พลังงานลม อีกหนึ่งทางเลือกด้านพลังงานทดแทนของมณฑลกวางตุ้ง
3 Aug 2021ปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในจีนมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ทำให้พลังงานลมกลายเป็นทางเลือกที่สำคัญของพลังงานทดแทน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากจีนมีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวและมีพื้นที่เหมาะกับการใช้พลังงานลม และเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณแนวชายฝั่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้ามาก อีกทั้งการสร้างแหล่งพลังงานจากลมนอกชายฝั่งจะช่วยประหยัดพื้นที่และมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยน้อยกว่าการสร้างแหล่งพลังงานลมบนชายฝั่ง
พลังงานลมในมณฑลกวางตุ้ง
ในช่วงที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งจำเป็นต้องปรับโครงสร้างด้านพลังงานและส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น เนื่องจากกระแสไฟฟ้าในมณฑลกวางตุ้งส่วนมากผลิตจากพลังงานความร้อนถ่านหินซึ่งต้องใช้พลังงานในการผลิตมากและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้าที่ผลิตในภาคตะวันตกของจีน และแม้ว่าแหล่งพลังงานสะอาดหลักของมณฑลกวางตุ้งจะมาจากพลังงานนิวเคลียร์ แต่มณฑลกวางตุ้งยังจำเป็นต้องเพิ่มความหลากหลายของแหล่งพลังงานสะอาดด้วย เนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีขั้นตอนในการก่อสร้างมากและต้องใช้เวลาในการได้รับอนุมัติ ทำให้พลังงานลมกลายเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกสำหรับมณฑลกวางตุ้ง
การที่มณฑลกวางตุ้งมีแนวชายฝั่งที่ยาวและมีพื้นที่ที่มีกำลังลมแรง จึงเหมาะกับการติดตั้งกังหันลมนอกชายฝั่ง โดยมณฑลกวางตุ้งมีพื้นที่ชายฝั่งถึง 4,114 กม. และมีบริเวณพื้นที่ทะเล 419 ตร.กม. เพียงพอต่อการผลิตกำลังไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งถึง 100 กิกะวัตต์ (GW) ซึ่งจากแผนพัฒนาด้านพลังงานลมนอกชายฝั่งมณฑลกวางตุ้งปี 2560 – 2573 ภายในปี 2563 มณฑลกวางตุ้งมีแผนการดำเนินโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 12 GW และภายในปี 2573 จะดำเนินโครงการที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 30 GW โดยมณฑลกวางตุ้งมีแผนสร้างฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง 23 แห่ง สามารถผลิตกำลังไฟฟ้า 66.85 GW และในจำนวนนี้มี 15 แห่งที่สร้างในพื้นที่น้ำตื้นที่ความลึกของน้ำต่ำกว่า 35 เมตร และอีก 8 แห่งสร้างในพื้นที่น้ำลึกที่มีความลึก 35 – 50 เมตร
มณฑลกวางตุ้งยังสนับสนุนการพัฒนาแหล่งพลังงานลมนอกชายฝั่งด้วยการมอบเงินสนับสนุนให้กับโครงการอื่น ๆนอกเหนือจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนระดับชาติ โดยจะมอบเงิน 500 – 1,500 หยวนต่อการผลิตไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ (kW) ให้กับโครงการที่ได้รับอนุมัติก่อนสิ้นปี 2561 และจะเชื่อมต่อกับกริดภายในระหว่างปี 2565 – 2567 รวมทั้งตั้งเป้าเป็นมณฑลแรกของจีนที่มีราคาค่าไฟที่ได้จากการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งเท่ากับราคาค่าไฟที่ได้จากการผลิตแบบดั้งเดิม อาทิ ถ่านหิน
โครงการกังหันลมนอกชายฝั่งของมณฑลกวางตุ้ง
ไม่นานมานี้ โครงการฟาร์กังหันลมนอกชายฝั่งจินวาน เมืองจูไห่ ซึ่งเป็นโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่ที่สุดในกรอบความร่วมมือมณฑลกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macau Greater Bay Area: GBA) ที่เชื่อมต่อกับกริดและเริ่มผลิตไฟฟ้าแล้ว โดยโครงการดังกล่าวมีกลุ่มบริษัท Guangdong Energy ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ลงทุน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวประกอบด้วยกังหันลม 55 ตัว สามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ (MW) และจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึงเกือบ 800 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ต่อปี เพียงพอต่อการใช้งานสำหรับเกือบ 300,000 ครัวเรือน ซึ่งจะช่วยลดการใช้ถ่านหิน 230,000 ตัน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 460,000 ตัน นอกจากนี้ กังหันลมในโครงการดังกล่าวยังมีความพิเศษ คือ มีเซนเซอร์มากกว่า 2,000 จุด เพื่อช่วยเก็บข้อมูลความเร็วลม อุณหภูมิ ความกดอากาศ และส่งต่อไปยังศูนย์ big data อีกทั้งทิศทางของกังหันลมจะหันไปในทิศทางที่ผลิตไฟฟ้าได้มากที่สุดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์
