พัฒนาการทางเศรษฐกิจล่าสุดของนครเซี่ยงไฮ้
2 Jan 2019รายงานพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่สำคัญของนครเซี่ยงไฮ้ในช่วงที่ผ่านมา ตามที่ได้ประมวลจากแหล่งต่าง ๆ ดังนี้
1. ความคืบหน้าการดำเนินตามแผนพัฒนา 5 ปีของจีนของนครเซี่ยงไฮ้
1.1 เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2561 Shanghai Daily รายงานว่า รบ. เซี่ยงไฮ้ประกาศผลการดำเนินตามแผนการพัฒนา 5 ปีของจีนฉบับที่ 13 (ปี ค.ศ. 2016-2020) โดยระบุว่าการขยายตัวของ GDP ในปี 2560 สูงกว่าร้อยละ 6.5 และมีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านหยวนเป็นครั้งแรก เป็นอันดับที่ 7 ของโลกในด้าน Urban GDP มีปริมาณ GDP ต่อหัว 127,000 หยวน ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาสิ้นสุดแผนฉบับที่ 12 ร้อยละ 19.5 เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วขนาดกลาง โดย ณ สิ้นปี 2560 ชาวเซี่ยงไฮ้มีรายได้ต่อปี 58,988 หยวน สูงที่สุดในจีน ขยายตัวร้อยละ 8.7/ ปี
1.2 ภาคการบริการยังคงเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างอุตสาหกรรมของเซี่ยงไฮ้โดยคิดเป็นร้อยละ 70 ของ GDP ขณะที่อุตสาหกรรมด้านการผลิตคิดเป็นร้อยละ 25 ขณะที่มูลค่าเพิ่มของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 จากช่วงสิ้นสุดแผนฉบับที่ 12 ค่าใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนา เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 3.9 ของ GDP (จากร้อยละ 3.7) และการเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจาก 28.9 ฉบับเป็น 44.5 ฉบับ/ ปชก. 10,000 คน
1.3 มูลค่าการส่งออกและนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่าการค้าที่ท่าเรือมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดในบรรดาเมืองต่าง ๆ ของโลก มูลค่าการส่งออกและนำเข้าด้านการบริการคิดเป็นร้อยละ 30 ของจีน มูลค่าตลาดด้านการเงินของนครเซี่ยงไฮ้คิดเป็นร้อยละ 85 ของจีน และมีการก่อตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคของ บ. ข้ามชาติ 107 แห่ง ในช่วง 2 ปี 6 เดือน
1.4 ชาวเซี่ยงไฮ้มีค่าเฉลี่ยของอายุ 83.4 ปี ณ สิ้นปี 2560 และมีค่าเฉลี่ยของมลภาวะในอากาศ (PM2.5) 39 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ในปี 2560 ซึ่งลดลงร้อยละ 26.4 จากปี 2558 สัดส่วนของรถเมล์พลังงานสะอาดเพิ่มเป็นร้อยละ 43 และไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 134 จากปี 2558
1.5 การขนส่งสาธารณะขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีการขยายเส้นทางรถเมล์ 62 กม. และร้อยละ 62 ของผู้ที่ใช้การขนส่งสาธารณะเดินทางโดยรถไฟใต้ดิน รวมทั้ง มี นทท. จีนมาเซี่ยงไฮ้ 318 ล้านคน นทท. ตปท. 8.7 ล้านคน
1.6 ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุความท้าทายของเซี่ยงไฮ้ในด้านบริการสาธารณสุข อาทิ ปัญหาจำนวนเตียงผู้ป่วย การดูแลด้านการพยาบาลแก่เด็กในชุมชน ขาดแคลนบ้านพักคนชราที่มีบริการการแพทย์ และภาระด้านการศึกษาที่นักเรียนต้องแบกรับ
2. นครเซี่ยงไฮ้ดึงดูดบริษัทด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาด้านการวิจัย
2.1 นครเซี่ยงไฮ้เตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุน บ. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนด้านนโยบายและการเงินมากที่สุด 2 ล้านหยวน ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์การเป็นมหานครของโลกด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยปัจจุบันเซี่ยงไฮ้มี บ. ด้าน high-tech 9,000 แห่ง และตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 20,000 แห่ง ภายในปี 2565 นโยบายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันเชิงเทคโนโลยีในระดับโลก ส่งเสริมการมีสิทธิบัตรเป็นของตนเอง โดยมุ่งเน้นส่งเสริมในด้าน biological medicine อุตสาหกรรมการการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และยานยนต์พลังงานสะอาด
