สินค้าเกษตรไทยสู้วิกฤต COVID-19 เดินหน้าบุกตลาดจีน
30 Mar 2021สินค้าเกษตรไทยหลายประเภทเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นผลไม้เมืองร้อนหลากหลายชนิด หรือขนมขบเคี้ยวที่เอร็ดอร่อย ซึ่งผู้บริโภคจีนมีช่องทางที่เข้าถึงสินค้าเกษตรไทยอย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม e-commerce ในจีน ช่องทาง e-commerce ข้ามพรมแดน (CBEC) หรือหอบของฝากต่าง ๆ กลับมาจีนหลังเดินทางท่องเที่ยวไทยในช่วงก่อนมีสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทั้งนี้ ในช่วงที่มีสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยมาจีนได้รับผลกระทบอย่างไร สำหรับผู้ประกอบการไทยควรเตรียมตัวพร้อมอย่างไรเมื่อจีนอาจเป็นประเทศที่เข้าสู่ช่วงหลัง COVID-19 (post-COVID) เร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ทางทีมงานศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณอดิศร จันทรประภาเลิศ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) และผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งได้ช่วยให้ข้อมูลและตอบคำถามไขข้อสงสัยเกี่ยวกับสินค้าเกษตรบุกตลาดจีน
ภาพคุณอดิศร จันทรประภาเลิศ ในกิจกรรมไลฟ์สดประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและวัฒนธรรมไทย
จัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศกรุงปักกิ่ง
และ ททท. กรุงปักกิ่ง บนฟลิกกี้ (Fliggy) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริการท่องเที่ยวของอาลีบาบา
ภาพรวมและขอบเขตงานของสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่งเป็นอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นขอแนะนำภาพรวมสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศในจีนหน่อยครับ ซึ่งมีทั้งหมด 3 แห่งในจีน ได้แก่ (1) สำนักงานฯ กรุงปักกิ่ง มีพื้นที่รับผิดชอบเป็นภาพรวมจีน เกาหลีเหนือ และมองโกเลีย (2) ฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ มีพื้นที่รับผิดชอบเป็น มณฑล เจ้อเจียง มณฑลเจียงซู และมณฑลอันฮุย และนครเซี่ยงไฮ้ และ (3) ฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบเป็นมณฑลกวางตุ้ง มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลยูนนาน มณฑลไห่หนาน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และเขตปกครองพิเศษมาเก๊า
สำหรับสำนักงานฯ กรุงปักกิ่ง มีขอบเขตงานหลัก เช่น ศึกษา วิเคราะห์ ติดตามนโยบาย มาตรการ ภาวะความเคลื่อนไหวทางการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบ เป็นผู้แทนของหน่วยงานไทยในการประสานกับงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน เช่น หน่วยงาน AQSIQ ในอดีตที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นประสานงานกับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC หลังจากจีนปฏิรูปโครงสร้างองค์กร กระทรวงการเกษตรจีน กระทรวงสาธรณสุขจีน รวมถึงกรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างด้านเกษตร และข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ด้านการเกษตร เพื่อขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไทยที่ส่งออกมาจีน เช่น การประสานมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures หรือ SPS) การประสานมาตรฐาน ขั้นตอน และพิธีสารการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย และการเปิดด่านและช่องทางใหม่ส่งออกสินค้าเกษตรของไทย เป็นต้น
