“ธุรกิจชานม” ในจีนยังโต โอกาสของ “ชานมไทย” เมืองในมณฑลกวางตุ้งคลั่งชานมมากที่สุดในจีน
18 Oct 2023ก่อนหน้านี้ ศูนย์ BIC กว่างโจวได้เคยนำเสนอข้อมูลของการบริโภคชารูปแบบใหม่ในจีนไปแล้ว และผู้อ่านคงคุ้นหูกับชาแนวใหม่ของจีนแบบต่าง ๆ กันมาบ้าง โดยเฉพาะชาผสมผลไม้ ชานมสด ชานมไอศกรีม หรือชานมผสมเหล้าเหมาไถ (Moutai) ที่กลายเป็น talk of the town จนขาดตลาดในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ในสมรภูมิการแข่งขันชาแนวใหม่อันดุเดือดนี้ “ชานม” ยังคงเป็นเมนูยอดนิยมของผู้บริโภคในจีน
เมืองไหนดื่มชานมมากที่สุดในจีน? น่าจะเป็นอีกหนึ่งคำถามสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาเปิดตลาดเครื่องดื่มชานมไทยในตลาดจีนที่มีกำลังการบริโภคสูง
ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบัน “นครกว่างโจว” เป็นที่ตั้งของธุรกิจชานมมากที่สุดในจีน โดยนครกว่างโจวมีธุรกิจชานมมากกว่า 12,000 แห่ง และยังเป็นเมืองเดียวของจีนที่มีร้านเครื่องดื่มชาแนวใหม่มากกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง มากที่สุดในจีน รองลงมาคือเมืองเซินเจิ้น เมืองตงก่วน นครเฉิงตู นครเซี่ยงไฮ้ และนครฉงชิ่ง
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของจำนวนร้านชานมต่อจำนวนประชากร พบว่า “เมืองตงก่วน” ครองแชมป์อันดับหนึ่งของจีน โดยมีธุรกิจชานม 7.7 แห่งต่อประชากร 10,000 คน ตามมาด้วยนครกวางโจว เมืองเซินเจิ้น นครคุนหมิง และนครฉางซา โดยเมืองใน 3 อันดับแรกล้วนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง กล่าวได้ว่า “มณฑลกวางตุ้งนิยมดื่มชานมมากที่สุดในจีน”
มูลค่าธุรกิจชานมเติบโตสองเท่า ภายในระยะเวลา 5 ปี
โดยเมื่อช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการเครื่องดื่มชาแนวใหม่ของสมาคมธุรกิจเฟรนไชน์จีน ร่วมกับสถาบันวิจัยอาหารและเครื่องดื่มแนวใหม่ของบริษัทเหม่ยถวน (Meituan) ได้เผยแพร่ “รายงานการวิจัยเครื่องดื่มชาแนวใหม่ปี 2023” ระบุว่า มูลค่าการบริโภคเครื่องดื่มชาแนวใหม่ของจีน ขยายตัวจาก 53,400 ล้านหยวนเป็น 103,800
ล้านหยวนในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่าเกือบสองเท่าตัว และระบุด้วยว่า ภายในปี 2566 ขนาดตลาดการบริโภคเครื่องดื่มชาแนวใหม่คาดว่าจะสูงถึง 149,800 ล้านหยวน และขยายตัวเป็น 201,500 ล้านหยวน ภายในปี 2568
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก “รายงานการพัฒนาคุณภาพสูงของเครื่องดื่มชาแนวใหม่ ประจำปี 2565” ระบุว่า เมื่อปี 2565 จีนมีร้านเครื่องดื่มชาแนวใหม่ประมาณ 450,000 แห่ง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน “ร้านกาแฟ” ที่เติบโตจากตลาด niche จนตอนนี้เป็นตลาด mass มีจำนวนร้านอยู่เพียง 138,000 แห่ง หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 30 ของร้านชาแนวใหม่เท่านั้น โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 จีนมีจำนวนร้านเครื่องดื่มชาแนวใหม่ที่เปิดให้บริการแล้วจำนวนมากถึง 515,000 แห่ง
ทั้งนี้ พบว่านอกจากนครกว่างโจวแล้ว จำนวนร้านเครื่องดื่มชาแนวใหม่ที่เมืองตงก่วน เมืองเซินเจิ้น นครเฉิงตู นครเซี่ยงไฮ้ และนครฉงชิ่งมีจำนวนระหว่าง 6,000 ถึง 9,000 แห่ง ขณะที่ นครคุนหมิง นครฉางซา เมืองซูโจว นครหนานจิง นครหางโจว นครอู่ฮั่น นครซีอานและกรุงปักกิ่งมีจำนวนระหว่าง 3,000 ถึง 6,000 แห่ง และนครเหอเฟย เมืองหนิงโป นครเจิ้งโจว เมืองชิงเต่า และนครเทียนจินมีจำนวนน้อยกว่า 3,000 แห่ง
รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นด้วยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การสั่งซื้อเครื่องดื่มชาแนวใหม่ผ่านบริการ delivery ของผู้บริโภคในเมืองใหญ่ของจีน (Tier 1) มีอัตราการเติบโตสูงสุด ร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2565 โดยเมืองรอง ระดับ Tier 5 ขยายตัวร้อยละ 36 เมืองรอง ระดับ Tier 4 ขยายตัวร้อยละ 30 ขณะที่เมืองใหญ่ใหม่ (New Tier 1) และเมืองรอง ระดับ Tier 3 อัตราการเติบโตร้อยละ 28