2.2 นโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับคำกล่าวของ ปธน. สีฯ ในห้วงงาน CIIE ที่ประกาศจัดตั้ง คกก. ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมประจำ Shanghai Stock Exchange เพื่อส่งเสริมการจัดหาทุนของกลุ่มธุรกิจ start-ups และขยายเขตทดลองการค้าเสรีให้มากขึ้น (Shanghai FTZ) โดยเฉพาะในภาคการบริการ ทั้งนี้ แม้ว่ารายได้และผลกำไรด้านเทคโนโลยีของนครเซี่ยงไฮ้จะมีมูลค่าสูงที่สุดในจีน แต่จำนวน start-ups ด้านเทคโนโลยียังมีน้อยกว่ากวางตุ้ง กรุงปักกิ่ง รวมถึงมณฑลข้างเคียง เช่น เจ้อเจียงและเจียงซู
3. บริษัทในกลุ่ม New Business บรรลุข้อตกลงใน FTZ
3.1 เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 Shanghai Daily รายงานความคืบหน้าการลงทุนของ บ. เอกชนต่างชาติ 12 แห่ง ในกลุ่ม “ธุรกิจใหม่” ใน FTZ อาทิ IfFP Shanghai สถาบันด้านการวางแผนทางการเงินชั้นนำจากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะเป็นสถาบันฝึกอบรมด้านการเงินจากต่างชาติแห่งแรกในจีน Travelex บ. แลกเปลี่ยนเงินตรา ตปท. ใหญ่ที่สุดในโลกจากอังกฤษ ซึ่งจะจัดตั้ง สนง. ในภูมิภาคเอเชียแห่งแรกใน FTZ China-Russia Commercial Aircraft Corp เป็น บ. ร่วมทุนพัฒนาเครื่องบินระยะไกล และ บ. Elekta จากสวีเดนที่พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ด้านการฉายรังสีโดยพลังงานสนามแม่เหล็ก
3.2 นโยบายการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจมากขึ้นภายใน FTZ ทำให้มี บ. ต่างชาติมาลงทุนภาคการบริการเพิ่มมากขึ้น 340 แห่ง รว. ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 โดยจนถึงปัจจุบัน FTZ ได้ดึงดูดธุรกิจเข้ามาลงทุนแล้ว จำนวนทั้งหมด 2,744 แห่ง สอดคล้องกับแนวนโยบายที่ประกาศโดยนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ (นายอิง หย่ง) ที่สนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ บ. เอกชนคิดเป็น 1 ใน 4 ของ GDP ของนครเซี่ยงไฮ้ 1 ใน 5 ของการค้า ตปท. 1 ใน 3 ของรายได้ภาษี และมากกว่าร้อยละ 70 ของการจ้างงานใหม่ นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี โดย บ. ด้านเทคโนโลยีนครเซี่ยงไฮ้ร้อยละ 90 มาจากภาคเอกชน ซึ่งนครเซี่ยงไฮ้ยังได้จัดตั้งกองทุน 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจของเอกชนอีกด้วย
4. บริษัทต่างชาติมีปริมาณการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 รบ. นครเซี่ยงไฮ้รายงานภาพรวม บ. ต่างชาติในปี 2560 โดยมี 1,348 แห่งที่มีการนำเข้าและส่งออกมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผลกำไรมากกว่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 จากปีก่อนหน้า โดย SAIC Volkswagen Automotive มีรายรับและยอดจ่ายภาษีมากที่สุดในบรรดา บ. ต่างชาติทั้งหมด ขณะที่ Pegatron Technology บ. อิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน มีการนำเข้าและส่งออกและการจ้างงานมากที่สุด โดยจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. 2560 เซี่ยงไฮ้ได้ดึงดูดโครงการลงทุนจากต่างชาติ 95,000 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนจริง 237.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
จัดทำโดย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ (ธันวาคม 2561)
รูปภาพปกจาก www.unsplash.com