โดยทั่วไปก่อนที่สินค้าเกษตรไทยประเภทใดประเภทหนึ่งจะสามารถส่งออกมายังตลาดจีนได้ ต้องมีขั้นตอนที่ฝั่งไทยและฝั่งจีนอย่างไรกันบ้าง
การเปิด market access ของสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดจีนมีหลายขั้นตอนทั้งสองฝ่ายครับ โดยขั้นตอนหลัก ๆ มีดังนี้
หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องแจ้งประสงค์ขอเปิดตลาด โดยหน่วยงานรับผิดชอบที่เป็น competent authority ที่ไทยต่าง ๆ เช่น กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร ทำหนังสือส่งมาที่ สำนักงานฯ กรุงปักกิ่ง และสำนักงานฯ กรุงปักกิ่งจะส่งต่อให้หน่วยจีนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับเป็นช่องทางส่งหนังสือทางการทูตตามความต้องการของฝ่ายจีน
การพิจารณาชั้นต้นการเปิดตลาดของฝ่ายจีน พอมีหนังสือถึงฝ่ายจีนแล้ว ปกติจะมีสองกรณีคือ (1) จีนยินดีเปิดตลาด และ (2) จีนยังไม่ต้องการเปิดตลาด ซึ่งจีนจะปฏิเสธถ้าเป็นสินค้าที่จีนมีกฎระเบียบอย่างชัดเจนแล้วว่ายังไม่เปิดตลาด เช่น รังนกแดง
แบบประเมินความเสี่ยงของฝ่ายจีน ถ้าจีนยินดีเปิดตลาด จะส่งแบบประเมินความเสี่ยงมาขอข้อมูลจากฝ่ายไทย เช่น มีคำถามเกี่ยวกับสินค้าไทยที่จะส่งออกมีการตรวจสารตกค้างอย่างไร และมีห้องปฏิบัติการระดับไหน ระบบการควบคุมตรวจสอบของหน่วยงานกำกับดูแลเป็นอย่างไร หลังจากผู้เชี่ยวชาญฝั่งจีนประเมินแล้ว ปกติจะดำเนินการได้ 4 วิธี ได้แก่ (1) ผ่านประเมินเลย (ซึ่งยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน) (2) ขอข้อมูลเพิ่มเติม (3) ขอ online inspection และ (4) onsite inspection คือต้องไปตรวจแบบเห็นด้วยตา
การทำขั้นตอนพิธีสารระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยพิธีสารมีข้อกำหนด เช่น สินค้าไทยที่จะส่งออกมาจีนต้องตรวจอะไรบ้าง ห้ามมีสารปนเปื้อนอะไรบ้าง ในใบรับรอง health certificate จะต้องระบุรายละเอียดอะไรบ้าง และนำเข้าสินค้าผ่านด่านไหนของจีน เพื่อกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าให้ชัดเจน นอกจากนี้ ตามระบบบริหารใหม่ของจีน สินค้าเกษตรไทยที่ขอเปิดตลาดใหม่ทุกรายการต้องทำพิธีสาร ส่วนสินค้าไทยที่ได้รับอนุญาตส่งออกมาก่อนแล้ว เช่น ทุเรียน ฝ่ายจีนก็มีแนวโน้มจะแยกออกมาให้ทำพิธีสารเฉพาะในรายการสินค้าไทยที่มีมูลค่าสูง ปัจจุบัน มีผลไม้ไทย 22 ชนิดที่จีนอนุญาตให้นำเข้าได้ โดยในจำนวนนี้มีผลไม้ที่มีพิธีสาร 6 ชนิด (พิธีสารผลไม้เขตร้อน 5 ชนิด 1 ฉบับ พิธีสารชมพู่ 1 ฉบับ)
ขั้นตอนสุดท้าย-การขึ้นทะเบียนโรงงาน พอได้รับอนุญาต market access แล้ว ต้องทำบัญชีรายชื่อ (list) ขึ้นทะเบียนโรงงาน ซึ่งโรงงานไทยที่ผ่านถึงจะส่งออกสินค้ามายังจีนได้ โดยทั่วไปโรงงานใน list จะมีสถานะ 2 อย่าง คือ (1) สถานะปกติ และ (2) สถานะ suspended อันสืบเนื่องมาจากสาเหตุเช่น การพบสารตกค้างหรือสารปนเปื้อน ทั้งนี้ ฝ่ายจีนมีการตรวจโรงงานไทยซ้ำแล้วแต่ชนิดสินค้า อายุของใบอนุญาตการขึ้นทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นระยะเวลา 3 ปี การถูก suspend ส่วนใหญ่จะเกิดจากการตรวจพบสารตกค้างเกินเกณฑ์ที่กำหนด หรือพบสารต้องห้าม แต่ในบางครั้งเกิดจากปัญหาที่ไม่รุนแรงมากก็อาจถูก suspend ได้ เช่น ล็อตการผลิตสินค้าไม่ตรงกับ health certificate
