Insight สถานการณ์นำเข้าผลไม้(ไทย)ที่ด่านโหย่วอี้กวานในยุคโควิด-19
23 Apr 2021
ไฮไลท์
- ด่านโหย่วอี้กวาน เป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน จากข้อมูลพบว่า ปริมาณการนำเข้าผลไม้ผ่านด่านในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของทั้งประเทศ เฉพาะผลไม้เมืองร้อนจากอาเซียนมีสัดส่วนการนำเข้าคิดเป็น 3/4 ของทั้งประเทศ
- หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในจีนเข้าสู่ภาวะที่ควบคุมได้ ยอดขายผลไม้ออฟไลน์และออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยเฉพาะช่องทางการขายออนไลน์ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงต่อเนื่อง นอกจากผลไม้สดแล้ว ผลไม้อบแห้งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในตลาดจีน โดยเฉพาะมะม่วงอบแห้งและทุเรียนอบแห้ง
- นอกจากการสุ่มตรวจและกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่ดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำนักงานศุลกรกรแห่งชาติจีน (GACC) ได้วางมาตรการป้องกันโควิด-19 ในผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ โดยตู้ผลไม้นำเข้าจะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอก ซึ่งใช้เวลาเพิ่มจากช่วงสถานการณ์ปกติราว 1 ชั่วโมง
- ผู้ส่งออกผลไม้ไทยควรวางแผนการขนส่งสินค้าและใช้ประโยชน์จากด่านนำเข้าผลไม้สดที่มีอยู่หลายแห่งในกว่างซีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรแออัดที่ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน โดย “ท่าเรือชินโจว” ในอ่าวเป่ยปู้กว่างซีก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยจำนวนหลายเที่ยวต่อสัปดาห์ ใช้เวลาขนส่งเร็วสุดเพียง 4 วันเท่านั้น ที่สำคัญ ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” ในการขนถ่ายตู้ผลไม้จากเรือขึ้นรถไฟได้ที่ท่าเทียบเรือ เพื่อลำเลียงไปจำหน่ายในพื้นที่ตอนในของจีนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
ด่านโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border Gate/友谊关口岸) ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน จากข้อมูลพบว่า ปริมาณการนำเข้าผลไม้ผ่านด่านในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของทั้งประเทศ เฉพาะผลไม้เมืองร้อนจากอาเซียนมีสัดส่วนการนำเข้าคิดเป็น 3/4 ของทั้งประเทศ
เมื่อไม่นานมานี้ สถานีโทรทัศน์ CCTV จีนได้เผยแพร่สกู๊ปข่าวผลไม้ที่ด่านโหย่วอี้กวาน ภาพข่าวสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความคึกคักบริเวณด่านโหย่วอี้กวาน รถบรรทุกแก้วมังกร ทุเรียน และแตงโมกำลังรอเข้ารับการตรวจกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืช ข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า การนำเข้าผลไม้ผ่านด่านโหย่วอี้กวานมีมูลค่าราว 640 ล้านหยวน ผลไม้ตามฤดูกาลมีราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน และแก้วมังกร
ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ค้าผลไม้นิยมใช้การขนส่งทางถนน นอกจากความต้องการบริโภคผลไม้นำเข้าของชาวจีนที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นผลจากสถานการณ์ความผันผวนของการขนส่งทางเรือ ทั้งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้และค่าระวางเรือที่มีทีท่าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ค่าขนส่งทางรถบรรทุกมีเสถียรภาพและควบคุมเวลาที่ใช้ในการขนส่งได้ดีกว่าทางเรือ ทำให้สินค้าที่ต้องแข่งขันกับเวลาอย่าง “ผลไม้สด” นิยมเลือกใช้การขนส่งด้วยรถบรรทุก
คุณ Yang Xiaowen ผู้ค้าผลไม้ในตลาดซื้อขายผลไม้ขนาดใหญ่ในเมืองผิงเสียง ให้ข้อมูลว่า เมื่อก่อน มะม่วงนำเข้าหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ (1,000 ลัง) ไม่สามารถขานหมดในวันเดียวได้ มาถึงวันนี้ ขายได้วันละ 10 ตู้ อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในจีนเข้าสู่ภาวะที่ควบคุมได้ ยอดขายออนไลน์และออฟไลน์ยังคงเติบโตได้ดี ยิ่งในปีนี้ ยอดขายโตขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขายหมดสต็อกก็ว่าได้ โดยเฉพาะช่องทางการขายออนไลน์มียอดขายคิดเป็น 1/3 ของยอดขายทั้งหมด ปีนี้ ราคาค่อนข้างมีเสถียรภาพ ยอดขายมะม่วงพุ่งสูงขึ้น และพ่อค้าแม่ขายที่รับมะม่วงไปขายต่อก็ยังได้กำไรอยู่
นอกจากผู้ค้ามะม่วงสดแล้ว โรงงานแปรรูปผลไม้อบแห้งก็ได้ผลประโยชน์จากราคามะม่วงที่ปรับตัวลงด้วยเช่นกัน โรงงานแปรรูปรายใหญ่ในเมืองผิงเสียงกำลังเร่งแปรรูปและบรรจุมะม่วงอบแห้งอย่างขมีขมัน ปีที่แล้ว มะม่วงอบแห้งสร้างรายได้ให้กับโรงงานแปรรูปแห่งนี้คิดเป็นสัดส่วน 8.27% ของผลประกอบการ เพิ่มขึ้น 86.54% (YoY) เป็นผลไม้อบแห้งที่มีแนวโน้มเติบโตมากที่สุด ปีนี้ โรงงานแห่งนี้ยังรักษากำลังการผลิตที่วันละ 20-30 ตัน ซึ่งสอดคล้องกับโรงงานแปรรูปรายใหญ่อีกแห่งที่ชี้ว่า มะม่วงและทุเรียนอบแห้งมียอดขายเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นความนิยมบริโภคผลไม้อบแห้งของชาวจีนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีเช่นกัน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศของด่านโหย่วอี้กวาน (แนวปฏิบัติเหมือนกันทั้งจีน) โดยสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนได้วางแนวทางในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และการฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกสำหรับผลไม้นำเข้า ดังนี้
1.นอกจากการสุ่มตรวจและกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่ดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว (ตู้ผลไม้ไทยมีอัตราการสุ่มตรวจและกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืช 30% ขณะที่ผลไม้เวียดนามตรวจ 100%) ตู้ผลไม้นำเข้าจะต้องถูกสุ่มตรวจเชื้อโควิด-19 และฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอก ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ ตู้ผลไม้ไทยถูกสุ่มตรวจหาเชื้อโควิค-19 ในอัตราที่ไม่สูง (ตู้ผลไม้ไทย 50 ตู้จะถูกสุ่มตรวจโควิด-19 ประมาณ 1 ตู้) อย่างไรก็ดี อัตราการสุ่มตรวจมีสำนักงานศุลกรกรแห่งชาติจีน (GACC) เป็นผู้กำหนดค่าในการสุ่มตรวจ โดยจะปรับสัดส่วนการสุ่มตรวจตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศต้นทาง ดังนั้น ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
2.การตรวจหาเชื้อโควิด-19 และฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกทุกตู้ทุกกล่อง แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
2.1 กรณีที่ตู้สินค้าถูกสุ่มตรวจโรคพืชและแมลงศัตรูพืช + ถูกระบบสุ่มให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 และฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกที่ด่านโหย่วอี้กวาน กระบวนการทั้งหมดดำเนินเสร็จสิ้นในบริเวณพื้นที่ลานตรวจสินค้า ซึ่งด่านโหย่วอี้กวานได้ขยายพื้นที่ลานตรวจสินค้าและห้องปฏิบัติการสุ่มตรวจ/ฆ่าเชื้อให้มีจำนวนมากขึ้นถึง 67 ช่องในปัจจุบัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับตู้สินค้าได้อีกเป็นจำนวนมาก หลังจากผ่านกระบวนการทั้งหมดก็สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายทั่วประเทศจีนได้ทันที
2.2 กรณีที่ตู้สินค้าไม่ได้ถูกระบบสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 และฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกที่ด่านโหย่วอี้กวาน รถบรรทุกจะต้องลากตู้สินค้าที่ถูกปิดผนึก (seal) ไปที่ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้าเกษตรในเมืองผิงเสียง ปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่ง เพื่อทำการสุ่มเก็บตัวอย่างสำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกทุกตู้ทุกกล่อง ซึ่งกระบวนการฆ่าเชื้อจะดำเนินการระหว่างการขนถ่ายตู้สินค้าจากตู้เดิมของไทยไปยังตู้สินค้าของจีน โดยลำเลียงผ่านสายพานที่ติดตั้งเครื่องพ่นละอองฆ่าเชื้อไวรัส
สรุปได้ว่า มาตรการในช่วงโควิดไม่ได้ส่งผลกระทบกับระยะเวลาการเคลียร์ตู้สินค้ามากนัก ในภาพรวม ใช้เวลาเพิ่มจากช่วงสถานการณ์ปกติราว 1 ชั่วโมง ในขั้นตอนการลงทะเบียนคนขับรถบรรทุกและการรอผลตรวจเชื้อโควิด-19 บนกล่องบรรจุภัณฑ์ภายนอก
จากการลงพื้นที่สำรวจของเจ้าหน้าที่ศูนย์ BIC หนานหนิง เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ได้เห็นถนนที่มีลักษณะคอขวดบริเวณเขตแดนเวียดนาม-กว่างซี ซึ่งมีช่องเดินรถบรรทุกฝั่งเวียดนาม ขาออกไปจีน 1 ช่องทาง และขาเข้าเวียดนาม 2 ช่องทาง เมื่อรถบรรทุกหลุดจากถนนคอขวดบริเวณเขตแดนเพื่อเข้าสู่ประตูด่านโหย่วอี้กวาน (ประตูไม้กั้น) จะมีช่องทางเดินรถบรรทุก 6 ช่องทาง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มอีก 6 ช่อง รวมเป็น 12 ช่องทาง และคาดว่าจะใช้งานช่องทางใหม่อีก 6 ช่องทางได้จริงในเดือนพฤษภาคม 2564 สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานฝั่งกว่างซีได้เป็นอย่างดี
ประดูด่านโหย่วอี้กวาน (ฝั่งขวา คือ ประตูไม้กั้นที่ก่อสร้างเพิ่มอีก 6 ช่องจราจร)
บีไอซี ขอฝากให้ผู้ส่งออกผลไม้ไทยวางแผนการขนส่งสินค้าและใช้ประโยชน์จากด่านนำเข้าผลไม้สดที่มีอยู่หลายแห่งในกว่างซีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรแออัดที่ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน โดย “ท่าเรือชินโจว” ในอ่าวเป่ยปู้กว่างซี เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกผลไม้ไทย ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยจำนวนหลายเที่ยวต่อสัปดาห์ ใช้เวลาขนส่งเร็วสุดเพียง 4 วันเท่านั้น ที่สำคัญ ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” ในการขนถ่ายตู้ผลไม้จากเรือขึ้นรถไฟได้ที่ท่าเทียบเรือ เพื่อลำเลียงไปจำหน่ายในพื้นที่ตอนในของจีนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 5 เมษายน 2564
การลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาสถานการณ์การนำเข้าผลไม้ที่ด่านโหย่วอี้กวาน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564
ภาพประกอบ www.sohu.com