พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน กับโอกาสและความท้าทายของไทย ตอนที่ 1 รู้จักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน
28 Dec 2022พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce: CBEC) คือ ช่องทางการค้ารูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการนำเข้าและส่งออกสินค้าเพื่อจำหน่ายบนแพลต์ฟอร์มออนไลน์ โดยสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออกผ่านรูปแบบ CBEC สามารถทำได้ง่ายกว่าการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าแบบปกติ เมื่อปี 2564 จีนมีมูลค่าการค้ากับต่างประเทศรูปแบบ CBEC กว่า 1.98 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 306,976 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 15 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.9 ของมูลค่าการค้ากับต่างประเทศทั้งหมดของจีน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรม CBEC ของจีนขยายตัวกว่า 10 เท่า และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงขึ้นซึ่ง CBEC จะกลายเป็นช่องทางการค้ากับต่างประเทศที่สำคัญในอนาคตและอาจเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะบุกตลาดจีนด้วย
ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีการจัดตั้ง “เขตนำร่องบูรณาการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน” (China Cross-Border E-Commerce Comprehensive Pilot Zone) มากถึง 165 แห่งทั่วจีน มีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) ส่งเสริม “การส่งออก” สินค้าของ SMEs จีน เพื่อจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศ และ (2) ส่งเสริม“การนำเข้า” สินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในจีน ซึ่งในวันนี้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจะเล่าให้ผู้อ่านเห็นทั้งโอกาสและความท้าท้ายจาก CBEC ของจีนต่อประเทศไทยให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ก่อนที่จะมาเป็น “CBEC”
ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ผู้บริโภคชาวจีนรู้จักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) หรือ อีคอมเมิร์ซมาตั้งแต่ปี 2546 โดยอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซจีนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้มีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนมีเทคโนโลยีจำหน่ายสินค้า ชำระเงิน และจัดส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2550 ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มหันมาให้ความสนใจสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น ในขณะที่ การนำเข้าสินค้าของจีนในช่วงเวลานั้นต้องใช้เวลานาน และต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง ทำให้ผู้ค้าจำนวนมากหันมา “หิ้วสินค้า” จากต่างประเทศแบบผิดกฎหมาย เพื่อนำไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือเรียกว่า “ไต้โก้ว”
ต่อมา ในปี 2556 คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission) และกระทรวงการคลังจีน จึงได้ประกาศมาตรการเร่งส่งเสริมการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีน และส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ในจีนอย่างถูกกฎหมาย รวดเร็ว และเสียภาษีน้อยกว่าการนำเข้าแบบดั้งเดิม จึงเป็นที่มาของการค้าในรูปแบบ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน” หรือ Cross-Border E-Commence (CBEC) โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะผลักดันให้ CBEC เข้ามาแทนที่ธุรกิจการจำหน่ายสินค้าแบบไต้โก้วด้วย
รู้จัก “CBEC”
เมื่อปี 2558 คณะรัฐมนตรีจีนได้จัดตั้งเขตนำร่องบูรณาการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (China Cross-Border E-Commerce Comprehensive Pilot Zone) ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้าในรูปแบบ CBEC โดยเป็นโครงการที่ส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่าง SMEs จีนกับตลาดผู้บริโภคทั่วโลกภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) และสอดคล้องกับนโยบาย “ก้าวออกไป” (Going out) ที่จีนสนับสนุนให้วิสาหกิจอีคอมเมิร์ซออกไปลงทุนดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศมากขึ้น
CBEC เพื่อการนำเข้า
เขตนำร่องบูรณาการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนเป็นพื้นที่ดำเนิน “โครงการนำร่องนำเข้าสินค้า เพื่อค้าปลีกผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน” หรือ Cross-border E-commerce Retail Importation Program ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกการ “นำเข้า” สินค้าจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม CBEC ในจีนโดยเฉพาะ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจีนได้อนุมัติโครงการครั้งแรกเมื่อปี 2559 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ และให้ CBEC เข้ามาแทนที่การค้าแบบไต้โก้ว
