หนิงโป: หัวเมือง “ระดับรอง” ศักยภาพ “ระดับโลก” (ตอนแรก)
30 Jul 2021เมืองหนิงโปในมณฑลเจ้อเจียงแม้ชื่ออาจจะไม่คุ้นหูเมื่อเทียบกับเซี่ยงไฮ้หางโจว หนานจิง หรือซูโจว เนื่องจากไม่ใช่เมืองหลวงของมณฑล แต่ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่สำคัญของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) และเป็นหัวเมืองระดับรองที่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไม่แพ้หลายเมืองสำคัญของจีน โดยหนิงโปเป็นเมืองที่มี GDP เป็นอันดับ 2 ของมณฑลเจ้อเจียง[1] อันดับ 5 ของเขต YRD[2] และอันดับ 12 ของทุกเมืองทั่วทั้งจีน[3]
หนิงโปตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกตอนกลางของจีน มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล โดยในแวดวงท่าเรือและกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ทางน้ำล้วนรู้จักชื่อหนิงโปเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นที่ตั้งของท่าเรือระดับโลก นั่นคือ “ท่าเรือหนิงโป-โจวซาน” ซึ่งเป็นท่าเรือแห่งเดียวของโลกที่ทำลายสถิติปริมาณขนถ่ายสินค้าเกิน 1,100 ล้านตันในปี 2563 คว้าตำแหน่งท่าเรือที่มีปริมาณขนถ่ายสินค้ามากที่สุดของโลกต่อเนื่องถึง 12 ปี นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เมืองหนิงโปเพิ่งประกาศแผนการพัฒนาเขตการค้าเสรี ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากหลายสาขาธุรกิจทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ หนิงโปจึงเป็นอีกหนึ่งเมืองของจีนที่ไทยควรจับตามองและเรียนรู้ถึงความสำเร็จสู่การก้าวเข้ามามีบทบาทในระดับโลก
รวมพลัง “1 + 1” ดึงจุดแข็งเสริมจุดอ่อน
เดิมทีในช่วงปี 2539 ท่าเรือเซี่ยงไฮ้และท่าเรือสิงคโปร์ถือเป็นท่าเรือสำคัญระดับโลก ขณะที่ท่าเรือหนิงโปและท่าเรือโจวซานในขณะนั้นยังไม่อาจเทียบเท่าได้ ด้วยเหตุนี้ มณฑลเจ้อเจียงจึงได้เสนอแผนการควบรวมท่าเรือหนิงโปและท่าเรือโจวซานในปีดังกล่าว เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับท่าเรือเซี่ยงไฮ้และท่าเรือสิงคโปร์ จนกระทั่งถึงปี 2549 จึงสามารถควบรวมได้สำเร็จและได้ตั้งชื่อเป็น “ท่าเรือหนิงโป-โจวซาน”
การควบรวมทั้งสองท่าเรือเข้าด้วยกันนับเป็นก้าวที่ชาญฉลาดของรัฐบาลเจ้อเจียง โดยได้นำเอาจุดเด่นของเมืองหนิงโปในเรื่องเงินทุนการพัฒนาและเทคโนโลยีจัดการท่าเรือมาผนวกกับจุดเด่นของเมืองโจวซานที่มีเงื่อนไขเหมาะสมต่อการพัฒนาท่าเรือแต่ขาดทุนทรัพย์ นอกจากนี้ ท่าเรือหนิงโปยังมีระดับความลึกของน้ำมากกว่า 18.2 เมตร (ท่าเรือหยางซานของเซี่ยงไฮ้มีระดับความลึกของน้ำมากกว่า 15 เมตร) ขณะที่เมืองโจวซานเป็นหมู่เกาะ มีแนวชายฝั่งยาวถึง 103 กิโลเมตร และมีระดับความลึกของน้ำถึง 20 เมตร ทั้งสองพื้นที่จึงเหมาะกับการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดยักษ์ได้อย่างดี
สืบเนื่องจากการค้าระหว่างประเทศขยายตัวขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้มีจำนวนเรือบรรทุกสินค้าขนาดยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรือเหล่านี้ไม่สะดวกที่จะเทียบจอดยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้เนื่องจากระดับความลึกของน้ำ ณ ท่าเรือไม่ลึกพอที่จะรองรับ จึงเลือกไปเทียบจอดที่ท่าเรือหนิงโป-โจวซานแทน ซึ่งมีทำเลที่ตั้งห่างจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ไม่มากนัก (ประมาณ 100 กิโลเมตร) ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลให้ท่าเรือหนิงโป-โจวซานกลายเป็นท่าเรือระดับโลกแซงหน้าท่าเรือเซี่ยงไฮ้และท่าเรือสิงคโปร์ในเรื่องปริมาณขนถ่ายสินค้า (คิดคำนวณจากปริมาณตัน)
ผลสำเร็จในวันนี้.. “มากที่สุด” ระดับโลก
ปัจจุบัน ท่าเรือหนิงโป-โจวซานเป็นสถานที่สำคัญสำหรับเปลี่ยนถ่ายแร่เหล็ก น้ำมันดิบ และสารเคมีเหลวของทั่วทั้งประเทศจีน อีกทั้งเป็นสถานที่ขนส่งถ่านหินและธัญพืชที่มีความสำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกของจีน ประกอบด้วยท่าเรือย่อย 19 พื้นที่ มีท่าเทียบเรือกว่า 620 ท่า โดยแบ่งเป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่รองรับเรือสินค้าขนาด 100,000 ตัน จำนวนเกือบ 160 ท่า และท่าเทียบเรือรองรับเรือสินค้าขนาด 50,000 ตันและท่าเทียบเรือน้ำลึกขนาดใหญ่รวมกว่า 90 ท่า ส่วนท่าเทียบเรือที่เหลืออีกกว่า 370 ท่าจะเป็นท่าที่รองรับเรือสินค้าขนาดกลางและเล็ก (ต่ำกว่า 50,000 ตัน)
