ทุเรียนไหหลำผลผลิตเพิ่ม เตรียมเปิดโรงงานแปรรูป
11 Jul 2024สถานการณ์การแข่งขันของทุเรียนไทยในตลาดจีนดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีคู่แข่งสำคัญ คือ ‘เวียดนาม’ และ ‘ฟิลิปปินส์’ ที่ตั้งแต่ปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ได้กลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สามารถส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนได้เช่นเดียวกับไทย นอกจากนี้ ยังมี ‘มาเลเซีย’ ที่ได้ครองตลาดทุเรียนแช่แข็งพรีเมี่ยมในจีนต่อเนื่องมา และกำลังจะเข้าแข่งขันในตลาดทุเรียนสดของจีนในอนาคตอันใกล้นี้[1] อย่างไรก็ดี ในบรรดาผู้ผลิตที่กล่าวมานั้น ไทยไม่ควรมองข้าม ‘ทุเรียนจีน’ ทั้งทุเรียนไหหลำและทุเรียนกวางตุ้งที่มีรายงานการปลูกมาตั้งแต่ปี 2562[2]
ภาพรวมสถานการณ์ทุเรียนไทยในจีน
ปัจจุบัน ทุเรียนไทยยังนับว่าเป็นเจ้าตลาดทุเรียนสดในจีน โดยจีนนำเข้าทุเรียนหลายสายพันธุ์มากขึ้น เช่น หมอนทอง พวงมณี ชะนี มูซานคิง ก้านยาว นวลทองจันทร์ หนามดำ เป็นต้น โดยเมื่อปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสดมูลค่า 47,232 ล้านหยวน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการนำจากไทยมูลค่า 31,999 ล้านหยวน[3] เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.58 เมื่อเทียบกับปี 2565 และในจำนวนนี้ มณฑลกวางตุ้งนำเข้าทุเรียนจากไทยมากที่สุดในจีน มูลค่า 10,559 ล้านหยวน[4]
ทุเรียนไหหลำ
พัฒนาการสำคัญที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไทยอาจต้องจับตามอง คงหนีไม่พ้นความสำเร็จในการปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ในพื้นที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน โดยผลิตส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และมูซันคิง ทั้งนี้ แม้ปริมาณผลผลิตทุเรียนไห่หนานในปัจจุบันอาจน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดของจีนจากไทย แต่ในด้านปริมาณผลผลิตที่เมื่อปี 2565 มีผลผลิตเพียง 50 ตัน กลับเพิ่มเป็น 250 ตันในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า นับเป็นพัฒนาการที่ภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยควรติดตามต่อไปว่า การผลิตทุเรียนไห่หนานจะเติบโตแบบทวีคูณ หรือ exponential growth pattern หรือไม่ รวมถึงผลตอบรับและความนิยมในตลาดจีนจะเป็นไปในทิศทางใด
ปัจจุบัน มณฑลไห่หนานมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมดกว่า 16,667 ไร่ อย่างไรก็ดี สถิติปี 2566 ระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกที่ให้ผลผลิตมีเพียง 583 ไร่ แต่ในปีนี้พื้นที่ที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,667 ไร่ ในขณะที่ มณฑลไห่หนานยังมีแผนขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเป็น 41,250 ไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี
นอกจากนี้ ในการประชุมการพัฒนาตลาดทุเรียนที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2564 เผยว่า ปัจจุบัน เมืองซานย่ากำลังดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปทุเรียนเมืองซานย่า ซึ่งนับว่าเป็นโรงงานแปรรูปทุเรียนแห่งแรกของจีน โดยมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2567 อีกด้วย
R&D และเทคโนโลยีเกษตรคืออนาคต
การปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนานมีการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งมีเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเป็นกุญแจสำคัญ โครงการเพาะปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนานเป็นการปลูกในแปลงยกร่อง โดยผสมหินภูเขาไฟในดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและปลูกแบบต้นเตี้ยเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในมณฑลไห่หนานประกอบกับการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะควบคุมปริมาณน้ำ และโดรนตรวจสอบและดูแลต้นทุเรียน
รัฐบาลกลางจีนยังกำหนดให้มณฑลไห่หนานเป็นพื้นที่เป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเขตร้อนที่สำคัญของจีน โดยปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยพืชฤดูร้อนเป่าถิง (Baoting Tropical Crops Research Institute)[5] และ สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลไห่หนาน (Hainan Academy of Agricultural Sciences) ซึ่งมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของโครงการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนให้เหมาะกับการเพาะปลูกในสภาพอากาศและพื้นที่ในมณฑลไห่หนาน
นายเว่ย ชางซิง ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท Hainan Youqi Investment จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าการผลิตทุเรียนไหหลำจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถส่งผลกระทบต่อการนำเข้าทุเรียนไทย แต่เป็นการเพิ่มตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคในจีนเป็นทุเรียนท้องถิ่นที่สดและมีรสชาติหวานกว่าทุเรียนนำเข้า
นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ให้ความเห็นว่า “ในระยะสั้น ทุเรียนไหหลำไม่น่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยมากนัก แต่ ‘การอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงการลงนามพิธีสารระหว่างจีนกับมาเลเซียว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนสดมายังประเทศจีน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567’ อาจส่งผลต่อราคาจำหน่ายทุเรียนในตลาดจีนและส่วนแบ่งทางการตลาดของทุเรียนไทยในจีนในอนาคต ดังนั้น เกษตรกรไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนไทยให้สูงขึ้น ตลอดจนนำทุเรียนสายพันธ์ใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดพรีเมียมของจีนให้มากขึ้น”
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
11 กรกฎาคม 2567
แหล่งที่มาของข้อมูล
ฝ่ายเกษตร สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
กรมศุลกากรจีน
https://www.opsmoac.go.th/guangzhou-news-files-461291791113
http://news.hndaily.cn/html/2024-03/25/content_58466_17182730.htm
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1799619293665186072&wfr=spider&for=pc
http://news.hndaily.cn/html/2024-03/25/content_58466_17182730.htm
https://gzdaily.dayoo.com/pc/html/2024-05/14/content_875_857967.htm
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1787408203515057095&wfr=spider&for=pc
[1] จีนกับมาเลเซียการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทวิภาคี 14 ฉบับ รวมถึงการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนสดมายังประเทศจีน ในช่วงการเยือนมาเลเซียของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567
[2] จีนปลูกทุเรียนเป็นผลสำเร็จครั้งแรกที่มณฑลไห่หนานเมื่อปี 2562 และครั้งที่ 2 ที่เมืองม้าวหมิง มณฑลกวางตุ้งเมื่อปี 2565
[3] เมื่อปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสดจากไทย 928,948 ตัน มูลค่า 31,999 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 67.61 ของปริมาณนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน ขณะที่เวียดนามร้อยละ 32 และ ฟิลิปปินส์ร้อยละ 0.4 ของปริมาณนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน
[4] มณฑลกวางตุ้งนำเข้าทุเรียนจากไทยมากที่สุดในจีนมูลค่า 10,559 ล้านหยวน อันดับที่ 2 มณฑลยูนนาน 5,265 ล้านหยวน และ อันดับที่ 3 เขตปกครองตนเองกวงซีจ้วง 4,506 ล้านหยวน
[5] สถาบันวิจัยพืชฤดูร้อนเป่าถิงบริหารจัดการโดย บริษัท Hainan Nongken Investment Holding Group จำกัด