โครงการ CBEC Retail Importation Program จะได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการในพื้นที่หรือเมืองที่มีการดำเนินโครงการส่งเสริมการเปิดกว้างทางการค้าอยู่ก่อนแล้ว อาทิ โครงการเขตการค้าเสรี (Free Trade Zone) โครงการเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนแบบบูรณาการ (Comprehensive Bonded Zones) โครงการเขตสาธิตส่งเสริมนวัตกรรมการนำเข้าสินค้า (Demonstration Areas for Promoting Innovation in Import Trade) หรือโครงการศูนย์โลจิสติกส์ทัณฑ์บน (Bonded Logistics Center) ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการด้านกฎระเบียบและการดำเนินพิธีทางศุลกากร โดยปัจจุบันคณะรัฐมนตรีจีนได้อนุมัติเมืองนำร่องดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วจำนวน 86 แห่งทั่วจีน
“รูปแบบการนำเข้าสินค้า” เพื่อจำหน่ายผ่านทางแพลตฟอร์ม CBEC แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) การนำเข้าผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse Import) โดยผู้นำเข้าจะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยไม่ต้องผ่านพิธีศุลกากรและยังไม่ต้องเสียภาษี จนกว่าผู้บริโภคจะสั่งซื้อสินค้า (2) การส่งสินค้าจากปลายทางไปยังผู้บริโภคโดยตรง (Direct Mailing Model) โดยผู้บริโภคสั่งสินค้า ชำระเงินและเสียภาษี ผ่านแพลตฟอร์ม CBEC โดยผู้ค้าจะส่งสินค้าจากประเทศปลายทางไปยังผู้บริโภคที่อยู่ในจีนโดยตรงผ่านระบบโลจิสติกส์ที่ร่วมมือกับแพลตฟอร์ม โดยสินค้าจะผ่านพิธีศุลกากรทันที่เมื่อถึงด่านการค้าของจีนก่อนที่จะจัดส่งต่อไปยังมือผู้บริโภค
“ประเภทของสินค้าที่นำเข้า” สินค้าที่ผ่านรูปแบบ CBEC จะต้องเป็นสินค้าที่อยู่ใน “รายการสินค้าที่สามารถนำเข้ามาในจีนเพื่อจำหน่ายผ่านทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” (List of Goods under Cross-border E-commerce Retail Importation) หรือเรียกว่า “Positive List” ซึ่งสินค้าที่อยู่ในรายการดังกล่าว สามารถนำเข้าจีนได้โดยไม่ต้องมีเอกสารการนำเข้า ปัจจุบัน สินค้าที่อยู่ในรายการ Positive List มีมากถึง 1,476 รายการ โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เสื้อผ้าสำเร็จรูป เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินค้ายอดนิยมของผู้บริโภคชาวจีน
“สิทธิประโยชน์ด้านภาษี” สินค้าที่อยู่ในรายการ Positive List จะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร (Duty-free) โดยจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีการบริโภค (Consumption tax) ร้อยละ 70 ของอัตราที่ต้องจ่ายปกติ (อัตรา VAT ร้อยละ 9 – 13 และ ภาษีการบริโภค (Consumption tax) ร้อยละ 1 – 15 ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า)
“แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้า”
บริษัท GMA ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการและวิจัยตลาดอีคอมเมิร์ซจีน ระบุว่า ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม CBEC ที่ได้รับความนิยมในจีนได้แก่ TMall Global, Kaola, JD Worldwide, VIPShop, Suning Global และ Little Red Book โดยเว็บไซต์ TMall Global & Kaola, JD Worldwide และ VIPShop มีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าร้อยละ 80 ของตลาดแพลตฟอร์ม CBEC ทั้งหมดของจีน อย่างไรก็ดี แพลตฟอร์มขนาดเล็กอย่าง Little Red Book และ Suning Global เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความเชื่อถือจากกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่ซื้อสินค้าประเภทเครื่องสำอาง สินค้าแฟชั่นสินค้าฟุ่มเฟือย และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
“มาตรการสนับสนุนการบริโภค” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนนอกจากจะมอบสิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการบริโภคด้วย โดยเมื่อปี 2562 คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศเพิ่มโควตาการซื้อสินค้าปลอดภาษีให้แก่ผู้บริโภคชาวจีน โดยผู้บริโภคชาวจีนจะสามารถซื้อสินค้าปลอดภาษีผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ได้ครั้งละไม่เกิน 5,000 หยวน (729 ดอลลาร์สหรัฐ) จากเดิมครั้งละไม่เกิน 2,000 หยวน และเพิ่มโควต้าซื้อสินค้าปลอดภาษีรวมกันทั้งปีไม่เกินปีละ 26,000 หยวน (3,791 ดอลลาร์สหรัฐ) จากเดิมปีละไม่เกิน 20,000 หยวน (2,909 ดอลลาร์สหรัฐ)
บทสรุป
ในอนาคต CBEC จะกลายเป็นช่องทางนำเข้าและส่งออกที่โดดเด่นมากขึ้นของจีน ซึ่งเห็นได้จากแนวโน้มการเติบโตในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของการส่งออกและนำเข้าโดย CBEC ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2558 CBEC มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของการค้ากับต่างประเทศทั้งหมดของจีน แต่เพิ่มเป็นร้อยละ 4.9 เมื่อปี 2564 ถึงแม้ ในช่วงที่ผ่านมา จีนจะประสบกับภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 และดำเนินมาตรการที่เข้มงวดก็ตาม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะนำสินค้าเข้ามาตีตลาดจีน อาจเห็นภาพชัดขึ้นว่า CBEC เป็นอีกช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ง่ายและสะดวกกว่าช่องทางอื่น ๆ อย่างไรก็ดี ประตูการค้าของจีนมีหลายบาน การเลือกเมืองที่จะมาเป็นฐานยุทธศาสตร์การค้าต้องพิจารณาปัจจัยหลายประการ ในตอนหน้า ศูนย์ BIC จะมาแนะนำอุตสาหกรรม CBEC ของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นมณฑลชั้นนำของจีนในการดำเนินอุตสาหกรรม CBEC และมาดูว่าผู้ประกอบการไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากความโดดเด่นของมณฑลกวางตุ้งได้อย่างไรบ้าง