นอกจากสินค้าเกษตรไทยที่เข้ามาในตลาดจีนแล้ว มีสินค้าไทยประเภทไหนบ้างกำลังอยู่ระหว่างขอเปิดตลาดจีน
ที่ผ่านมาสำนักงานฯ กรุงปักกิ่งได้ประสานกับหน่วยงานของฝ่ายจีนเพื่อเปิดตลาดสินค้าเกษตรไทยใหม่หลายชนิด เช่น
รังนกแดง ซึ่งรังนกเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคจีนมีความนิยมกันมาก การดำเนินการเพื่อนำรังนกแดงมาขายในจีนกำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับ GACC และกระทรวงสาธารณสุขจีน เนื่องจากทางจีนแจ้งให้ฝ่ายไทยแสดงผลการศึกษาถึงสีแดงที่พบบนรังนกแดงว่ากระบวนการเกิดขึ้นอย่างไร และแสดงให้เห็นว่าไม่มีอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่อนุญาตให้นำเข้า
ปลากะพงขาว สินค้าสัตว์น้ำถือเป็นสินค้าทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงเป็นอันดับสอง โดยฝ่ายจีนแจ้งว่ามีความจำเป็นต้องไปตรวจด้วยตนเอง แต่เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ COVID-19 จึงยังไม่สามารถส่งผู้แทนเดินทางไปตรวจได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแบบประเมินความเสี่ยงของผู้เชี่ยวชาญจาก GACC
แมลงไทย ซึ่งไทยมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งออกเป็นสองรูปแบบคือ ส่งออกเป็นอาหารสัตว์ และส่งออกเป็นอาหารคน ถ้าส่งออกมาเป็นอาหารสัตว์ไม่ต้องขอเปิดตลาดใหม่เพราะแมลงจะถูกบดเป็นผงโปรตีน มีแค่ขั้นตอนขอขยายขอบเขตการนำเข้า พอจะส่งออกเป็นอาหารของคนจำเป็นต้องแสดงผลการวิจัย รวมทั้งผ่านการประเมินความเสี่ยงของกระทรวงสาธารณสุขของจีน
ถ้าเป็นผู้ประกอบไทยที่สนใจจะส่งออกสินค้าเกษตรไทยมายังจีน แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดกฎระเบียบหรือขั้นตอนไรเลย ควรจะเริ่มต้นอย่างไร และควรไปตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นที่ไหนอย่างไร
เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจีนไม่ค่อยรับการสอบถามจากผู้ประกอบการไทยโดยตรง หรือข้อมูลของฝ่ายจีนที่หาได้ส่วนมากเป็นภาษาจีน จึงแนะนำว่าผู้ประกอบการไทยอาจเริ่มจากการติดต่อหน่วยงานที่ไทย เช่น สอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก่อนว่า สินค้าไทยประเภทนี้สามารถส่งออกไปยังจีนได้มั้ย อยู่ภายใต้พิกัดศุลกากรใด และจำเป็นต้องติดต่อหน่วยงานไทยไหนที่ทำการกำกับดูแลด้านสุขอนามัย เช่น ถ้าเป็นเนื้อสัตว์จะเป็นกรมปศุสัตว์ สินค้าประมงจะเป็นกรมประมง และสินค้าเกี่ยวกับพืชผักจะเป็นกรมวิชาการเกษตร เป็นต้น
ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 รุนแรง ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทยที่ส่งออกมายังจีนอย่างไร
ในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 จีนตรวจสินค้าเกษตรและอาหารทุกชุดที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเข้มงวดครับ ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทย เช่น
