสำรวจแนวโน้มการประกอบอาชีพของคนหลังยุค 95
– https://m.21jingji.com/article/20170525/herald/6442ee22c6f03fbedca6259ec97aa4da.html (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
– http://m.21jingji.com/article/20170524/herald/e5f1fa75b6315d33931a35872c8af6c2.html (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
– https://www.sohu.com/a/377835240_100280292 (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
7.การจัดอันดับเมืองแห่งการถ่ายทอดสด
– https://www.sohu.com/a/441154860_114930 (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
8.คลิปสั้น
– https://www.163.com/dy/article/GULJBH3C0517CTDU.html (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
– https://n2.sinaimg.cn/finance/a2d36afe/20210827/FuJian1.pdf (เข้าถึงเมื่อ 13 มิ.ย. 65)
– https://www.31fabu.com/topic/llsd201224.html (เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 65)
– http://www.zgdysj.com/html/news/20200706/50726.shtml (เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 65)
9.ข้อมูลของหลี่ จื่อชี
– https://m.thepaper.cn/baijiahao_18453115 (เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 65)
– https://m.gmw.cn/baijia/2022-06/11/35802836.html (เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 65)
10.ข้อมูลของติงเจิน
– https://www.xinhuathai.com/vdo/158509_20201205 (เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 65)
– http://www.thousandreason.com/post02262551023757?utm_source=thousandreason.com&utm_medium=bottom_recommend (เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 65)
– http://www.sc.chinanews.com.cn/whty/2021-06-03/149908.html (เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 65)
– https://www.sohu.com/a/470057965_114988 (เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 65)
11.MCN
– http://sc.sina.cn/life/news/2021-01-07/detail-iiznezxt1065905.d.html (เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 65)
– https://finance.sina.cn/tech/2020-09-25/detail-iivhvpwy8747501.d.html?fromtech=1&from=wap (เข้าถึงเมื่อ 14 มิ.ย. 65)
12.Soft power
– https://tdri.or.th/2022/04/soft-power-thai/ (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.bangkokbiznews.com/columnist/1000787 (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.brandthink.me/content/whatissoftpower (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/999871 (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.bangkokbiznews.com/columnist/128204 (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.bangkokbiznews.com/columnist/984984 (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.bangkokbiznews.com/columnist/992654 (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/52649 (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.thaigov.go.th/infographic/contents/details/5232 (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://workpointtoday.com/soft-power-thailand/ (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://mgronline.com/china/detail/9650000055315 (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/123389 (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
แหล่งที่มารูปภาพ
– https://www.58pic.com/newpic/35346963.html (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.58pic.com/newpic/44061995.html (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://dl.58pic.com/37404231.html (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.58pic.com/newpic/43569157.html (เข้าถึงเมื่อ 15 มิ.ย. 65)
– https://www.sohu.com/a/435519896_161795 (เข้าถึงเมื่อ 16 มิ.ย. 65)
– https://www.youtube.com/watch?v=z_nDDebiefE (เข้าถึงเมื่อ 16 มิ.ย. 65)