รัฐบาลนครกว่างโจวเร่งดำเนินการโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี โดยล่าสุดมณฑลกวางตุ้งขึ้นแท่นเป็นมณฑลที่มีจำนวนสถานีรับส่งสัญญาณ 5G มากที่สุดในจีนถึง 124,000 แห่ง และยังมีจำนวนผู้ใช้งาน 5G มากที่สุดในจีนด้วย ซึ่งล่าสุดแน่นอนว่ารัฐบาลท้องถิ่นยังคงเดินหน้าโครงการที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเทคโนโลยีในมณฑลกวางตุ้งอย่างไม่หยุดยั้ง
มาทำความรู้จักระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ
โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid เป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และบิ๊กดาต้า (Big Data) มาบริหารจัดการ โดยครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่ของระบบไฟฟ้าตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า การส่งไฟฟ้า การจำหน่ายไฟฟ้า ไปจนถึงภาคส่วนของผู้บริโภค โดยสามารถเก็บข้อมูลการใช้งานไฟฟ้าที่เกิดจริงได้อย่างชาญฉลาด เช่น เก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานและการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิต การควบคุมแบบอัตโนมัติของระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อทำการปรับปรุงประสิทธิภาพ และความยั่งยืนในการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าในระบบโครงข่ายไฟฟ้า อีกทั้งยังสามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาด (Distributed Energy Resource : DER) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นระบบบริหารการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้ง ยังสามารถให้บริการเชื่อมต่อกับโครงข่ายผ่านมิเตอร์อัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง ปลอดภัย และเชื่อถือได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการพัฒนาระบบและติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าได้ตามเวลาจริง (Real Time) ว่ามีการใช้ไฟฟ้ามากน้อยอย่างไร ส่งผลให้ผู้ให้บริการสามารถคำนวณการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้งาน มีความเสถียร ลดปัญหาไฟดับ และยังเห็นพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงเพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดของจีนในมณฑลกวางตุ้ง
ล่าสุด บริษัท China Southern Power Grid (CSG) จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ในมณฑลกวางตุ้งที่ประกอบธุรกิจด้านพลังงานได้เริ่มโครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ 5G และสถานีชาร์จอัจฉริยะ 5G เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบควบคุมการตรวจสอบสัญญาณ 5G แบบดิจิตอล (5G digital monitoring control system) อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IOT) และแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับโดรนขนส่ง ทั้งนี้ เทคโนโลยี 5G นั้นมีความหน่วงต่ำ (Low latency) ทำให้สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากได้อย่างรวดเร็วและไม่กระตุก จึงต้องพึ่งพาพลังงานเพื่อทำให้ส่งสัญญาณได้เสถียร เราสามารถจินตนาการถึงความสำคัญของระบบจำหน่ายไฟฟ้าในยุค 5G ที่กิจกรรมมากมายเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยการสมมติว่าหากเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ เราจะไม่สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่สามารถเชื่อมต่อ ผ่านอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อทั้งกับภาคธุรกิจและผู้ใช้งาน 5G ทั่วไปเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่สามารถจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าที่เสถียรจึงมีความสำคัญมากในยุค 5G โดยรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวและได้ผลักดันการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งไม่นานมานี้ ได้มีการเปิดตัวเขตทดลองโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (5G smart power grid application demonstration zone) ที่ใหญ่ที่สุดของจีนในนครกว่างโจว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าอัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงมณฑลกวางตุ้งที่พยายามพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ แต่ประเทศไทยก็ตระหนักถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าวและได้พัฒนาระบบนี้เพื่อใช้ภายในประเทศเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่ไม่สามารถรอช้าได้ในยุค 5G ที่อะไรก็เดินเร็วเสมอ
——————————
นางสาวสวนีย์ โชติจิรพรรณ เขียน
19 กุมภาพันธ์ 2564
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://en.sasac.gov.cn/2021/01/27/c_6528.htm
https://www.smartgrid.gov/the_smart_grid/smart_grid.html