ผลกระทบด้านโลจิสติกส์ ซึ่งทำให้สินค้าเกษตรไทยเข้าถึงผู้บริโภคจีนยาก (1) ทางบก การทำงานงานไม่เป็นปกติของด่านนำเข้าและหน่วยงานจีนในช่วงเริ่มต้นที่มีการระบาดอย่างหนัก และมาตรการตรวจ COVID-19 อย่างเข้มงวดหลังสถานการณ์คลี่คลายลงในจีน ทำให้รถบรรทุกสินค้าเกษตรติดที่ด่านนำเข้า บางครั้งติดค้างเป็นเวลา 3-10 วัน ซึ่งถ้าเป็นผลไม้จะเน่าเสียง่าย เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องเก็บในห้องเย็น พอน้ำมันรถหมดต้องดับเครื่องก็ทำให้ไม่สามารถทำความเย็นได้ (2) ทางอากาศ การยกเลิกเที่ยวบินระหว่างเมืองในไทยและจีนต่าง ๆ เป็นเวลานานมาก ทำให้ผู้สั่งซื้อจีนยกเลิกใบสั่งซื้อโดยเฉพาะการสั่งซื้อแบบเหมาสวน (3) ทางเรือ เมื่อเทียบแล้วได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่อาจใช้ระยะเวลาขนส่งนานกว่าซึ่งเหมาะกับสินค้าแช่แข็ง เช่น เนื้อสัตว์ สินค้าประมง เป็นต้น
การบริโภคที่อยู่ในภาวะซบเซา ช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดใหม่ ๆ สถานการณ์ค่อนข้างรุนแรงทำให้หลายหน่วยงานและบริษัทห้างร้านใช้มาตรการการให้พนักงานทำงานที่บ้าน ส่งผลให้ชาวจีนหลีกเลี่ยงการเดินทาง และส่วนใหญ่จะซื้อแต่อาหารและของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น
online inspection ของโรงงานไทย ตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 หน่วยงานจีนมีการขอ online inspection ของโรงงานไทยหลายครั้งโดยเฉพาะช่วงวันหยุดตรุษจีนปี 2564 ซึ่งจะขอดูมาตรการการควบคุมโรค COVID-19 ของโรงงาน และโรงงานที่ไทยต้องเตรียมล่ามและระบบถ่ายทอดวีดีโอให้พร้อม
ข่าว (ที่อาจเป็นความจริง หรือ ไม่เป็นความจริง) กระทบความเชื่อมั่นต่อสินค้าเกษตร เช่น การตรวจพบเชื้อไวรัสบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ปลาแซลมอน และเชอร์รี่ ทำให้ผู้บริโภคจีนไม่กล้าซื้อ หรือทำให้ราคาสินค้าตกเป็นอย่างมาก ในส่วนของสินค้าเกษตรไทย ก็มีกรณีที่มีข่าวไทยรายงานว่าจีนระงับการนำเข้าทุเรียนไทยเนื่องจากตรวจพบเชื้อ COVID-19 ในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งทุเรียน ทั้งนี้ สำนักงานฯ กรุงปักกิ่งได้ยืนยันกับกองกักกันพืชกองที่ 2 กรมกักกันพืชและสัตว์ของ GACC แล้วว่า ไม่พบว่ามีการรายงานข่าวเรื่องตรวจพบเชื้อ COVID-19 ในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งทุเรียนไทย และจีนไม่ได้ระงับการนำเข้าทุเรียนไทยแต่อย่างใด
ความยากลำบากในการเจรจาจับคู่ธุรกิจจีน ด้านภาคเอกชน เนื่องจากคู่ค้ารายใหม่ชาวจีนไม่สามารถเดินทางมาคัดเลือกสินค้าเกษตรที่ประเทศไทยได้ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ผู้ประกอบการไทยอาจเร่งเจรจาขยายสินค้าเกษตรกับคู่ค้ารายเดิม ซึ่งจะมีตัวแทนคนจีนที่มาคัดเลือกสินค้าอยู่ที่ประเทศไทยอยู่แล้ว ด้านภาครัฐ สินค้าเกษตรไทยที่ขอเปิดตลาดใหม่และมีความจำเป็นต้องดำเนินการ onsite inspection อาจถูกชะลอไว้ก่อนเนื่องจากการเดินทางที่ไม่สะดวก
หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลายลงในจีน สินค้าเกษตรไทยในตลาดจีนและผู้บริโภคจีนมีการใช้จ่ายสินค้าเกษตรไทยอย่างไร