เมืองไหนชอบดื่ม “ชานม” มากที่สุด
หากมองจากจำนวนของร้านชานมกับขนาดของเมือง โดยหาความหนาแน่นของร้านชานมด้วยการนำจำนวนร้านชานมหารจำนวนประชากรในเมือง พบว่า ร้านชานมกระจุกตัวอยู่ในมณฑลกวางตุ้งมากที่สุด ได้แก่ เมืองตงก่วน 7.7 ร้าน/ประชากรหมื่นคน นครกว่างโจว 6.6 ร้าน/ประชากรหมื่นคน และเมืองเซินเจิ้น 4.7 ร้าน/ประชากรหมื่นคน ขณะที่ นครคุนหมิง (มณฑลยูนนาน) 4.6 ร้าน/ประชากรหมื่นคน และนครฉางซา (มณฑลหูหนาน) 3.5 ร้าน/ประชากรหมื่นคน
ปัจจัยอะไรที่กำหนดความหนาแน่นของร้านชานมในเมือง?
ปัจจัยที่มีผลต่อความหนาแน่นของจำนวนร้านชานมมีหลายประการ โดยปัจจัยที่สำคัญคือพื้นที่ความเป็นเมือง และพื้นที่บริเวณรอบสถานศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยและโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษามักมีจำนวนร้านชานมหนาแน่นเป็นพิเศษ
นาย Zhu Danpeng รองประธานสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยด้านอาหารประจำมณฑลกวางตุ้งและนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอาหารของจีน กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวจาก Times Weekly ว่า การบริโภคชาในเมืองนั้น มีปัจจัยจากที่ตั้งของเมือง กำลังการบริโภค ความหนาแน่นของประชากร โครงสร้างประชากร สภาพภูมิอากาศ และถูกกำหนดโดยปัจจัยที่ครอบคลุม เช่น นิสัยการกิน และอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของเมือง
เมืองตงก่วนมีประชากรหนาแน่นมากเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากเมืองเซินเจิ้น และมีโครงสร้างประชากรที่เป็นคนหนุ่มสาวสัดส่วนค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้กับฮ่องกงและมาเก๊า และนิยมดื่มชานมมานาน กอปรกับ ต้นทุนในการเปิดร้านชานมค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้น จึงทำให้ “เมืองตงก่วน” กลายเป็นเมืองที่มีร้านชานมที่หนาแน่นที่สุดในจีน
โอกาสของชานมไทย
ชานมของไทยเป็นหนึ่งใน soft power ด้านวัฒนธรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยที่ชาวจีนรู้จักและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคในมณฑลกวางตุ้งที่รู้จักและคุ้นเคยประเทศไทยค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับมณฑลอื่น ของจีน เนื่องจากทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้เพียงสองชั่วโมงหากเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่ง ศูนย์ BIC เห็นว่า พฤติกรรมชื่นชอบการดื่มชานมของชาวกวางตุ้งเป็น “โอกาสของชานมไทย” ที่สามารถเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดในมณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะในนครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น และเมืองตงก่วน โดยใช้ประโยชน์จากการรับรู้เกี่ยวกับชานมไทยที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่สนใจควรปรับปรสชาติตามพฤติกรรมการบริโภคของคนท้องถิ่น โดยเฉพาะการไม่รับประทานหวาน และการกำหนดราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภค เพื่อให้สินค้าของท่านสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและกลายเป็นสินค้า soft power ของไทยที่ได้รับความนิยมในจีนต่อไป
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
16 ตุลาคม 2565
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://static.nfapp.southcn.com/content/202309/27/c8147019.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1773746439508775774&wfr=spider&for=pc