ปี 2563 ที่แม้ทั่วโลกจะประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 และต้องเผชิญกับความยากลำบากด้านการค้าระหว่างประเทศ แต่ท่าเรือหนิงโป-โจวซานก็ยังมีปริมาณขนถ่ายสินค้าสูงถึง 1,172.40 ล้านตัน สูงเป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 12 โดยขยายตัวขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.7 ขณะเดียวกัน มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์รวม 28.73 ล้าน TEU สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ขยายตัวขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.4
นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อ 20 มิถุนายน 2564 ท่าเรือหนิงโป-โจวซานมีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทะลุยอด 15 ล้าน TEU เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 20.8 โดยได้บรรลุเป้าหมายเกินครึ่งหนึ่งของปริมาณขนถ่ายของทั้งปี 2564 ล่วงหน้าถึง 10 วัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของท่าเรือหนิงโป-โจวซานได้เป็นอย่างดี
ยืนหยัดพัฒนา.. มุ่งหน้าสู่สากล
ช่วงเดือนธันวาคม 2545 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลเจ้อเจียง) ได้เดินทางตรวจราชการที่เมืองหนิงโป โดยได้ให้แนวทางว่า “ท่าเรือ” คือทรัพยากรสำคัญที่สุดของเมืองหนิงโป ขณะที่ “การเปิดกว้างสู่สากล” ก็คือจุดเด่นประการหนึ่งของเมืองหนิงโป ด้วยเหตุนี้ จึงต้องพยายามพัฒนาอย่างเต็มที่เพื่อให้ท่าเรือหนิงโปเปิดกว้างสู่สากลจึงจะนำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาล
ภายหลังจากที่เมืองหนิงโปได้รับแนวทางจากผู้นำ จึงได้พยายามพัฒนาเทคโนโลยีการท่าเรือ ผนวกกับการควบรวมกับท่าเรือโจวซานได้สำเร็จเมื่อปี 2549 จนกระทั่งปี 2551 ท่าเรือหนิงโป-โจวซานได้ประสบความสำเร็จก้าวขึ้นเป็นท่าเรือที่มีปริมาณขนถ่ายสินค้ามากที่สุดในโลกเป็นปีแรก และไม่เคยสูญเสียตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน
เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งจีนกำลังเผชิญหน้ากับการรับมือแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เดินทางยังท่าเรือหนิงโป-โจวซานอีกครั้ง และได้เน้นย้ำว่าจะต้องรักษามาตรฐานชั้นนำอย่างต่อเนื่อง ต้องพัฒนาและบริหารจัดการท่าเรือให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี และต้องพยายามพัฒนาให้ท่าเรือหนิงโป-โจวซานเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพระดับโลก
ล่าสุดเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงได้เดินทางเพื่อตรวจตรวจราชการที่มณฑลเจ้อเจียง โดยได้สำรวจท่าเรือหนิงโป-โจวซานเป็นที่แรก และได้กล่าวว่า ท่าเรือหนิงโป-โจวซานเป็นท่าเรือลำดับแรก ๆ ของจีนที่ได้รับการพัฒนาให้มีความทันสมัย หากจีนต้องการพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัยก็จำเป็นจะต้องเปิดกว้างสู่สากล ใช้ประโยชน์จากอย่างเต็มที่จากตลาดและทรัพยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเปิดความเป็นเสรีกับนานาประเทศทั่วโลก และสร้างกลไกการค้าที่มีความยุติธรรม
แนวทางที่ผู้นำประเทศจีนทั้งคู่ได้ฝากไว้ให้กับท่าเรือหนิงโป-โจวซาน นับเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เมืองหนิงโปต้องมุ่งหน้าพัฒนาท่าเรืออย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงจะต้องเชื่อมโยงกับต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของผู้นำประเทศ
ตัวอย่างน่าเรียนรู้.. “จิ๊กซอว์” สู่ความสำเร็จ
ปัจจุบัน ท่าเรือหนิงโป-โจวซานได้ทดลองนำเครือข่าย 5G และเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของท่าเรืออย่างต่อเนื่อง อาทิ การควบคุมบังคับเครนท่าเรือแบบอัตโนมัติจากระยะทางไกล (เป็นท่าเรือแรกของจีนที่ทดลองใช้เทคโนโลยีนี้) และรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วยเครือข่าย 5G เป็นต้น
นอกจากนี้ เมืองหนิงโปยังเป็นที่ตั้งของคลังสินค้าแบบอัตโนมัติ 100% แห่งแรกของจีน ซึ่งใช้เทคโนโลยี Automated Storage & Retrieval System (ASRS) ที่เป็นระบบการจัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้าอัตโนมัติแบบไร้คนบังคับในทุกขั้นตอนตั้งแต่การรับเข้าสินค้า การจัดเก็บแบบแยกหมวดหมู่อย่างมีระบบ และการเบิกจ่ายสินค้าออกจากคลัง โดยมีเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั่วทั้งคลัง นับเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ช่วยรองรับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่