นอกจากโครงการขนาดใหญ่ที่เขตจินวาน เมืองจูไห่แล้ว มณฑลกวางตุ้งยังมีโครงการกังหันลมนอกชายฝั่งอื่น ๆ ที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการกังหันลมนอกชายฝั่งกุยซานเฟส 2 ที่หมู่เกาะว่านซาน เมืองจูไห่ โดยเป็นการติดตั้งกังหันลมที่สามารถผลิตไฟฟ้า 78 MW ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นการผลิตไฟฟ้า เพื่อส่งไปยังมาเก๊า เมืองจูไห่ และเกาะต่าง ๆ และโครงการฟาร์มกังหันลมแบบลอยน้ำที่เมืองหยางเจียง ซึ่งเป็นโครงการที่รองรับการผลิตไฟฟ้า 500 MW และจะเป็นโครงการฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งบริเวณน้ำลึกแห่งแรกของจีน เป็นต้น
ความท้าทายของโครงการกังหันลมนอกชายฝั่ง
โครงการพลังงานลมยังคงมีต้นทุนในการผลิตสูงเมื่อเทียบกับโครงการพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยการลงทุนในการผลิตไฟฟ้า 1 kW ใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 หยวน (3,173.3 ดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำกว่าที่คาดไว้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะที่ที่มีกำลังลมต่ำ อีกทั้งการสร้างฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง
ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์และเทคนิคพิเศษในการสร้างเพื่อให้ทนทานต่อสภาพอากาศ และต้องป้องกันการกัดกร่อนจากไอเกลือ โดยการติดตั้งกังหันลมนอกชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณทะเลทางตอนใต้ของจีนเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากระดับน้ำไม่ลึกมาก และมีความแตกต่างของกำลังลมมาก โดยในช่วงปรกติ มีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 8 เมตรต่อวินาที แต่ในช่วงที่มีพายุใต้ฝุ่นจะมีความเร็วลมสูงถึง 70 เมตรต่อวินาที ผู้พัฒนากังหันลมจึงต้องมีความเข้าใจในสภาพพื้นที่ที่จะติดตั้งกังหันลมเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ไทยยังมีพื้นที่นอกชายฝั่งที่น่าจะใช้ผลิตพลังงานจากลมได้ จึงอาจมีความร่วมมือกับจีนในด้านเทคโนโลยีสำหรับพัฒนากังหันลมนอกชายฝั่งเพื่อเพิ่มทางเลือกแหล่งพลังงานลม และเพิ่มประสิทธิภาพของฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่มีอยู่แต่เดิมในไทย เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/3034719/collaboration-greater-bay-area-cities-such-zhuhai#
https://www.senecaesg.com/blog/gbas-first-large-offshore-wind-project-starts-power-generation/
https://www.windpowermonthly.com/article/1721195/mingyang-targets-floating-supersized-offshore-wind
https://ietresearch.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1049/enc2.12006
http://www.nbdpress.com/articles/2018-04-25/4468.html
https://www.reuters.com/business/sustainable-business/chinas-guangdong-outlines-subsidies-offshore-wind-power-2021-06-16/
https://www.upstreamonline.com/energy-transition/guangdong-leads-china-s-offshore-wind-drive-with-ambitious-pricing-parity-plan/2-1-1026623
http://www.cityofzhuhai.com/2021-05/25/c_626309.htm
https://neec.no/large-offshore-wind-farm-in-greater-bay-area-gets-grid-connected/
https://www.am.miraeasset.com.hk/insight/wind-energy-drives-sustainability/