โครงร่างสำหรับการสร้างจีนให้เป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านคุณภาพ
8 Mar 2023โครงร่างสำหรับการสร้างจีนให้เป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านคุณภาพ
ภูมิหลัง
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศ“โครงร่างการสร้างประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านคุณภาพ” ซึ่งเป็น นโยบายสำคัญในการผลักดันการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงและเป็นปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาบทบาททางเศรษฐกิจของจีนสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นแนวทางสำคัญในการ มุ่งสร้างความสุขให้กับประชาชน
โครงร่างดังกล่าวนับเป็นการต่อยอดผลของการประชุม Central Economic Work Conference (CEWC) ประจำปี 2566 ซึ่งได้เน้นย้ำภารกิจสำคัญของงานด้านเศรษฐกิจในปี 2566 ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นโดยจะเชื่อมโยงและบูรณาการนโยบายด้านการคลัง การเงิน อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และสังคม เพื่อผลักดันการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง (high-quality development) และสนับสนุนเศรษฐกิจวงจรคู่ (dual circulation)
เป้าหมายหลัก
- ภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) (1) ระดับมาตรฐานและคุณภาพโดยรวมของประเทศสูงขึ้น (2) อิทธิพลของ แบรนด์จีนได้รับการยกระดับอย่างต่อเนื่อง (3) การรับรู้และความพึงพอใจของประชาชนต่อคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ (4) บทบาทของคุณภาพในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมีความโดดเด่นมากขึ้น
- ภายในปี 2578 (ค.ศ. 2035) (1) รากฐานในการสร้างประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านคุณภาพมีความมั่นคงยิ่งขึ้น (2) วัฒนธรรมของการมีคุณภาพสูงเป็นแนวปฏิบัติทั่วไป และ (3) คุณภาพและแบรนด์โดยรวมมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สรุปแนวทางการยกระดับคุณภาพในด้านต่าง ๆ
- คุณภาพเศรษฐกิจ (1) ส่งเสริมการวิจัยขั้นพื้นฐานและผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมือที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยกระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และการออกแบบแผงวงจรรวม (IC) (2) ส่งเสริมการวิจัยเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ผลักดันให้อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสิ้นเปลืองในระดับสูงเปลี่ยนผ่านสู่คาร์บอนต่ำ และ (3) สนับสนุน การยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการของวิสาหกิจ เพื่อตอบสนองต่อกระแสการยกระดับการบริโภค (consumption upgrade)
- คุณภาพอุตสาหกรรม (1) ส่งเสริมการวิจัยและการทดสอบคุณภาพของวัสดุสำคัญ ยกระดับคุณภาพชิ้นส่วนพื้นฐานที่ทนทานต่อการใช้งาน และส่งเสริมการพัฒนาซอฟต์แวร์อุตสาหกรรม (2) ยกระดับห่วงโซ่ธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม ผลักดันการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร และส่งเสริมรูปแบบ ธุรกิจใหม่ของภาคบริการ (3) เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และเขตทดลองการค้าเสรีจะเป็นพื้นที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพ และ (4) ส่งเสริมให้ภาคตะวันออกของจีนสนับสนุนภาคกลางและ ภาคตะวันตกและยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมเสาหลักในท้องถิ่น
- คุณภาพสินค้า (1) ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร อาหาร และยา ส่งเสริมธุรกิจอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสินค้าเกษตรอินทรีย์ (2) เพิ่มประเภทสินค้าโดยเฉพาะสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ และสร้างแบรนด์สินค้า และ (3) ผลักดันให้คุณภาพของสินค้าอุตสาหกรรมก้าวสู่ระดับกลาง – สูง อาทิ ชิ้นส่วนพื้นฐานของอุปกรณ์เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์
- คุณภาพโครงการก่อสร้าง (1) การแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบต่อคุณภาพโครงการก่อสร้าง อย่างชัดเจน อาทิ หน่วยงานสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้าง (2) เร่งการวิจัยและการใช้งานของวัสดุก่อสร้างใหม่ที่ทนทานต่อการใช้งาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงผลักดันการยกระดับคุณภาพวัสดุก่อสร้างเดิม อาทิ ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า แก้ว เซรามิก ปูนซีเมนต์ ฉนวนป้องกันความร้อน และสายเคเบิ้ล
- คุณภาพบริการ (1) เร่งพัฒนาบริการด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตร การออกแบบด้านอุตสาหกรรม ระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ โดยเฉพาะการขนส่งห่วงโซ่ความเย็น การเงินสีเขียว และคลังสินค้าในต่างประเทศ และ (2) ยกระดับบริการในชีวิตประจำวัน อาทิ ร้านอาหาร ที่พัก การท่องเที่ยว ระบบขนส่งสาธารณะ การชำระเงินออนไลน์ และแพลตฟอร์ม E-Commerce
- คุณภาพวิสาหกิจและแบรนด์ (1) สนับสนุนให้วิสาหกิจส่งเสริมการวิจัยและการยกระดับเทคโนโลยีใหม่ ขั้นตอนการผลิตใหม่ และการใช้งานของวัสดุใหม่ และ (2) เร่งสร้างแบรนด์ดีเด่นของจีน และ “ร้านค้าที่มีประวัติความเป็นมากว่า 100 ปี” ผลักดันการรับรองแบรนด์เก่าในระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมถึงการจัดงาน “China Brand Day” อย่างต่อเนื่อง
- คุณภาพสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (1) จัดตั้งระบบบริหารจัดการคุณภาพสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานระดับชาติ และผลักดันการบริหารจัดการคุณภาพของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานประเภทต่าง ๆ และ (2) ผลักดันการเชื่อมโยงที่มีคุณภาพในด้านมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองสินค้าของจีนและ ต่างประเทศ
ข้อคิดเห็น/ข้อมูลเพิ่มเติม
โครงร่างดังกล่าวสะท้อนความพยายามของจีนที่จะยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของจีนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะแบรนด์สินค้าและบริการของจีนจาก “Made in China” สู่ “Made in China 2.0” หรือ “Created in China” และภาพลักษณ์ของสินค้าจีนจากเดิมที่เน้นความเร็วและปริมาณ สู่คุณภาพและนวัตกรรมเป็นสำคัญ (China Speed สู่ China Quality) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากผู้บริโภคชาวจีนและต่างชาติในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น
หนึ่งในนโยบายที่เกื้อหนุนโครงร่างฯ คือ มาตรการส่งเสริมบทบาทของแบรนด์เก่าแก่หรือ “China Time-honored Brand” (中华老字号) ในด้านการค้า การบริโภค นวัตกรรมเทคโนโลยี และการสืบทอดสินค้าที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม โดยกระทรวงพาณิชย์จีนเผยว่า ปัจจุบันจีนมีแบรนด์เก่าแก่กว่า 20 ธุรกิจ อาทิ อาหารแปรรูป การจัดเลี้ยง ที่พัก และการบริการที่อยู่อาศัย แบ่งเป็นแบรนด์ระดับประเทศ 1,128 แบรนด์ และระดับท้องถิ่น 3,277 แบรนด์ สามารถสร้างรายได้ต่อปีได้มากกว่า 2.966 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนจะส่งเสริมให้ธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์และแบรนด์เชิงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมและบริการต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการบริโภคผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรม
ความมุ่งมั่นด้านการพัฒนาที่มีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนของจีน สะท้อนผ่านยอดการลงทุนและการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของจีน โดยในปี 2565 แม้จีนเผชิญกับความท้าทายทั้งในและต่างประเทศ แต่ค่าใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 3,087 พันล้านหยวน สูงเป็นประวัติการณ์และคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 2.55 ของ GDP ของจีน ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 11 ของดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ประจำปี 2565 เลื่อนจากอันดับที่ 12 ในปี 2564 (ไทยติดอันดับที่ 43 ในปี 2564 และ 2565) โดยในปี 2566 จีนมีแผนที่จะสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในจีน พร้อมกับมาตรการดึงดูดผู้มีความสามารถชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในจีน อีกทั้งมณฑลหลายแห่งที่เป็นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน อาทิ กรุงปักกิ่ง มณฑลเจ้อเจียง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลเจียงซู ต่างได้ยกให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นแผนอันดับต้นในปี 2566
โครงร่างดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคต่อสินค้าและบริการไทยในอนาคต กล่าวคือ คุณภาพจะเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน แนวคิดที่ว่า “สินค้าไทยคือสินค้าคุณภาพ” จะช่วยให้แบรนด์ไทยมีโอกาสในตลาดจีนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน สินค้าไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นยิ่งขึ้นจากแบรนด์จีนที่มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องและมีข้อได้เปรียบ อาทิ การเข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภคท้องถิ่น และการได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากรัฐบาลจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรมุ่งการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความโดดเด่น โดยเฉพาะในด้านนวัตกรรม วัฒนธรรม และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงคุณภาพของสินค้าไทย เพื่อเสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการไทยในจีนและตลาดต่างประเทศ
* * * * * * * * * *
จัดทำโดย นางสาวกังสดาล เผ่าทวี
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง
แหล่งข้อมูล:
- 1. 中共中央 国务院印发《质量强国建设纲要》
http://www.gov.cn/zhengce/2023-02/06/content_5740407.htm
- China issues outline to improve quality of development
https://english.cctv.com/2023/02/07/ARTIgYS2y7W1IjfWZAa7ZRf0230207.shtml
- Understanding the New Development Stage, Applying the New Development Philosophy, and Creating a New Development Dynamic
http://en.qstheory.cn/2021-07/08/c_641137.htm
- China’s R&D spending surpassed 3 trillion yuan in 2022
- Global Innovation Index 2022 – China
https://www.wipo.int/edocs/pubdocs/en/wipo_pub_2000_2022/cn.pdf
- Focus on time-honored brands to boost spending
http://www.chinadaily.com.cn/a/202302/02/WS63db1471a31057c47ebac7c1.html
- 我国数字经济规模2025年将超60万亿,各地施工图明确!
https://www.chinanews.com/cj/2023/02-01/9944870.shtml
- China further supports foreign-funded R&D centers
http://english.www.gov.cn/policies/latestreleases/202301/18/content_WS63c79b01c6d0a757729e5cf7.html
- China welcomes more foreign experts, Li says
https://www.chinadaily.com.cn/a/202301/19/WS63c879cfa31057c47ebaa734.html