การพัฒนาท่าเรือและระบบโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องของเมืองหนิงโปนั้น นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างให้มณฑลเจ้อเจียงบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเป็นมณฑลที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจทางทะเล ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564 – 2568) ของมณฑลเจ้อเจียง และเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม เจ้อเจียงจึงได้ออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ขึ้นมาเป็นการเฉพาะด้วย โดยได้ระบุเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะพัฒนาให้ท่าเรือหนิงโป-โจวซานเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพชั้นนำระดับโลก โดยเมื่อถึงปี 2568 ท่าเรือหนิงโป-โจวซานจะมีปริมาณขนถ่ายสินค้าถึง 1,300 ล้านตัน และมีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 35 ล้าน TEU ขณะเดียวกัน รัฐบาลเจ้อเจียงยังได้มีวิสัยทัศน์การพัฒนาระยะยาวว่า เมื่อถึงปี 2578 เจ้อเจียงจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางใหม่ในการเชื่อมโยงจีนกับต่างประเทศตามยุทธศาสตร์วงจรคู่ (dual circulation) ทั้งนี้ ท่าเรือหนิงโป-โจวซานในฐานะท่าเรือระดับโลกจึงมีบทบาทอย่างยิ่งที่จะช่วยเชื่อมโยงเจ้อเจียงกับต่างประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้จีนสามารถดำเนินยุทธศาสตร์วงจรคู่ได้อย่างมั่นคงตามเป้าหมายด้วย
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า การวางแผนพัฒนาของเจ้อเจียง (รวมถึงทั่วทั้งจีน) มีความต่อเนื่องและอาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะ “จิ๊กซอว์” ที่ประกอบจากชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อขึ้นเป็นภาพชิ้นใหญ่ที่สมบูรณ์ ซึ่งนับเป็นตัวอย่างการพัฒนาที่เป็นระบบและเป็นในแนวทางเดียวกันระหว่างส่วนกลางกับระดับท้องถิ่น
ทั้งนี้ นอกจากการมุ่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจทางทะเลแล้ว ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 มณฑลเจ้อเจียงยังตั้งเป้าหมายจะดำเนินนโยบายใหม่ด้านการลงทุนและเปิดกว้างสู่สากล โดยจะมุ่งเน้นสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงสาขาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยมีเขตทดลองการค้าเสรีเมืองหนิงโป (เขตทดลองการค้าเสรีใหม่ล่าสุดของเจ้อเจียง) เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในบทความตอนต่อไป
*****************************
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 图解政府工作报告|浙江省“十三五”成绩单、“十四五”任务书来啦วันที่ 26 มกราคม 2564
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 全球前20大货物吞吐量港口排名出炉,中国港口占据15个席位วันที่ 15 มีนาคม 2564
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ最新中国城市GDP百强榜:长三角占据20席,这个城市骤降39名! วันที่ 6 เมษายน 2564
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 宁波舟山港今年集装箱吞吐量,已超1500万箱 วันที่ 22 มิถุนายน 2564
- www.163.com หัวข้อ 中国港口表现亮眼!2020年全球集装箱吞吐量港口排名25强出炉!วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564
- www.163.com หัวข้อ 宁波舟山港一体化后,虽然让上海望尘莫及,但也不是没有短板 วันที่ 26 มิถุนายน 2564
- http://www.zj.gov.cn หัวข้อ 浙江省人民政府关于印发浙江省海洋经济发展“十四五”规划的通知 วันที่ 4 มิถุนายน 2564
- https://zjnews.zjol.com.cn หัวข้อ 宁波舟山港努力打造世界一流强港 วันที่ 1 กรกฎาคม 2564
[1] 5 อันดับเมืองของมณฑลเจ้อเจียงที่มี GDP สูงสุดในปี 2563 ได้แก่ หางโจว หนิงโป เวินโจว เส้าซิง และเจียซิง
[2] 10 อันดับเมืองของเขต YRD ที่มี GDP สูงสุดในปี 2563 ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ซูโจว หางโจว หนานจิง หนิงโป อู๋ซี เหอเฝย หนานทง ฉางโจว และหยางโจว
[3] 15 อันดับเมืองของจีนที่มี GDP สูงสุดในปี 2563 ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซินเจิ้น กว่างโจว ฉงชิ่ง ซูโจว เฉิงตู หางโจว อู่ฮั่น หนานจิง เทียนจิน หนิงโป ชิงต่าว อู๋ซี และฉางซา