อนาคตที่ต้องจับตามอง ความร่วมมือของเขตการค้าเสรีเฉียนไห่เมืองเซินเจิ้น และเขตเหิงฉินเมืองจูไห่ กับฮ่องกงและมาเก๊า
17 Jan 2022เขตการค้าเสรีเฉียนไห่และเขตการค้าเสรีเหิงฉินอยู่ภายใต้โครงการเขตนำร่องการค้าเสรีมณฑลกวางตุ้ง (China (Guangdong) Pilot Free Trade Zone) โดยเขตเฉียนไห่ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับส่งเสริมความร่วมมือกับฮ่องกงและเน้นสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจให้ก้าวสู่ระดับโลก โดยเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่และเทคโนโลยี ในขณะที่เขตเหิงฉินตั้งอยู่ที่เมืองจูไห่ ซึ่งพื้นที่นำร่อง การร่วมปกครอง (joint governance) ของจีนแผ่นดินใหญ่กับมาเก๊า โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในเขตเหิงฉินมีความหลากหลาย เช่น ยาแผนจีน การค้าอัญมณี การท่องเที่ยว และการบริการด้านการเงิน เป็นต้น
การพัฒนาเขตความร่วมมือเฉียนไห่
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 รัฐบาลจีนได้ประกาศ แผนการส่งเสริมการปฏิรูปเชิงลึกและเปิดกว้างของเขตความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ระหว่างเมืองเซินเจิ้นกับฮ่องกงที่เขตเฉียนไห่ (Plan for Comprehensive Deepening Reform and Opening Up of the Qianhai Shenzhen-Hong Kong Modern Service Industry Cooperation Zone) โดยมีวัตถุประสงค์ในการ ขยายพื้นที่เขตเฉียนไห่เป็น 120.56 ตร.กม. จากเดิม 14.92 ตร.กม. และเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านกฎหมาย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านการบริหารภาครัฐ และการสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างฮ่องกงกับเมืองเซินเจิ้น
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 กระทรวงพาณิชย์จีนและหน่วยงานจัดเก็บภาษีของจีน (State Taxation Administration) ประกาศนโยบายภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในเขตความร่วมมือเฉียนไห่ โดยในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2568 วิสาหกิจภายใต้อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในเขตความร่วมมือเฉียนไห่จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นร้อยละ 15 (อัตราภาษีเงินได้โดยทั่วไปของจีนร้อยละ 25) โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนมี 30 อุตสาหกรรม แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ โลจิสติกส์สมัยใหม่ บริการสารสนเทศ บริการด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรม และบริการพาณิชย์ ทั้งนี้ วิสาหกิจที่จะเข้าลงทุนในเขตความร่วมมือเฉียนไห่ต้องมีรายได้จากการประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมที่กำหนดร้อยละ 60 และจะได้รับสิทธิพิเศษเฉพาะสาขาที่จัดตั้งในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น
การพัฒนาเขตความร่วมมือเหิงฉิน
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 รัฐบาลจีนประกาศแผนพัฒนาเขตความร่วมมือเชิงลึกระหว่างมณฑลกวางตุ้งกับมาเก๊าที่เขตเหิงฉิน (Plan for the Development of the Guangdong-Macao In-depth Cooperation Zone in Hengqin) โดยมีวัตถุประสงค์ (1) จัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตเหิงฉิน โดยมีผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้งและผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษมาเก๊า ร่วมกันบริหาร (2) พัฒนาระบบศุลกากร โดยระบบศุลกากรระหว่างเขตเหิงฉินกับมาเก๊าจะผ่อนคลายการเก็บภาษี เช่น วิสาหกิจที่จดทะเบียนภายในเขตความร่วมมือเหิงฉินจะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นร้อยละ 15 และบุคลากรที่มีความสามารถและชาวมาเก๊าที่ทำงานในเขตความร่วมมือเหิงฉินจะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (3) สนับสนุนการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจให้กับมาเก๊า โดยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของมาเก๊าลงทุนในเขต เหิงฉิน และ (4) บูรณาการด้านกฎระเบียบระหว่างเขตเหิงฉินกับมาเก๊า โดยส่งเสริมความเชื่อมโยงด้าน การคมนาคมและอำนวยความสะดวกให้คนมาเก๊าเข้าอยู่อาศัยและทำงานในเขตเหิงฉิน
นอกจากนี้ เขตความร่วมมือเหิงฉินจะเป็นพื้นที่ทดลองการกำกับการเงินข้ามพรมแดน (cross-border monetary control) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเงินสมัยใหม่ เช่น การจัดตั้งแพลตฟอร์มให้บริการด้านการเงินระหว่างจีนกับประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส พัฒนาด้านการใช้เงินหยวน และการบริหารความมั่งคั่ง เป็นต้น รวมทั้ง เป็นพื้นที่สนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง และอุตสาหกรรมยาชีวภาพ
การส่งเสริมด้านการกำกับตลาด
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งออกแผนพัฒนาการกำกับตลาดในมณฑลกวางตุ้งให้มีความทันสมัยระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (The 14th Five-Year Plan for the Modernization of Market Supervision in Guangdong Province) กล่าวถึงการส่งเสริมความร่วมมือในเขตความร่วมมือเฉียนไห่และเขตความร่วมมือเหิงฉิน โดยมีวัตถุประสงค์ (1) ออกมาตรการการเข้าถึงตลาด (market access) ให้สอดคล้องกับฮ่องกง มาเก๊า และต่างประเทศ (2) สนับสนุนการขยายบริการลงทะเบียนเพื่อการเชื่อมต่อระหว่างธนาคารกับฮ่องกง มาเก๊า และประเทศอื่น ๆ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (3) ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และ (4) สร้างระบบจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะสร้างศูนย์ดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศสาขาจูไห่ที่เขตเหิงฉิน และสร้างแพลตฟอร์มการบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจรในเขตเฉียนไห่
ทั้งนี้ นักธุรกิจไทยอาจพิจารณาลงทุนในเขตเหิงฉินและเขตเฉียนไห่โดยเฉพาะด้านที่ได้รับการสนับสนุนในพื้นที่ดังกล่าว เช่น การบริการสมัยใหม่ การบริการด้านการเงิน และการแพทย์ เป็นต้น หรือไทยอาจขยายความร่วมมือเพื่อนำเทคโนโลยีที่มีความโดดเด่นในเขตความร่วมมือดังกล่าวไปปรับใช้ได้
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://static.nfapp.southcn.com/content/202112/20/c6057988.html?colID=0&firstColID=59&appversion=8210&from=weChatMessage
http://www.gd.gov.cn/gkmlpt/content/3/3719/post_3719877.html#7
https://www.scmp.com/news/hong-kong/politics/article/3147912/beijings-master-plan-hong-kong-and-macau-far-more-economic
https://www.china-briefing.com/news/shenzhen-qianhai-cit-15-percent-qualified-enterprises-until-end-of-2025/
https://www.china-briefing.com/news/guangdong-macao-intensive-cooperation-zone-to-enjoy-free-trade-port-treatment-what-we-know/