แตกต่างที่ตลาดคาดว่าผู้บริโภคจีนจะใช้เงินอย่างระมัดระวังมากขึ้นหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลายลงในจีน หรือจะมีกระแสที่เรียกกันว่า “consumption downgrade” ตามข้อมูลจาก Alibaba ชี้ว่า สินค้าไทยยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนโดยเฉพาะในช่วงการจัดกิจกรรมลดราคาออนไลน์ เช่น ช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ของจีน (ช่วงวันที่ 1-11 พ.ย. 2563) ซึ่งเห็นได้ชัดจาก (1) ตัวเลขใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 สินค้าไทยบนแพลตฟอร์ม Alibaba ในจีนมียอดขายรวม 1.3 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 430 ล้านเหรียญสหรัฐ) (2) ช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ของจีนปี 2563 สินค้าไทยมียอดขายทั้งหมด 1.5 พันล้านบาท (ประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ (3) มีร้านค้าแบรนด์ไทยรายใหม่เข้าร่วมใน Tmall และ Tmall Global เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ สินค้าเกษตรไทยยอดนิยมบนแพลตฟอร์ม Tmall Global ในช่วงเทศกาล 11.11 ของปี 2563 เช่น รังนก ที่นอนและหมอนยางพารา
ภาพสินค้าไทยยอดนิยมในช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ของปี 2563 บนแพลตฟอร์ม Tmall Global
ที่มา: บริษัทอาลีบาบา
คาดว่าจีนอาจเข้าสู่ช่วง post-COVID เร็วกว่าประเทศอื่น ๆ เมื่อจีนกำลังผลักดันรูปแบบการพัฒนาใหม่ “นโยบายเศรษฐกิจวงจรคู่ (dual circulation)” และเน้นย้ำสร้างตลาดภายในประเทศที่แข็งเกร่ง สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้ามายังจีนแล้วหรือประสงค์ที่จะบุกตลาดจีน ควรเตรียมตัวกับโอกาสและความท้าทายอย่างไร
แน่นอนว่าสำหรับสินค้าเกษตรไทย จีนเป็นตลาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยโอกาสในขณะเดียวกันก็มีความท้าทายหลายประการครับ ปัจจุบันจีนมีกลุ่มคนที่รายได้ปานกลาง (รายได้ประมาณ 2,000 – 5,000 หยวนต่อเดือน) 400 ล้านคนจากประชาชนทั้งหมดกว่า 1,400 ล้านคน และตามที่สถานการณ์คลี่คลายลงในจีนและจีนมีนโยบายสร้างตลาดภายในประเทศที่แข็งเกร่ง คาดว่าสินค้าเกษตรที่จะส่งเข้าตลาดจีนอาจเผชิญการแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจีนยกระดับเทคโนโลยีการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้า การที่จีนสนับสนุนการนำสินค้าส่งออกกลับมาจำหน่ายในประเทศ หรือสินค้าที่จีนนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ดี หนึ่งในประเด็นสำคัญของรูปแบบการพัฒนาใหม่ “นโยบายเศรษฐกิจวงจรคู่ (dual circulation)” ของจีนคือ การให้ผู้บริโภคจีนมีรายได้มากยิ่งขึ้นและมีความสามารถในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งในมุมมองของผู้บริโภค เมื่อสินค้าเกษตรไทยเป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคจีนอยู่แล้ว หากผู้ประกอบการไทยมีการยกระดับสินค้าเกษตรไทย เช่น คุณภาพสินค้า และสุขอนามัยความปลอดภัยของสินค้า เพื่อตอบสนองกระแส consumption upgrade ของผู้บริโภคจีนที่ยอมใช้จ่ายสินค้าคุณภาพสูงและมีความปลอดภัย คาดว่าสินค้าเกษตรไทยไม่ว่าจะเป็นเข้ามาในตลาดจีนแล้วหรือกำลังประสงค์จะเปิดตลาดจีน จะสามารถบุกตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่อง
จัดทำโดย นายเหวิน ปิน ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง (วันที่ 24 มี.ค. 2564)
แหล่งข้อมูล :
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์คุณอดิศร จันทรประภาเลิศ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร)
และผู้อำนวยการ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง