ถอดบทเรียนกว่างโจวรับมือโควิด-19 สายพันธ์เดลต้า ความรวดเร็วและเทคโนโลยี คือ กุญแจ ตอนที่ 2
23 Jun 2021ตอนที่แล้ว ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวได้เล่าถึงการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 สายพันธ์เดลต้า ภายใต้กลยุทธ์ “เร่งตรวจเชื้อ เร่งกักตัว เร่งรักษา” โดยพูดถึงปฏิบัติการตรวจเชื้อ COVID-19 นครกว่างโจวแบบรุก (Mass nucleic acid testing) ไปแล้ว ในตอนที่สองนี้ ศูนย์ BIC กว่างโจวจะมาเล่าต่อว่าหลังจากตรวจเชื้อแล้ว นครกว่างโจวดำเนินกลยุทธ์ “เร่งกักตัว” อย่างไร และเทคโนโลยีมีส่วนอย่างไรในช่วงกักตัวบ้าง
นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 นครกว่างโจวได้ดำเนินมาตรการกักตัวผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังเป็นหลักสิบ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดและรวดเร็ว โดยเฉพาะการเร่งตรวจเชื้อให้กับประชาชนในเขตต่าง ๆ ทำให้การพบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการตรวจเชื้อเชิงรุก อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลนครกว่างโจวได้เริ่มมีการปรับระดับความเสี่ยงของการติดเชื้อในหลายพื้นที่ให้เป็นเขตความเสี่ยงสูง (High risk area) โดยเฉพาะบริเวณถนนไป๋เอ๋อต้ง (Bai E Dong avenue) ถนนจงหนาน (Zhongnan avenue) ถนนตงเจี้ยว (Dongjiao avenue) และถนนจงโข่ว (Zhongkou avenue) ในย่านฟางชุน(Fangcun) เขตลี่วานเนื่องจากพบผู้ติดเชื้อในย่านดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564 ศูนย์บัญชาการและควบคุมโควิด-19 นครกว่างโจวได้ประกาศปิดพื้นที่ย่านฟางชุนทั้งหมดเพื่อดำเนินมาตรการจัดการและควบคุมโรค
ปิดพื้นที่ จัดการและควบคุมอย่างเคร่งครัด
ย่านฟางชุนมีพื้นที่ 46.2 ตร.กม. แบ่งการจัดการพื้นที่ออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ (1) พื้นที่จัดการแบบปิด ประกอบด้วยเขตความเสี่ยงสูง 2 แห่ง และเขตความเสี่ยงกลาง 1 แห่ง โดยพื้นที่จัดการแบบปิดจะถูกปิดทางเข้า – ออก โดยประชาชนต้องกักตัวภายในบ้าน 14 วัน ระหว่างกักตัวจะตรวจเชื้ออย่างน้อย 5 ครั้ง (ระหว่างวันที่ 1, 4, 7, 10 และ 14) ทั้งนี้ ร้านค้าและธุรกิจต่างในพื้นปิดให้บริการ ห้ามให้มีคนเข้า – ออกพื้นที่ (ยกเว้นบุคลากรทางการแพทย์) โดยระหว่างกักตัวจะมีเจ้าหน้าที่จัดส่งเครื่องอุปโภคบริโภค (2) พื้นที่ควบคุมแบบปิด ประกอบด้วยเขตความเสี่ยงกลาง 1 แห่ง และเขตความเสี่ยงต่ำ 5 แห่ง โดยพื้นที่ควบคุมแบบปิดยังอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่ได้แต่ห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ดังกล่าว โดยประชาชนจะต้องกักตัวภายในบ้าน 14 วัน แต่หากผลตรวจเชื้อเป็นลบอย่างน้อย 2 ครั้งจะสามารถเดินทางภายในพื้นที่ควบคุมเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคหรือรับพัสดุได้ ทั้งนี้ ธุรกิจด้านการบริการในพื้นปิดให้บริการ แต่อนุญาตให้ซูเปอร์มาเก็ตและตลาดสดเปิดได้อย่างน้อย 2 แห่ง
เทคโนโลยีคือหัวใจสำคัญของการดูแลประชาชนระหว่างการกักตัว
นครกว่างโจวมีความพยายามที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เข้ามามีส่วนช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากขึ้น นับตั้งแต่การใช้ระบบ QR Code สุขภาพ และบริการนัดฉีดวัคซีน ตรวจเชื้อโควิด-19 และการบันทึกข้อมูลสุขภาพผ่านทางออนไลน์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการจัดการและควบคุมพื้นที่ที่ถูกปิด (lockdown) อีกด้วย
รถยนต์ไร้คนขับลดการสัมผัสระหว่างมนุษย์ โดยเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของบุลลากรที่จะต้องขนส่งสินค้า เข้าไปยังพื้นที่จัดการและควบคุมแบบปิดในย่านฟางชุน นครกว่างโจวจึงนำรถบัสไร้คนขับ (autonomous vehicle) มาใช้ลำเลียงสินค้าอุปโภคบริโภค เวชภัณฑ์ อาหาร และพัสดุให้แก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว โดยนายเฉิน เจี้ยนหัว ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจ สำนักงานอุตสาหกรรมและสารสนเทศ นครกว่างโจว กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ระบุ นครกว่างโจวใช้รถยนต์ไร้คนขับ 23 คัน และรถขนส่งสินค้า 13 คันในการขนส่งสินเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมเป็นขนส่งสินค้าแล้วทั้งสิ้น 64.2 ตัน
ภายหลังการประกาศปิดพื้นที่เพื่อจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดฯ บริษัท WeRide เป็นบริษัทแรกที่ส่งรถบัสไร้คนขับ (Robobus) และ รถยนต์ไร้คนขับ (Robotaxi) เข้าไปยังพื้นที่เพื่อช่วยเหลือด้านการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่เสี่ยง โดยรถบัสไร้คนขับสามารถบรรทุกสินค้าได้ครั้งละ 1.2 ตัน โดยอัตราการขับเคลื่อน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขนส่งสินค้าแล้วกว่า 500 เที่ยว และบริษัท Pony.ai ยังได้นำรถยนต์ไร้คนขับ และรถบรรทุกไร้คนขับ (PonyTron) ขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่เสี่ยงสูงแล้วกว่า 200 เที่ยว นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ได้นำรถยนต์หรือรถขนส่งสินค้าไร้คนขับมาใช้ขนส่งสินค้าในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ รถบัสไรคนขับ Apollo ของบริษัทไป่ตู้ (Baidu) รถขนส่งสินค้าขนาดเล็กของบริษัท JD (Jing Dong) เป็นต้น
นอกจากนี้ นครกว่างโจวยังประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน (Drone) ในการขนส่งเวชภัณฑ์เร่งด่วน ตัวอย่างเชื้อ รวมถึงการสอดส่องดูแลพื้นที่เสี่ยงอีกด้วย โดยนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 นครกว่างโจวใช้โดรนอัจฉริยะทั้งขนาดเล็ก (Falcon) และโดรนขนาดใหญ่ (EH216) ที่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากถึง 220 กิโลกรัมของบริษัท Ehang เพื่อใช้ขนพัสดุสำคัญเร่งด่วน เช่น เอกสารสำคัญ ตัวอย่างเชื้อ เวชภัณฑ์เร่งด่วน เป็นต้น ซึ่งโดรนมีความโดดเด่นในเรื่องของความเร็วโดยสามารถขนส่งสินค้าที่ใช้ระยะเวลาขนส่ง 1 ชั่วโมงด้วยรถยนต์เหลือเพียง 5 นาทีเท่านั้น นอจกากนี้ ยังเป็นการลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อด้วยการลดสัมผัสระหว่างมนุษย์ได้อีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2564 สำนักงานความปลอดภัยสาธารณะได้นำโดรนขนาดเล็กแบบขึ้น/ลงแนวดิ่ง (Vertical Take-off and Landing) จำนวน 60 ตัวของบริษัท CUAV Tech มาใช้ในพื้นที่เสี่ยงสูงเพื่อสอดส่องดูแลความปลอดภัย แจ้งข่าวและคำเตือนเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวระหว่างการกักตัวอีกด้วย
มาตรการความคุมพื้นที่แบบปิดนับเป็นมาตรการล่าสุดที่นครกว่างโจวนำมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดซึ่งดำเนินไปพร้อมกับการเร่งตรวจเชื้อเชิงรุกในทุกเขตของนครกว่างโจว การนำเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับมาใช้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่เสี่ยงจึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในนครกว่างโจว อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญของบริษัทเทคโนโลยีแสดงศักยภาพให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีไร้คนขับกับความปลอดภัยของการใช้งานในอนาคต ในตอนต่อไป ศูนย์ BIC กว่างโจวจะมาเล่าต่อว่า ภายใต้
กลยุทธ์ “เร่งตรวจเชื้อ เร่งกักตัว เร่งรักษา” นครกว่างโจวมีความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลอย่างไรบ้างโปรดติดตามตอนต่อไป
————————————-
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
วันที่ 14 มิถุนายน 2564
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1702063899480029167&wfr=spider&for=pc
http://news.southcn.com/gd/content/2021-06/08/content_192529050.htm
https://mbd.baidu.com/newspage/data/landingsuper?context=%7B%22nid%22%3A%22news_9341530160472250456%22%7D&n_type=0&p_from=1
http://www.gz.gov.cn/zt/qlyfdyyqfkyz/qktb/fygg/content/post_7309448.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1701544470776252389&wfr=spider&for=pc
http://wjw.gz.gov.cn/
http://wjw.gz.gov.cn/ztzl/xxfyyqfk/yqtb/content/post_7329659.html
http://finance.sina.com.cn/tech/2021-06-09/doc-ikqciyzi8617877.shtml
https://news.ycwb.com/2021-06/10/content_40068520.htm
https://www.163.com/dy/article/GC39EFTU0519DDQ2.html
https://www.163.com/dy/article/GCCIE01305149OCK.html
http://finance.sina.com.cn/wm/2021-06-10/doc-ikqciyzi8779180.shtml