รู้จักศูนย์ข้อมูล (data center) ระดับชาติจีนแห่งแรกในมณฑลกวางตุ้ง
13 Jun 2022เมืองเสากวนพร้อมเป็นที่ตั้งของศูนย์ข้อมูล (data center) ระดับชาติจีนแห่งแรกในมณฑลกวางตุ้งเพื่อรองรับการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) การประมวลข้อมูล (data computing) และการถ่ายโอนข้อมูล (data transfering) ของเมืองสำคัญในกรอบความร่วมมือกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Geater Bay Area : GBA)
วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจะพาผู้อ่านไปรู้จักกับศูนย์ข้อมูลระดับชาติจีนที่เมืองเสากวน (Shaoguan data centre cluster) มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศที่สำคัญในการช่วยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม เพื่อเป็นรากฐานให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลกวางตุ้งต่อไปในอนาคต
ศูนย์ข้อมูลระดับชาติจีนแห่งแรกในมณฑลกวางตุ้ง
คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission ประกาศให้เมืองเสากวนเป็นที่ตั้งของศูนย์ข้อมูลระดับชาติจีนแห่งแรกในจีนตอนใต้ โดยมีเป้าหมายที่จะติดตั้งคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (server) จำนวน 5 ล้านเครื่องภายในปี 2568 มูลค่าการลงทุน 50,000 ล้านหยวน (7,751 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ศูนย์ข้อมูลเมืองเสากวน (Shaoguan data centre cluster) ตั้งอยู่ที่เขตเทคโนโลยีขั้นสูงเมืองเสากวน (Shaoguan High-tech Zone) ครอบคลุมพื้นที่ 4.33 ตารางกิโลเมตร กำหนดอัตราการใช้งาน (utilization rate) ของศูนย์ฯ ที่ร้อยละ 80[1] ซึ่งนับว่าเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานที่สูง นอกจากนี้ ยังมีภารกิจสำคัญในการเก็บ ประมวล และโอนถ่ายข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยเชื่อมต่อกับศูนย์ข้อมูลอื่น ๆ ใน GBA โดยเฉพาะนครกว่างโจว และเมืองเซินเจิ้น
ทำไมต้องเมืองเสากวน
เมืองเสากวนได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของศูนย์ข้อมูลระดับชาติจีนเนื่องจากมีความได้เปรียบสำคัญ 3 ด้านได้แก่ (1) สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสม โดยมีสภาพทางธรณีวิทยาที่อยู่นอกพื้นที่แผ่นดินไหวมีอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีที่ต่ำที่สุดในมณฑลกวางตุ้ง มีพายุไต้ฝุ่นน้อย และไม่ได้รับผลกระทบจากกร่อนของลมทะเล (2) ความมั่นคงด้านพลังงาน เมืองเสากวนเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าที่สำคัญของมณฑลกวางตุ้ง โดยเมื่อปี 2564 ผลิตกระแสไฟฟ้าปีละกว่า 37,000 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kWh) ในจำนวนดังกล่าวเป็นกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนกว่า 3.87 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kWh) คิดเป็นร้อยละ 47.7 ของปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดในเมืองเสากวน และ (3) ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเตอร์เน็ต โดยเป็นจุดเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber to the x) ระดับ 1 (tier 1 network) จากกรุงปักกิ่งมาก่อนที่จะเชื่อมต่อกับเมืองอื่น ๆ ใน GBA และเมื่อปี 2653 เมืองเสากวนมีอัตราการส่งถ่ายข้อมูล (bandwidth) มากถึง 3,400 จิกะไบต์ (gigabyte) และการเชื่อมต่อโดยการเข้ารหัสความปลอดภัยสูง (end-to-end encryption) กับระบบเครือข่ายของจีน (national router) โดยมี network latency เพียง 5 มิลลิวินาที (millisecond) ซึ่งนับว่าเป็นอินเตอร์เน็ตแบบความเร็วสูงที่เหมาะต่อการประมวลข้อมูลขนาดใหญ่แบบเรียลไทม์
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลเมืองเสากวนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “East-to-West Computing Capacity Diversion” ที่ NDRC จีนประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (data center) 10 แห่งและศูนย์ประมวลผล (computing hub) 8 แห่งทั่วจีน เพื่อการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) การประมวลข้อมูล (data computing) และการถ่ายโอนข้อมูล (data transfering)
ศูนย์ข้อมูลในมณฑลกวางตุ้ง
ปัจจุบัน มณฑลกวางตุ้งมีศูนย์ข้อมูลรวม 310 แห่ง ประกอบด้วยชุดคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (server rack) จำนวน 566,000 เครื่อง มีกำลังประมวลผลรวมกว่า 16 ล้านล้านล้านจุดลอยตัวต่อวินาที (flop/s)[2] คิดเป็นอัตราประมวลผล 1 ใน 6 ของอัตราการประมวลผลของศูนย์ข้อมูลทั้งหมดในจีน นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งยังเป็นที่ตั้งของซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ Tianhe-2A ที่มีกำลังประมวลผลสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยตั้งอยู่ที่ศูนย์ซูปเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติจีน นครกว่างโจว (National Super Jisuan Guangzhou Center)
มณฑลกวางตุ้งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในจีนติดต่อกันเป็นเวลา 33 ปี โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของมณฑลกวางตุ้งจนได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานของโลก” ปัจจุบัน มณฑลกวางตุ้งอยู่ระหว่างการยกระดับจากอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมไปเป็น “อุตสาหกรรมการผลิตแบบดิจิทัล” จึงเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศมารองรับ เพื่อให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างราบรื่นและมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ ศูนย์ BIC เห็นว่าไทยมีโครงสร้างอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกับมณฑลกวางตุ้ง กล่าวคือเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาคและกำลังก้าวเข้าสู่ยุค “เศรษฐกิจดิจิทัล” เช่นกัน ดังนั้น การส่งเสริมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศประสิทธิภาพสูงอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถเร่งให้ไทยก้าวสู่ “ยุคดิจิทัล” ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://news.southcn.com/node_54a44f01a2/5a6e9a9aa7.shtml
https://www.china-briefing.com/news/china-data-centers-new-cross-regional-plan-to-boost-computing-power-across-regions/
https://www.scmp.com/tech/policy/article/3179627/guangdongs-shaoguan-city-holds-first-conference-chinas-big-data
http://www.cnbayarea.org.cn/english/News/content/post_977032.html
http://www.gd.gov.cn/gdywdt/dsdt/content/post_3816208.html
http://www.idcnova.com/html/1/59/153/1062.html
[1] ศูนย์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมีอัตราการใช้งาน (utilization rate) อยู่ที่ร้อยละ 70
[2] จุดลอยตัวต่อวินาที (Floating-point Operation per Second : flop/s) คือ หน่วยวัดความสามารถในการประมวลผลชุดคำสั่งทางทศนิยมต่อวินาที